Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมสัตว์มีอายุขัยไม่เท่ากัน

Posted By Plook Creator | 01 มี.ค. 62
16,519 Views

  Favorite

หากน้องหมามีอายุ 1 ปีจะเท่ากับ 15 ปีของคน ขณะที่ 2 ปีของน้องหมาเท่ากับ 24 ปีของคน และอายุจะค่อย ๆ เพิ่มไปทีละ 4 ปีเมื่อเทียบกับคน สุดท้ายแล้วมันจะแก่ตายลงในช่วงเวลา 10-15 ปี

ทำไมการนับอายุของสัตว์ถึงแตกต่างและยากกว่าคน

 

อันที่จริงช่วงอายุของคนก็แบ่งไว้ได้เพียงคร่าว ๆ นับจากวัยทารก ไปจนถึงวัยเด็กซึ่งก็อยู่ในช่วง 1-12 ขวบปี ก่อนจะเข้าสู่วัยรุ่นและโตเป็นผู้ใหญ่ในช่วง 27-30 ปีเป็นต้นไป และเปลี่ยนช่วงวัยอีกครั้งเมื่ออายุ 50-60 ปีขึ้นไป นับได้ว่าเข้าสู่วัยชรา แต่สุนัขมีช่วงอายุสั้นกว่าคนมาก อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะไม่สั้นมากหากเทียบกับสัตว์จำพวกแมลง ซึ่งบางชนิดมีอายุอยู่เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

 

สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสัตว์ส่วนใหญ่นั้น วัฏจักรของช่วงชีวิตเริ่มต้นเมื่อเกิดมา พวกมันค่อย ๆ พัฒนาสู่จุดสูงสุดของชีวิตซึ่งพวกมันเติบใหญ่ที่สุด แข็งแรงที่สุด และมีความสมบูรณ์พร้อมทางด้านระบบและอวัยวะทั้งหมด เพื่อที่พวกมันจะได้สืบพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นช่วงชีวิตของมันก็เข้าสู่ขาลง และค่อย ๆ แก่ไปตามวัย เซลล์และระบบต่าง ๆ ค่อย ๆ เสื่อมถอยลงจนหมดอายุขัยไปในที่สุด แต่วัฏจักรของสัตว์แต่ละชนิดมีช่วงเวลาแตกต่างกัน

 

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดช่วงชีวิตหรืออายุขัยของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีจำนวนมากและซับซ้อน แต่หากพูดถึงการแก่และตาย ตัวกำหนดการมีชีวิตและตายคือ เซลล์และการทำงานของมัน เหมือนที่เราเคยเรียนมาคือ เราต้องการอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน เข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การสึกหรอของร่างกายเราเกิดขึ้นจากเซลล์ที่ทำงานอยู่นั้นหมดอายุหรือเสื่อมสลายตายไป และจำเป็นต้องได้รับการทดแทน การซ่อมแซมคือ การที่เซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่แบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเพื่อมาทดแทนส่วนที่เสียไป กระบวนการซ่อมแซมเกิดขึ้นเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อยังอยู่ในวัยเยาว์ แต่กระบวนการนี้จะช้าลงเรื่อย ๆ ประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์ที่แก่ตัวก็ต่ำกว่าเซลล์ที่อายุน้อยกว่า และภาพรวมที่เราได้ก็คือ ร่างกายที่เสื่อมถอยลง

 

ทั้งนี้ ปัจจัยเรื่องการเสื่อมถอยของกระบวนการสร้างเซลล์ทดแทนอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านอายุของสัตว์มากขนาดนี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย ชนิดของอาหาร หรือขนาดตัว ล้วนมีส่วนเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปัจจัยต่าง ๆ ทำให้สัตว์ต้องวิวัฒนาการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการปรับตัวที่รวดเร็วจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกมันดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ นั่นแปลว่า สัตว์ที่มีร่างกายเล็กกว่า เจริญเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์โดยใช้เวลาน้อยกว่า จะมีความถี่ในการสืบพันธุ์และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมและเกิดวิวัฒนาการรวมถึงการผ่าเหล่าได้มากกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ใช้เวลานานในการเติบโตกว่าจะสามารถสืบพันธุ์ได้

 

ยกตัวอย่างสัตว์ เช่น วาฬหัวคันศร ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า พวกมันอยู่ในมหาสมุทรซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ามากในช่วงเวลาหลายร้อยปี ทำให้พวกมันไม่มีความจำเป็นต้องรีบวิวัฒนาการ มันสามารถใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ได้ยาวนานตราบที่พวกมันต้องการ ในขณะที่สัตว์ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอย่างหนู อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อ่อนไหวและเปลี่ยนแปลงง่ายกว่า อย่างป่าที่มีผู้ล่าเป็นจำนวนมาก ทำให้มันต้องรีบโต รีบขยายพันธุ์ และปรับตัวให้สามารถรอดชีวิตจากนักล่าด้วยเทคนิคต่าง ๆ หรือการเข้ามาอยู่ในเมือง พวกมันมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการกิน ขนาด สี และนิสัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อมให้ได้ ซึ่งเหตุผลนี้อาจทำให้พวกมันมีช่วงอายุที่สั้นและเหมาะสมในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

 

สัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนจากป่ามาสู่เมืองหลาย ๆ ชนิดต่างก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า อายุที่สั้นและความสามารถในการเข้าสู่วัยสืบพันธุ์ที่รวดเร็ว สร้างความแตกต่างที่ทำให้พวกมันอยู่รอดได้ เช่น นกกระจอก นกพิราบ หนู แมลงสาบ หรือแม้แต่จิ้งจก

 

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า เมื่อสัตว์เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีการจับคู่ และเกิดการสืบพันธุ์แล้ว ร่างกายของมันจะเสื่อมถอยลง หรือแก่และตายไป ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืชบางสายพันธุ์ พืชที่ใกล้ตัวและพบเห็นปรากฏการณ์นี้คือ กล้วยและมะละกอ ซึ่งให้ดอกออกผลก่อนจะตายไปเหมือนกับสัตว์ส่วนใหญ่ แต่ทุกอย่างมีข้อยกเว้น สัตว์บางชนิดที่สามารถสืบพันธุ์ได้โดยไม่ต้องอาศัยเพศ หรือ asexually reproduction ไม่จำเป็นต้องรีบวิวัฒนาการ เพราะมันสามารถกระจายพันธุ์ได้โดยไม่ใช้เพศ และนั่นอาจทำให้พวกมันมีช่วงอายุยาวนานขึ้น แม้พวกมันจะเจริญเติบโตตามวัยและเข้าสู่ช่วงอายุที่สามารถสืบพันธุ์แล้วก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ไฮดรา (Hydra) และปะการัง (Coral) ซึ่งมีอายุยาวนานถึง 200 ปีขึ้นไป หรือฟองน้ำ (Sponge) ซึ่งสามารถอยู่ได้หลายพันปีขึ้นไป หรือหนอนบางชนิดที่ไม่ได้สืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ ก็พบเห็นว่ามีช่วงชีวิตที่ยาวนานกว่าหนอนชนิดที่สืบพันธุ์โดยอาศัยเพศหลายเท่า

 

ยังมีปริศนาและปัจจัยอีกมากมายที่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้หมด อย่างเช่น ชนิดและความสามารถของเซลล์ที่สัตว์แต่ละชนิดมี ทำให้พวกมันมีความสามารถในการดำรงชีวิตแม้ในถิ่นที่อยู่เดียวกัน อาหารคล้ายกัน ขนาดตัวคล้ายกัน แต่มีอายุขัยต่างกัน บางชนิดมีเซลล์ซึ่งไม่ทนทานต่อการถูกทำลายและทำให้ความสามารถในการซ่อมแซมต่ำและอายุสั้น ในขณะที่สัตว์อีกชนิดอาจจะสู้โรคและทานทนต่อปัจจัยแวดล้อมมากกว่าซึ่งทำให้อายุยืนยาวกว่า

 

หากหนูมีช่วงชีวิตที่สั้นเพียงไม่กี่เดือน มันเริ่มนับอายุถอยหลังเมื่อเริ่มมีลูกคลอกแรก แต่สัตว์ที่คล้ายกันอย่างตัวตุ่น มีอายุยืนยาวกว่า ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) ซึ่งอาศัยอยู่ในมหาสมุทร พวกมันกินแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) เป็นอาหาร และล่องลอยไปตามแต่กระแสน้ำจะพัดพาไป จังหวะชีวิตของพวกมันขึ้นและลงตามกระแสน้ำ และอาจจะสั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น แต่สำหรับเต่าบกแห่งกาลาปากอสกลับมีชีวิตได้หลักร้อยปี หรือแม้แต่วาฬหัวคันศร (Bowhead whale) ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าแก่ก็ปาเข้าไป 200 ปีแล้ว พวกมันมีช่วงชีวิตที่ห่างกันอย่างมาก อาจจะเป็นปัจจัยด้านแสงแดด สารเคมี อากาศ หรือจะเป็นปัจจัยด้านความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่มีผลต่ออายุขัยโดยรวมเช่นกัน ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปในตอนนี้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow