Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคไบโพลาร์คืออะไร (Bipolar disorder)

Posted By Amki Green | 26 ก.พ. 62
5,367 Views

  Favorite

ในสภาพสังคมปัจจุบัน ผู้คนได้รับความเครียดและความกดดันจากปัญหารอบตัวมากขึ้น เช่น สภาวะสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หรือปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) อย่างรวดเร็ว ดังนั้น วันนี้เรามารู้จักโรคไบโพลาร์กัน

 

โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรือหลายคนอาจรู้จักในชื่อของ โรคอารมณ์สองขั้ว (Manic depression) เป็นอาการป่วยทางจิตใจ เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับอารมณ์ พลังงาน การทำกิจกรรม และความสามารถของการทำงานในแต่ละวัน มีการประมาณการว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 1-5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในปี 2560 ประเทศไทยพบจำนวนผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ประมาณ 30,000 คน ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต

 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า โรคไบโพลาร์นั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับอารมณ์ พลังงานและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น อารมณ์เหล่านี้จะมีช่วงเวลาที่ขึ้นสูง เรียกว่า ช่วง Manic episodes ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและรู้สึกกระตือรือร้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีช่วงที่อารมณ์ต่ำ หรือช่วงที่อยู่ในสภาวะสิ้นหวัง เรียกว่า ช่วง Hypomanic episodes  ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไบโพลาร์ จะมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปมาระหว่างอารมณ์ภาวะซึมเศร้า (Major depressive episode) กับช่วงที่มีอารมณ์ที่มากกว่าปกติ (อาจจะเป็นได้ทั้งช่วง Manic episodes และ Hypomanic episodes)

 

โรคไบโพลาร์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. Bipolar I Disorder มีอาการผสมระหว่าง 2 ช่วง คือ มีอาการในช่วง Manic episodes สลับกับช่วงอารมณ์ภาวะซึมเศร้า (Major depressive episode) หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

2. Bipolar II Disorder มีอาการในช่วง Hypomanic episodes สลับกับช่วงอารมณ์ภาวะซึมเศร้า (Major depressive episode) แต่จะมีความรุนแรงไม่มากเท่ากับ Bipolar I Disorder

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคไบโพลาร์

1. ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม  จากการศึกษาพบว่าโรคไบโพลาร์จะถูกตรวจพบบ่อยในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์มากกว่าในประชากรทั่วไป
2. ปัจจัยทางกายภาพ ความเครียดและความกดดันไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลต่อการทำให้เกิดโรคไบโพลาร์ แต่ปัจจัยดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์
3. ปัจจัยทางชีวภาพ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนต่าง ๆ หรือการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนของการควบคุมอารมณ์ ซึ่งการป่วยจากปัจจัยประเภทนี้สามารถรักษาได้โดยการให้ยา

 

ลักษณะเข้าข่ายของการเป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์  (Bipolar disorder)

1. รู้สึกทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ยากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับอารมณ์ พลังงานและการกระทำต่าง ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้บางครั้งไม่สามารถจัดการกับชิ้นงานตรงหน้าได้ทันเวลา ดังนั้น จำนวนงานที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีลักษณะดังกล่าว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายเรียนรู้วิธีการจัดการและพัฒนาตัวเองให้สามารถทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ

 

2. มีอาการของโรคซึมเศร้า ในผู้ป่วยไบโพลาร์ จะมีลักษณะภาวะซึมเศร้าแทรกอยู่ เช่น มีความอยากอาหารลดลง พฤติกรรมการนอนผิดปกติ ว่อกแว่กง่าย หรือรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง

 

3. พูดเร็ว เนื่องจากความคิดของผู้ป่วยแล่นเร็ว จึงทำให้พูดเร็วขึ้นและสามารถเข้าใจได้ยาก นอกจากนี้ยังสามารถขัดจังหวะได้ยาก ถ้าอาการรุนแรง จะพูดเร็วขึ้นและเสียงดัง

 

4. หงุดหงิดง่าย เนื่องจากบางครั้งผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีอาการของ Manic episodes และภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหงุดหงิดง่าย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

 

5. มีการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่ออยู่ในภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยบางรายจะเลือกใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้า วิธีการดังกล่าวนำมาซึ่งการติดสารเสพติด นอกจากนี้การใช้สารเสพติดและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาลดลงอีกด้วย

 

6. อารมณ์ดีมากเกินไป ผู้ป่วยจะมีความสุข ร่าเริง หรือหงุดหงิดง่ายก็ได้ ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองในการหลั่งสารต่าง ๆ ญาติผู้ป่วยจะสามารถสังเกตได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์

 

7. พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วง Manic episodes จะไม่ต้องการการนอนหลับพักผ่อน และไม่รู้สึกเหนื่อยล้าถึงแม้จะพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วง Hypomanic episodes  จะรู้สึกอยากนอนมากกว่าปกติ ถึงแม้จะได้พักผ่อนเพียงพอก็จะรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา

 

8. มีพฤติกรรมไม่สม่ำเสมอ และไม่คิดหน้าคิดหลัง ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วง Manic episodes จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มักแสดงการโอ้อวด บางครั้งคิดว่าตัวเองมีอำนาจ จึงแสดงออกไปโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้าง

 

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงได้ทราบรายละเอียดของโรค ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค และลักษณะเข้าข่ายที่มีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์แล้ว ผู้เขียนอยากให้ทุกคนลองสังเกตพฤติกรรมของตนเองว่ามีลักษณะเข้าข่ายหรือไม่ ถ้ามีลักษณะเข้าข่าย ควรรีบไปพบแพทย์และทำการรักษา เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของตัวเรา

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- "สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)" ส่วนเล็ก ๆ ที่มีผลต่ออารมณ์และการทำงานของร่างกาย
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow