Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สยามนอกห้าง เสพงานศิลป์วัดปทุมฯ ในบรรยากาศสุดสงบ

Posted By ไกด์เตยหอม | 24 พ.ย. 61
7,721 Views

  Favorite

พอพูดถึงสยามฯ หลาย ๆ คนก็จะนึกถึงห้าง ห้าง และก็ห้าง สารพัดห้างให้เลือกสรร ซึ่งบางคนอาจเดินจนปรุ หลับตาเดินไม่หลงกันแล้ว วันนี้จึงขอพาทุกท่านไปชมความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมในวัดปทุมวนาราม หรือที่หลาย ๆ คนเรียก “พารากอนวนาราม” หรือไม่ก็ “เซ็นทรัลวนาราม” กันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ก่อนอื่นขอเล่าประวัติวัดนี้อย่างคร่าว ๆ ก่อนนะคะ วัดปทุมวนารามเป็นวัดที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีของพระองค์ และในศาลารายหลังที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถก็มีพระบรมรูปของล้นเกล้า ร.4 อยู่ภายในด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ผู้ใหญ่เล่ากันว่า เดิมทีบริเวณนี้เป็นอุทยานที่มีสระบัวขนาดใหญ่ที่ล้นเกล้า ร.4 โปรดฯ ให้ขุดขึ้น สระบัวนั้นก็คือ “สระปทุม” จึงเป็นที่มาของชื่อวัด “ปทุมวนาราม” เขต “ปทุมวัน” และวัง “สระปทุม” ตั้งแต่เข้าซุ้มประตูวัดมาเราก็จะได้เห็นดอกบัวมากมายตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เสา หน้าบัน หรือแม้แต่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังก็ปรากฏภาพดอกบัวและสระบัว แล้วลองจินตนาการดูสิคะว่าถ้าในสมัยก่อนวัดนี้อยู่กลางสระบัวจะยิ่งงามแค่ไหน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ภาพหน้าบันอุโบสถเป็นลายดอกบัว มีพระมหามงกุฏอันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของล้นเกล้า ร.4 อยู่ตรงกลาง และใบเสมาที่นี่จะติดกับผนังพระอุโบสถเช่นเดียวกับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ไม่ได้อยู่บนซุ้มเสมาเหมือนวัดสมัย ร.1 – ร. 3 อย่างวัดพระแก้ว วัดโพ วัดอรุณ

เกร็ดความรู้

ทำไมถึงเขียนว่า "วัดโพ" เพราะเดิมชื่อ "วัดโพธาราม" แปลว่า พระอารามที่มี ต้นโพ และ ต้นโพ ที่ไม่ใช้ต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก็จะเป็น "โพ" ธรรมดา ไม่ใช่ "โพธิ" หรือ "โพธิ์" ที่หมายถึง "ความตรัสรู้" แต่ปัจจุบันหลายๆ คนก็อนุโลมให้เขียนว่า "โพธิ์" ได้ แม้จะไม่ค่อยตรงความหมายนักก็ตามค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระสายน์ พระประธานที่อัญเชิญมาจากล้านช้าง ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถนี้เป็นภาพเขียนแบบ perspective ถ่ายทอดบรรยากาศของสุทัศนนคร บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามที่มีบรรยายไว้ใน ไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ลิไทตามจินตนาการของจิตรกร และเชื่อกันว่าช่างได้เขียนตามพระราชดำริของล้นเกล้า ร.4 เพราะมีการเขียนอย่างถูกต้องตามทิศและมีรายละเอียดตรงกัน อีกทั้งมีการแฝงปริศนาธรรมไปด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ทิศตรงข้ามพระประธานเป็นทิศตะวันออกตามธรรมเนียมนิยม ที่เวลาสร้างวัดมักให้ด้านหน้าพระอุโบสถและพระประธานอยู่ทางทิศตะวันออก เหนือประตูก็จะเห็นเป็นภาพสระบัว และมีต้นตาลเป็นแนวเขตเมือง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ผนังด้านข้างเป็นภาพอุทยานและสระสี่มุมเมืองอันได้แก่ นันทวัน ปารุสกวัน มิสกวัน และจิตรลดาวัน ดูจากสวนปารุสกวันที่แปลว่าสวนมะปรางก็จะมีต้นมะปรางอยู่ในภาพด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

นอกจากนี้ยังมีภาพนกยางในสระ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมใน พระไตรปิฎก ที่เล่าเรื่องราวของนางสุชาดา ภรรยาของมฆมาณพ ซึ่งได้มาเป็นพระอินทร์องค์หนึ่งบนสวรรค์พร้อมภรรยาอีก 3 คน ที่ทำบุญร่วมกัน ในขณะที่นางสุชาดาเห็นว่าสามีทำบุญตนก็ย่อมได้อยู่แล้วจึงไม่ต้องทำร่วมกันก็ได้ เลยไปเกิดเป็นนกยางแทน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

เมื่อมฆมานพที่ได้เป็นพระอินทร์แล้วก็สงสาร แนะให้รักษาศีลโดยกินปลาที่ตายแล้วแทนปลาเป็น ในภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ก็มีภาพนกยางตัวหนึ่งในน้ำกับนางฟ้า 3 องค์ที่ยืนให้โอวาทอยู่บนริมสระ ซึ่งน่าจะเป็นบรรดาชายาอีก 3 องค์ของพระอินทร์นั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ด้านหลังพระประธานในพระอุโบสถของวัดส่วนใหญ่จะเขียนภาพเขาพระสุเมรุในจักรวาล แต่ที่นี่จะเป็นภาพดอกบัวที่อยู่ในสระบัวในงาช้างเอราวัณอีกที

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ถัดมาเป็นพระเจดีย์สีขาวซึ่งตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ หน้าพระวิหาร ด้านในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

พอเข้ามาในพระวิหารจะเห็นพระประธาน 2 องค์คือ พระเสริม องค์ใหญ่ด้านหลัง และพระแสน องค์เล็กด้านหน้า ซึ่งก็อัญเชิญมาจากล้านช้างเช่นกัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ผู้อาวุโสในครอบครัวท่านเล่ากันอย่างไม่เป็นทางการว่า แต่เดิมแถบนี้มีชุมชนชาวลาวจากล้านช้างอาศัยอยู่ แม้แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่วัดก็เล่าว่าเมื่อมีงานบุญก็จะมีชาวไทยเชื้อสายลาวและชาวลาวมาทำบุญ เช่นวันนี้ มีชาวไทยเชื้อสายลาวมาถวายเนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ภาพที่ผนังระหว่างหน้าต่างก็เป็นเรื่องราวจากวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง ศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง ที่นิยมกันทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวลาว 

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านบนนั้นเป็นภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแบบที่ไม่ได้ใช้เรือพระที่นั่งที่มีโขนเรือเป็นรูปสัตว์ จากรูปจะเห็นทหารซึ่งก็มีที่แต่งชุดอย่างตะวันตกด้วย แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 
ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

นอกจากนี้เสาแต่ละต้นที่เป็นลายดอกบัวนั้น สีพื้นจะไล่ระดับตั้งแต่สีโทนอ่อนที่อยู่ใกล้พระประธาน จนถึงสีเข้มไกลออกมา ซึ่งหลาย ๆ คนก็ตีความว่าอาจหมายถึงยิ่งใกล้พระธรรม มีคุณธรรม ใจก็จะยิ่งผุดผ่องสว่างใสมากขึ้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ด้านหลังพระวิหารจะเป็น โพธิฆระ คืออาคารที่ล้อมรอบต้นโพ เป็นสถานที่สำคัญที่ทำให้ระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเป็นสถานที่ทำสมาธิหรือเดินจงกรมด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

ด้านหลังนอกกำแพงแก้ว (กำแพงล้อมเขตพุทธาวาส คือพวกพระอุโบสถ พระวิหาร ฯลฯ) ออกไปจะมีพระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระอัฐิ (กระดูก) และพระราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของพระบรมวงศานุวงศ์หรือพระประยูรญาติผู้ที่สืบสายตรงแห่งราชสกุลมหิดล

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

นอกจากนี้ถ้าเดินย้อนมาทางพระอุโบสถ แล้วออกจากเขตกำแพงแก้วไปทางซ้ายจะเป็นเส้นทางไปสู่ศาลาพระราชศรัทธาซึ่งตั้งอยู่ในสวนที่มีบรรยากาศร่มรื่นมาก ๆ เลยค่ะ ที่นี่จะมีกิจกรรมทางศาสนาพุทธเป็นประจำด้วยค่ะ แต่ถึงไม่ใช่พุทธศาสนิกชน หากเดินเหนื่อยแล้ว ก็หลบมาสูดอากาศบริสุทธิ์ในบรรยากาศอันเงียบสงบนี้ได้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
 

หากมีเวลาผ่านไปผ่านมาแถวสยาม ก็สามารถแวะเข้ามายังพื้นที่สีเขียวอันงดงามแห่งนี้ได้ แล้วบางทีก็อาจจะอดรู้สึกไม่ได้ว่าเวลามันเคลื่อนคล้อยไปอย่างช้าลง เร่งรีบน้อยลง หายใจได้เต็มปอดมากขึ้นค่ะ

 

 

 

"เที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋ อย่างยั่งยืน" ของดีมีอยู่ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow