Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ความอลังการแห่งศิลปกรรมไทย

Posted By ไกด์เตยหอม | 10 เม.ย. 62
15,174 Views

  Favorite

นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน สถาบันทั้งสาม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บนธงชาตินั้นเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทย วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังอันงดงามเป็นเอกลักษณ์จึงมีความสำคัญอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้สงกรานต์และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ขอชวนมาซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ดื่มด่ำกับความงามแห่งศิลปวัฒนธรรมไทย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกสั้น ๆ ตามพระประธานของวัดว่า “วัดพระแก้ว” และ พระบรมมหาราชวัง กันค่ะ ไกด์เองก็ได้ทบทวนความรู้ที่ได้เรียนได้ฟังมาจากท่านอาจารย์ที่เคารพด้วย ภาพบนคือ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ที่เราจะมารอเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลกันในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ จาก พระราชพิธีสิบสองเดือน มีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนหากจะชมฉากรูปนางสงกรานต์ก็ต้องมาดูที่ทิมดาบหน้าวังค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับชาวไทย สามารถเข้ามากราบนมัสการพระแก้วมรกต และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชได้ตั้งแต่เวลา 7.30 น. โดยเข้าทางประตูสวัสดิโสภา เยื้อง ๆ กับ ศาลหลักเมือง ค่ะ ในภาพล่างจะเห็นเสาหลักเมืองมี 2 ต้น ต้นสูงหัวบัวเป็นต้นเก่าสมัย ร.1 ต้นเตี้ยเป็นต้นใหม่สมัย ร.4 ค่ะ ขอให้แต่งกายสุภาพ อย่างน้อย ๆ เสื้อผ้าก็ควรปกคลุมถึงไหล่ เอว เข่า และไม่บางเกิน ส่วนผู้หญิงถ้าจะเข้าปราสาทพระเทพบิดรต้องสวมกระโปรงหรือนุ่งซิ่นให้งดงามเรียบร้อย สมกับสถานที่อันทรงเกียรตินี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ความเป็นมาของที่นี่ก็สืบเนื่องมาจาก พระราชวังเดิมกรุงธนบุรีอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีกระแสน้ำเซาะตลิ่ง และถูกขนาบโดยวัดใหญ่สองวัด ทำให้ต่อไปจะขยับขยายไม่สะดวก อีกทั้งการที่แม่น้ำผ่ากลางเมืองก็จะป้องกันข้าศึกได้ยาก ล้นเกล้าฯ ร.1 จึงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงมาฝั่งตะวันออกแทน และโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นเป็นที่ประทับ พร้อมกับวัดในวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยา เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินเข้ามาหลังกำแพงในเขตพระราชฐานชั้นนอกจะเห็นพระปรางค์ 8 องค์ เรียกว่า พระมหาอัษฎาเจดีย์ ที่ล้นเกล้าฯ ร.3 โปรดฯ ให้สร้างอุทิศแก่บุคคล / สิ่ง 8 อย่างที่ควรบูชา คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรย พระอริยภิกษุณี และพระเจ้าจักรพรรดิ ในภาพบนเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะกล้องมือถือของไกด์ไม่อาจถ่ายทั้งหมดในเฟรมเดียวได้จริง ๆ ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอเดินไปถึงด้านหน้าประตูที่เชื่อมกับระเบียงคดล้อมรอบวัด มีเจ้าหน้าที่แจกดอกไม้ธูปเทียนพระราชทานแก่พุทธศาสนิกชนนำไปถวายพระด้วย เข้ามาภายในก็จะเห็นความงามเรืองรองของพระอุโบสถสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ที่หน้าบันมีรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ* ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ชายคามีกระดิ่งแขวนไว้กันนก มีกำแพงแก้วและซุ้มใบเสมาคู่อย่างวัดหลวง 8 ซุ้มล้อมไว้ และมีศาลาราย 12 หลังรายรอบให้ผู้มาทำบุญได้หลบแดดหลบฝน

*สุบรรณ = ครุฑ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

  

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต

พระประธานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนาตอนกลางทำจากหยก พบในพระเจดีย์วัดป่าเยี้ย (วัดพระแก้ว เมืองเชียงราย) ต่อมาถูกเชิญไปประดิษฐานยังลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ กระทั่งล้นเกล้าฯ ร.1 เมื่อครั้งยังเป็นแม่ทัพอัญเชิญกลับมายังกรุงธนบุรี ก่อนจะโปรดฯ ให้อัญเชิญมาไว้ที่นี่ ส่วนภาพขวามือ คือ หอพระคันธารราษฎร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางขอฝน ในพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งต่อมาคือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาจะเป็นหอระฆัง ซึ่งประดับด้วยกระเบื้องโมเสกชิ้นเล็ก ๆ เป็นลายไทยต่าง ๆ อย่างที่นิยมมาตั้งแต่สมัย ร.3 เนื่องจากยุคนั้นมีการนำเข้าถ้วยชามกระเบื้องมาจากจีนโดยเรือสำเภา แต่บางส่วนก็แตกหักระหว่างขนส่ง ล้นเกล้าฯ ร.3 ทรงเห็นว่าถ้าทิ้งไปก็ไร้ค่า จึงให้นำมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ การรียูสในไทยนี้มีมานานเกินร้อยปีแล้วละค่ะ ส่วนรูปฤษีกับหินบดยานี้สร้างขึ้นสมัย ร.3 ซึ่งในช่วงนั้นมีการปลูกพืชสมุนไพรต่าง ๆ ใกล้ ๆ รูปฤษีด้วย ใครอยากหายป่วยก็ไปดูตำราที่วัดโพธิ์แล้วมาเก็บยาที่วัดพระแก้วได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ริมฐานไพทีจะเห็นมีตุ๊กตาอับเฉาเฝ้าอยู่ตรงบันได ซึ่งก็มีที่มาจากการค้าสำเภาอันรุ่งเรืองในสมัย ร.3 ค่ะ เพราะสินค้านำเข้าจากจีน อย่างเครื่องกระเบื้องแพรพรรณน้ำหนักเบา จึงต้องมีหิน “อับเฉา” ที่ว่ากันว่ามาจากภาษาแต้จิ๋วที่ว่า “เอี๊ยบชึง”(压舱)มาถ่วงไม่ให้โดนคลื่นซัดอับปางได้ง่าย ๆ ซึ่งแทนที่จะนำมาแต่หิน ส่วนมากก็คงเลือกที่สลักงามแล้ว จะได้นำมาถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายได้ด้วย ซี่งต่อมาก็โปรดฯ ให้นำไปประดับเป็นทวารบาลป้องกันสิ่งชั่วร้ายตามวัดวาอารามต่าง ๆ  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากตุ๊กตาหินจีนแล้ว ทวารบาลสำคัญที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยของวัดพระแก้ว คือ บรรดายักษ์เฝ้าประตูระเบียงคดวัดพระแก้วค่ะ อย่างในภาพบนเป็นทศกัณฐ์ ผู้ครองกรุงลงกา กับ สหัสสเดชะ เจ้าเมืองปางตาล เป็นพญายักษ์ที่มีฤทธิ์มาก แม้เป็นตัวร้ายแต่หลังพระรามปราบทศกัณฐ์เองก็ได้สำนึกผิดแล้ว ดังใน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ ร.1 ดังนั้นก็ไม่แปลกที่จะนำรูปปั้นทศกัณฐ์ มาเป็นทวารบาลเฝ้าวัดค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ฐานไพทีเดิมเป็นหอไตรกลางสระน้ำ แต่ต่อมาไฟไหม้ ล้นเกล้าฯ ร.1 จึงโปรดฯ ให้ถมสระสร้างพระมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยอดแหลมมีเสาพาไลล้อมเพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกแทน ต่อมาล้นเกล้าฯ ร.4 โปรดฯ ให้สร้างพระศรีรัตนเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธปรางค์ปราสาท แต่พอสร้างเสร็จ ปราสาทนั้นกลับแคบเกินไป จึงว่างไว้ไม่ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมา กระทั่งล้นเกล้าฯ ร.6 โปรดฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปเหมือนของพระเจ้าแผ่นดิน 5 รัชกาลก่อนมาไว้แทน และทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ปราสาทพระเทพบิดร” จนถึงทุกวันนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บนฐานไพทีจะมีรูปปั้นสัตว์หิมพานต์ ซึ่งเป็นสัตว์วิเศษในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติพุทธและพราหมณ์ตั้งอยู่รายรอบ เช่น สิงหพานร ครึ่งบนเป็นลิงครื่งล่างเป็นสิงห์ เทพปักษี ที่มีหางเหมือนนกแต่ขาเป็นอย่างมนุษย์ ต่างจากกินรและกินรีที่ครึ่งล่างเป็นนก หรืออสุรปักษีที่ครึ่งบนเป็นยักษ์ครึ่งล่างเป็นนก และเทพนรสิงห์ที่ครึ่งบนเป็นอย่างมนุษย์และเทวดาแต่ครึ่งล่างเป็นสิงห์ เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มองลงไปจากฐานไพทีตรงพระศรีรัตนเจดีย์จะเห็นหอพระนาก ซึ่งเดิมสมัย ร.1 ตรงนี้มีหอ 2 หอ คือ หอพระนาก เป็นที่ประดิษฐานพระนาก คือพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะผสมระหว่างทองคำและทองแดง และหอพระเชษฐบิดร แต่ต่อมาล้นเกล้าฯ ร.3 โปรดฯ ให้รื้อหอ 2 หอนี้ลงแล้วสร้างใหม่เป็นหอใหญ่หอเดียวอย่างที่เห็นอยู่นี้ ส่วนพระนากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานในวิหารยอดซึ่งตั้งอยู่ถัดมาในภาพล่างแทน ภายในจึงเป็นที่เก็บรักษาพระอัฐิของเจ้านายวังหน้าและวังหลวง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “วิหารยอด” เพราะมียอดเป็นทรงกุฎาคาร (ทรงเรือนยอด) สร้างขึ้นในสมัย ร.3 เหมือนกันโดยการนำกระเบื้องโมเสกจากเครื่องกระเบื้องที่แตกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามพระราชดำริของล้นเกล้าฯ ร.3 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นลวดลายพรรณพฤกษาที่ได้รับอิทธิพลจากจีน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

กลับขึ้นมาบนฐานไพที ก็จะเห็นนครวัดจำลองสร้างด้วยปูน ซึ่ง ร.4 โปรดฯ ให้จำลองจากปราสาทนครวัดองค์จริง ที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงให้สร้างขึ้นจากหินทรายเพื่อถวายพระนารายณ์ (พระวิษณุ) และถือเป็นสถาปัตยกรรมศิลปะเขมรคลาสสิกติดอันดับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแผ่นดินสยามเดียวกันกับประเทศไทย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนพระพุทธรูปที่มุมพระมณฑปนั้นเดิมเป็นพระพุทธรูปหินภูเขาไฟศิลปะชวา อิทธิพลอินเดียแบบปาละ ซึ่งรัฐบาลดัตช์ถวายมาเมื่อครั้งที่ ร.5 เสด็จเยือนเกาะชวา ซึ่งต่อมาชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระเทพฯ จึงทรงให้ย้ายไปประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วนำองค์จำลองทำจากปูนซีเมนต์มาไว้แทน นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชสัญลักษณ์ 9 รัชกาล และช้างสำคัญประจำรัชกาลต่าง ๆ ด้วย ในภาพขวามองออกไปเห็นหลังคาพระอุโบสถดาดด้วยกระเบื้องเคลือบสีสันสวยงาม อาจเป็นสัญลักษณ์แทนอัญมณีมีค่า

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อเดินต่อมาจะถึงด้านหน้าของปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งนอกจากในวันจักรีแล้ว สำนักพระราชวังยังเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชภายในปราสาทฯ ระหว่างวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 13-15 เมษายน อีกด้วย ส่วนเบื้องหน้านั้นมีพระเจดีย์ทอง 2 องค์ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ (มี 20 มุม) ก่ออิฐถือปูนหุ้มด้วยแผ่นทองแดงปิดทองที่ล้นเกล้าฯ ร.1 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศถวายสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก พระราชบิดาองค์หนึ่ง และสมเด็จพระราชชนนี พระราชมารดาองค์หนึ่ง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่ฐานพระเจดีย์จะมีรูปปั้นยักษ์และลิงแบกอยู่โดยรอบ แยกได้ง่าย ๆ คือยักษ์สวมรองเท้า ส่วนลิงไม่สวมรองเท้า

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดลงมาด้านล่างฐานไพทีจะเห็นอาคารอีกหลังคือ หอพระมณเฑียรธรรม ซึ่งสมเด็จฯ วังหน้า ในร.1 โปรดฯ ให้ช่างวังหน้ามาสร้างขึ้นเพื่อเก็บพระไตรปิฎกส่วนที่เหลือจากพระมณฑป และเป็นสถานที่แสดงธรรมเทศนาในวันพระและวันอาทิตย์ด้วย เป็นอาคารศิลปะวังหน้าที่หน้าบันจะไม่ได้เป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณอย่างวังหลวง แต่เป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ และพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นเทพชั้นรองลงมาแทน ด้วยถือว่าการทำอะไรเกินศักดิ์ฐานะนั้นจะเป็นอัปมงคล

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หากอยากชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่ยาวที่สุดในโลกถึง 178 ห้อง (ราวครึ่งกิโลเมตร) สามารถเดินจากหอพระมณเฑียรธรรมมาที่ประตูระเบียงคดฝั่งวิหารยอดซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันได้ เพราะห้องที่ 1 ซึ่งแสดงภาพพระชนกฤษีบวงสรวงไถผอบนางสีดา ก่อนจะกลับไปครองเมืองมิถิลาเริ่มจากตรงนั้นเลยค่ะ นอกจากนี้ที่เสาก็มีแผ่นจารึกบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ ร.1 ประกอบด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนภาพล่างที่ถ่ายมาให้ชมถัดมาคือฉากที่พระรามยกมหาธนูโมลี ในพิธีเลือกคู่อภิเษกสมรสให้นางสีดา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และก็พิธีอุปภิเษก (หรือพิธีรดน้ำแต่งงาน) ของทั้งสองในเมืองมิถิลา (เมืองฝ่ายเจ้าสาว) นั่นเอง ไฮไลต์อย่างหนึ่งคือแม้ภาพเหล่านี้จะไม่มีการใส่เงา ตามอย่างจิตรกรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่จะมีการปิดทองลงในภาพด้วย ถ่ายออกมาอาจไม่ชัดนัก แต่ไปดูกับตาจะสัมผัสได้ถึงความเรืองรองออกมาจากผนังเลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาในภาพล่างนี้เป็นตอนยอดฮิตอีกตอนหนึ่งคือ นางลอย เล่าเรื่องราวหลังจากที่ทศกัณฐ์มาลักพานางสีดาไปแล้ว แต่ไม่อยากถูกพระรามตามมาเอาคืนจึงให้หลานสาวคือ นางเบญกาย แปลงกายเป็นศพนางสีดาตายลอยน้ำมา ซึ่งตอนแรก ๆ พระรามก็เกือบจะเชื่อเสียแล้วด้วยความอาลัยรักจึงไม่ทันคิด ดีที่หนุมานทัดทานไว้ทันจึงแก้กลได้ในที่สุด

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกจากวัดมาจะเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นกลาง จะมีที่ทำการสำนักพระราชวัง และในภาพล่างนี้คือด้านหน้าของหมู่พระมหามณเฑียร แม้ล้นเกล้าฯ ร.1 จะโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงอย่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาในสมัย ร.4 เปลี่ยนมาเรียกว่า “พระบรมมหาราชวัง” แต่ด้วยความถ่อมพระองค์จึงมิได้มียอดปราสาทอยู่เหนือหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์ต่างจากพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในหมู่พระมหามณเฑียรประกอบด้วยพระที่นั่งประธาน 3 หลัง เรียงจากด้านในสุดออกมาด้านหน้า คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (ที่บรรทม) ไพศาลทักษิณ (ที่ว่าราชการเฉพาะขุนนางใกล้ชิดและห้องทรงพระสำราญ) อมรินทรวินิจฉัย (ท้องพระโรง) และมีอาคารประกอบอื่น ๆ อีก อย่างในภาพล่างที่เห็นนี้คือ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ซึ่งเป็นที่เปลี่ยนเครื่องทรงก่อนประทับพระราชยานหรือพระคชาธารค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาในภาพล่างนี้คือหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่ล้นเกล้าฯ ร.5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรงรับแขกบ้านแขกเมือง หลังเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตา ในปัจจุบัน) มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างยอดมหาปราสาทแบบไทยประเพณี ที่หน้าบันเป็นตราอาร์มแผ่นดิน และตราประจำราชวงศ์จักรี ประกอบกับตัวอาคารทรงยุโรปแบบบริติชนีโอคลาสสิก 3 องค์ องค์ละ 3 ชั้น มีมุขกระสันเชื่อมกลางใกล้เคียงกับพระราชวังบักกิงแฮมในอังกฤษ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นล่างมีห้องสำหรับทหารรักษาการณ์ ราชองครักษ์ ชั้น 2 มีท้องพระโรงกลางประดิษฐานพระแท่นพระมหาเศวตฉัตร มีโคมไฟระย้าเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร เป็นที่แรกในไทยที่มีไฟฟ้าใช้ มุขกระสันตะวันออกและตะวันตกเป็นห้องพระราชาและห้องพระราชินี เรียกตามพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ประดับในห้อง ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระเจ้าอยู่หัว ร.4-8 พระมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนประตูด้านซ้ายในภาพบนคือประตูสนามราชกิจ สู่เขตพระราชฐานชั้นใน ที่ปกติแล้วผู้ชายเข้าไม่ได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านหลังเดิมมีท้องพระโรงและพระที่นั่ง 10 องค์เชื่อมกันเป็นที่ประทับแต่ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงถูกรื้อและสร้างใหม่ทดแทน 3 องค์ในสมัย ร.9 ใช้ในการพระราชทานเลี้ยงรับรองแก่พระราชอาคันตุกะสำคัญต่าง ๆ ด้านข้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก มีพระที่นั่งราชกรัณยสภา ซึ่งล้นเกล้าฯ ร.5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เป็นอาคารแบบยุโรป 2 ชั้น แต่ตกแต่งแบบไทย มีเสา 2 ต้นทะลุชายคาขึ้นไปรองรับหน้าบันประดับรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ เรียกว่า “มุขประเจิด” ใช้เป็นที่ประชุมเสนาบดี

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 

ถัดมาในภาพกลางบนคือ พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท เป็นโถงจตุรมุขไทยประเพณียอดปราสาท 5 ชั้น (ยอดปราสาท 7 ชั้น = มหาปราสาท) สร้างในสมัย ร.4 เป็นเกยสำหรับเจ้านายที่ทรงพระเยาว์เสด็จขึ้นพระราชยานไปประกอบพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ต่างจากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ณ พระราชวังบางปะอิน ซึ่งสร้างขึ้นทีหลังตรงที่หน้าบันเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ไม่ใช่อาร์มแผ่นดิน หลังคาดาดด้วยดีบุกไม่ใช่กระเบื้องเคลือบสี และมุมทั้งสี่ใต้ยอดปราสาทประดับด้วยรูปหงส์ 3 ตัว ไม่ใช่รูปครุฑยุดนาค

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนในภาพบนนี้คือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างในสมัย ร.1 แทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งถูกฟ้าผ่าเสียหาย โดยถ่ายแบบจากพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ด้านหน้ามีมุขเด็จและบุษบกสำหรับเสด็จออกให้เฝ้า หน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ล้นเกล้าฯ ร.2 โปรดฯ ให้ประดับครุฑยุดนาคไว้ใต้ยอดพระมหาปราสาท ตามพระนาม “ฉิม” มาจาก “ฉิมพลี” คือที่อยู่ของพญาครุฑ หลังคาเดิมดาดด้วยดีบุก เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบสีในสมัย ร.5 มุขตะวันตกเป็นที่ตั้งพระบรมศพ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีพระที่นั่งพิมานรัตยาในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่สรงน้ำพระบรมศพ ด้านข้างเชื่อมต่อไปยังอาคารเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในพระราชพิธี หากมองลอดทางเชื่อมไปจะเห็นสวนซึ่งมีเขาไกรลาสจำลองสำหรับใช้ในพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ที่เจ้านายที่มีพระชนมายุ หรือพระชันษาครบ 13 พรรษา ทรงเปลี่ยนสถานะเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ โดยพระเจ้าแผ่นดินจะทรงเป็นเสมือนตัวแทนของพระอิศวรทำพิธีโกนจุกให้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินกันมาเหนื่อย ๆ แล้วตรงทางออกจากเขตพระราชฐานชั้นกลางสู่ชั้นนอกนี้มีคาเฟ่เล็ก ๆ จำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหลวงให้ได้แวะพักดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ และรับประทานของว่างกันได้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาใกล้ ๆ กันเป็นอาคารโรงกษาปณ์ผลิตเงินตราใช้ในสมัย ร.5 ต่อมาคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 มีการบูรณะวัดพระแก้วครั้งใหญ่ พบชิ้นส่วนเครื่องตกแต่งอาคารฝีมือชั้นครูที่ชำรุดทรุดโทรมแล้ว แต่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นตัวอย่าง รวมทั้งยังมีพระพุทธรูปและของมีค่าอื่น ๆ อีกมากมาย สมเด็จพระเทพฯ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานอาคารนี้มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว” ปิดเวลา 16.00 น. ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินต่อมาทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนจะต้องผ่านเข้ามา จะถึงหอรัษฎากรพิพัฒน์ ซึ่งเดิมเป็นที่ทำการกรมพระคลังมหาสมบัติ สำนักงานธนาคารชาติไทย กรมธนารักษ์ ราชบัณฑิตยสถาน กองพระราชพิธี ก่อนจะว่างลง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้อาคารนี้มาจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ปิดเวลา 16.30 น. หลังพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว 30 นาทีค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หากมาในวันธรรมดา ช่วงเปิดภาคเรียน ราว ๆ 11.00 น. สามารถแวะมารับประทานอาหารกลางวัน ของหวาน ตำรับชาววัง ฝีมือนักศึกษาวิทยาลัยในวังหญิงที่หอนิเพทพิทยาได้ นอกจากนี้ ล้นเกล้าฯ ร.10 ยังโปรดฯ ให้ติดตั้งเครื่อง AED เผื่อไว้สำหรับกรณีมีผู้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันด้วยค่ะ โดยจุดที่เรามักจะผ่านกันได้แก่ บก. วัดฯ หรือกองบังคับการ (ใกล้ประตูสวัสดิโสภา) ทางออกประตูศรีรัตน์ (ใกล้หมู่พระมหามณเฑียร) ตึก สนว. หรือตึกสำนักพระราชวัง (ใกล้พระที่นั่งดุสิตฯ) ศาลาลูกขุน (ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ) และแพทย์หลวง (ใกล้ประตูวิเศษไชยศรี) ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นับแต่อดีตที่พระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางในแทบทุกด้าน ไม่ว่าการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน ที่นี่ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมไทยอันงดงาม เป็นที่ที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ยังคงเสด็จมาประทับ / ประกอบพระราชพิธี เป็นที่ที่ชาวไทยยังคงมาทำบุญและสักการะสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยในวังหญิง และวิทยาลัยในวังชาย สถานศึกษาศาสตร์ศิลป์แบบราชสำนักแขนงต่าง ๆ ซึ่งประชาชนผู้สนใจสามารถมาสมัครสอบเข้าเรียนได้ฟรีอีกด้วย จึงไม่แปลกเลยที่สถานที่แห่งนี้จะเป็นไฮไลต์สำคัญที่แขกจากแดนไกลหลายคนต่างหมายมั่นว่าจะมาเยือนให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

“Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

 

อ้างอิง : โบราณสถานสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow