Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เบื้องลึกของค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนอินเตอร์

Posted By Plook Parenting | 08 พ.ย. 61
5,400 Views

  Favorite

พ่อแม่ปัจจุบันจะส่งลูกเข้าโรงเรียนแต่ละทีคงจะต้องคิดหลายตลบ  เพราะเดี๋ยวนี้นอกจากจะเลือกโรงเรียนที่สามารถจัดสรรค่าเล่าเรียนให้ลูกหลานได้แล้ว ยังต้องเลือกโรงเรียนที่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปด้วย 

 

เป็นปกติทางการตลาด ในเมื่อสร้างโรงเรียนมาเพื่อเจาะตลาดคนมีเงิน การนำเสนอภาพว่าโรงเรียนตนเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด โดยนำเสนอผ่านค่าเล่าเรียนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะพ่อแม่มักคิดว่าโรงเรียนที่เก็บค่าเรียนแพง ย่อมจะจัดสรรสิ่งที่ดีกว่าให้ลูกตนเองได้ ความคิดนี้อาจจะมีส่วนถูก แต่พ่อแม่ที่มีเงินพอจะจ่ายค่าเทอมครึ่งล้านย่อมจะรู้อยู่แล้วว่ามันมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยอีกมาก

 

 

ในฐานะนักวิจัยทางสถิติและอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมพยายามสอนนักศึกษาเสมอว่าการนำเสนอค่าต่าง ๆ โดยยึดเอาค่าสูงสุด หรือต่ำสุดมานำเสนอนั้น ย่อมทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้สูง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าหากจัดลำดับประเทศที่รวยที่สุด โดยการนำคนที่รวยที่สุดของแต่ละประเทศมาเทียบกัน ประเทศไทยคงจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าภาพความเป็นจริงหลายขุม ด้วยหลักการเดียวกัน บางโรงเรียนอาจจะมีห้องโปรแกรมพิเศษเพียงห้องเดียว ที่จัดการศึกษาแตกต่างจากห้องอื่น ๆ ด้วยค่าเทอมที่แพงกว่า หรือบางโรงเรียนอาจจะมุ่งเน้นพิเศษเฉพาะบางช่วงชั้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นระดับชั้นมัธยมปลาย ถ้าเอาค่าเทอมของเฉพาะส่วนนั้นมาเทียบกัน อาจจะไม่สะท้อนภาพค่าเทอมจริง ๆ ของทั้งโรงเรียนได้ ในเมื่อคนที่จ่ายเงินแบบนั้นมีเพียงแค่หยิบมือเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนทั้งหมด

 

 

แต่ถ้าต้องเลือกนำเสนอว่าค่าเทอมโรงเรียนใดสูงกว่ากัน โดยเรียงลำดับจากค่าเทอมสูงสุด หรือค่าเทอมต่ำสุด การเลือกใช้ค่าเทอมต่ำสุดน่าจะสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้ดีกว่ามาก เพราะเป็นค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดที่โรงเรียนสามารถจัดสรรการศึกษาให้ได้ ซึ่งถ้าหากเรียงข้อมูลที่มีก็จะเห็นว่า ค่าเทอมต่ำสุดของแต่ละโรงเรียน ไม่สอดคล้องกับค่าเทอมสูงสุดแต่อย่างใด นี่อาจจะสะท้อนธุรกิจการศึกษาได้ดีพอควร เพราะช่วงห่างระหว่างค่าเทอมต่ำสุด กับค่าเทอมสูงสุด มันแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนแต่ละแห่งแข่งขันกันรับนักเรียนเข้า โดยกำหนดค่าเทอมต่ำสุดให้ใกล้เคียงกัน และค่อย ๆ เพิ่มค่าเทอมขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนักเรียนเติบโตขึ้น ซึ่งระหว่างนี้การย้ายโรงเรียนจะไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะมันมีค่าใช้จ่ายแฝง เรียกว่า Switching Cost เช่น ค่าแรกเข้า รวมไปถึงสิ่งอื่น ๆ ที่ต้องใช้เวลาสร้างขึ้นมา เช่น ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองคนอื่น ๆ เพื่อน ๆ ของลูก  เป็นต้น

 

 

การรับข้อมูลต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ต มีการใช้สถิติเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่บางครั้งสถิติก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบิดเบือนความจริง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ อย่างในกราฟข้างต้น หากสลับการเรียงลำดับ โดยนำค่าเทอมสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ ลำดับในการจัดเรียงจะเปลี่ยนไปสูงมาก แม้ว่าจะให้ข้อมูลครบถ้วนเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่าการจัดเรียงลำดับส่งผลไม่น้อยในด้านการตลาด ซึ่งหากจะปรับปรุง ควรนำเสนอแยกระดับชั้น ค่าเทอมระดับอนุบาลและประถม ไม่ควรถูกนำมาเทียบกับระดับมัธยม แต่หากมีพื้นที่จำกัด ก็ควรนำเสนอค่ากลาง เช่น มัธยฐาน (median) มากกว่า

 

 

ดั้งนั้น เมื่อต้องเลือกโรงเรียนที่คุ้มค่าที่สุด ค่าเรียนแพงที่สุดอาจไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจน ความคุ้มค่า (Value for Money) ในการลงทุนเพื่อการศึกษานั้น สามารถวัดได้จากปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก เช่น หลักสูตร คุณภาพครู สภาพแวดล้อม และความครบครันของอาคารสถานที่ หรือ อาจดูความน่าเชื่อถือของโรงเรียนจากที่องค์กรมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ (แต่เมื่อเป็นโรงเรียนอินเตอร์ก็แนะนำให้ดูองค์กรต่างประเทศเป็นหลัก) 

 

แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่คุณควรจะสนใจคือความสุขในการเรียนของบุตรหลานคุณนั่นเอง

 

 

อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ รักชาติ

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow