Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

TK park ร่วมมือ สนง.สถิติแห่งชาติเปิดผลสำรวจการอ่านปี 2561 ชี้คนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 นาที ต่อวัน

Posted By Plook News | 04 เม.ย. 62
2,016 Views

  Favorite

ภาพรวมการอ่านของคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 78.8  ซึ่งกรุงเทพฯ มาเป็นอันดับ 1 ขณะที่ยังมีคนไทยไม่อ่านถึงร้อยละ 21.2  โดยกลุ่มวัยรุ่นใช้เวลาอ่านสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกวัย ผลสำรวจยังชี้ต่อ “หนังสือยังไม่ตาย” พบตัวเลขการอ่านหนังสือเล่มที่ร้อยละ 88 ตีคู่มาติดๆ ด้วยการอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ 75.4 แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์การอ่านทั้งสองสื่อควบคู่ไปด้วยกัน 

 

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)  ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าว “ผลสำรวจการอ่านของประชากร ประจำปี พ.ศ. 2561” พบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน  โดยอ่านหนังสือเล่มร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาแรงถึงร้อยละ 75.4  ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น  สะท้อนว่าหนังสือเล่มยังคงอยู่เคียงคู่สื่อใหม่  ในภาพรวมมีคนไทยอ่านร้อยละ 78.8 ซึ่งหมายถึงยังมีคนไทยที่ไม่อ่านถึงร้อยละ 21.2   

 

ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

 

นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยภาพรวมสำรวจการอ่านของคนไทยในปี พ.ศ. 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4  ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และ ภาคใต้ร้อยละ 74.3 ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และและ 2556 อ่าน 37 นาที  

 

ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

 

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้ TK park  ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ผลสำรวจการอ่านของประชากรไทยมาแล้ว 2 ครั้ง คือการสำรวจในปีพ.ศ. 2556และ พ.ศ. 2558 และพบว่าสถิติการอ่านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในปีนี้ เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล แน่นอนว่าการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้  จึงหวังให้ข้อมูลและสถิติการอ่านนี้เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้  

 

​  ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) 

 

“อย่างไรก็ดี อุทยานการเรียนรู้ TK park เห็นว่าแม้จะมีตัวเลขคนอ่านเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.8 ก็ตาม แต่เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน พบว่ามีถึงร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่าน มีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ”

 

​ ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)  ​

 

นายกิตติรัตน์มองว่า เหตุผลของประชากรไทยที่ไม่อ่านถึงเกือบ 14 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีคนที่บอกไม่ชอบและไม่สนใจอ่านถึงร้อยละ 25.2  ถ้าคิดเป็นจำนวนประชากรก็ประมาณ 3,450,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว  คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุทยานการเรียนรู้ TK park  และหน่วยงานที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านทั้งหลาย และเมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล  เมื่อไปดูในเด็กอายุ 15-24 ปี กลับพบว่าไม่ชอบการอ่านหนังสือถึงร้อยละ 34.9 ขณะที่วัยผู้ใหญ่  25-50 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึงร้อยละ 32.8  ชี้ให้เห็นว่า หลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงานและเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้ยังขาดนิสัยรักการอ่าน และยังแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านการส่งเสริมการอ่าน ต้องกลับไปแก้โจทย์และหาแนวทางในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านกันต่อไป 

 

​ ​  ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) 

 

“อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มเด็กเล็ก ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 63.8  ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยให้เหตุผลว่าเด็กยังมีอายุน้อยเกินไป ทำให้เด็กกลุ่มนี้ คิดเป็นจำนวนราว 1.1 ล้านคน ไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเหตุเพราะความเข้าใจผิดของผู้ปกครอง ดังนั้นการรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจในการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องและแข็งขันมากขึ้น  เพราะการอ่านของเด็กเล็กนั้นเกิดจากความร่วมมือสนับสนุนการอ่านโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น การเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ ซึ่งอันที่จริงพ่อแม่สามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือแม้กระทั่งเมื่อเด็กอยู่ในท้อง โดยมีผลการวิจัยว่าจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองสูงกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งมีนิสัยรักการอ่านเมื่อโตขึ้นอีกด้วย

 

ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

 

“ผลการสำรวจในปี 2561 ยังระบุถึงประเด็นการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ที่มีจำนวนร้อยละ 5.4 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากผลสำรวจเมื่อครั้งที่แล้ว นั่นหมายถึงมีเด็กจำนวนถึง 145,000 คน ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่งานวิจัยเรื่องผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ ทีมแพทย์ระบุว่าการเสพสื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบกับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่สมควรใช้กับเด็กเล็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเด็นนี้นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก” ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวย้ำ 

 

ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)


นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า “หนังสือเล่มยังไม่ตาย!” ในช่วงเวลา 3 ปีนี้เราเห็นได้ชัด ความนิยมการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ร้อยละ 75.4  ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อัตราการลดลงของการอ่านหนังสือเล่มกลับไม่สูงเท่าไรนัก เพราะจากการสำรวจยังคงมีคนอ่านหนังสือเล่มอยู่ถึงร้อยละ 88 ดังนั้นแนวทางการส่งเสริมการอ่านในอนาคตจึงสามารถรณรงค์ควบคู่กันไปได้ทั้งสองทาง   


ประเด็นสุดท้าย ห้องสมุดทั่วโลกต้องรู้จักปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่แสดงตัวเลขผู้อ่านหนังสือในห้องสมุดเพียงร้อยละ 0.6 ของคนอ่านหนังสือ หรือ คิดเป็นจำนวน 298,000 คน ซึ่งต่ำกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรก! โดยมีผู้ยืม-คืนหนังสือลดลง คิดเป็นร้อยละ 8.3 ซึ่งปรากฏการณ์การลดลงของผู้มาอ่านหนังสือในห้องสมุดนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย ดังนั้นห้องสมุดเองจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ เพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง 

 

ภาพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

 

ผลการสำรวจปี 2561 นี้ยังมีการจัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด* ได้แก่ กรุงเทพฯ 92.9% , สมุทรปราการ 92.7% , ภูเก็ต 91.3% , ขอนแก่น 90.5% , สระบุรี 90.1% , อุบลราชธานี 88.8% , แพร่ 87.6% , ตรัง 87.2% , นนทบุรี 86.6%  และปทุมธานี 86.2% 

สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2-3 ปี โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้ขยายคำนิยามการอ่าน นอกจากการอ่านหนังสือรูปแบบกระดาษ ให้ครอบคลุมการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (รวมโซเชียลเน็ตเวิร์ค และ อินเตอร์เน็ต) โดยปีล่าสุดนี้ทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow