Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 ประโยค ห้ามพูด กับคนเป็นโรคซึมเศร้า !

Posted By Glimmergirl | 13 ก.ย. 61
11,082 Views

  Favorite

คำพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ช่วยผลักดันให้ใครบางคนลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งอาจ ส่งผลร้ายกับคนเป็นโรคซึมเศร้าอย่างคาดไม่ถึง !

 

โรคซึมเศร้า เป็นความผิดปรกติทางอารมณ์ อาจเกิดจากความเครียด อาการเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรงถึงชีวิต ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม หรือกรรมพันธุ์ ทำให้การผลิตสารเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินในสมองทำงานผิดปรกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ไม่แน่...ในจำนวเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงานที่เราเจออยู่ทุกวัน อาจมีใครกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าอยู่โดยที่เราไม่รู้ก็ได้

 

แน่นอนเมื่อเพื่อนเกิดวิกฤตในชีวิต หรือพบเจอเรื่องราวไม่สบายใจ เพื่อนที่ดีอย่างเราก็อยากหาทางช่วยเหลือเป็นธรรมดา สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและไม่มีอคติ แต่ในบางครั้งการพูดให้กำลังใจหรือการพูดแซวแบบทีเล่นที่จริง สำหรับเพื่อนที่มีเรื่องเครียดทั่ว ๆ ไปอาจสร้างรอยยิ้ม หรือปลุกพลังใจให้กลับมาสู้ใหม่ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว คำพูดธรรมดาที่เราพูดออกไป อาจส่งผลร้ายแรงต่อจิตใจของเขาอย่างร้ายแรงเลยทีเดียว และ 7 ประโยคต่อไปนี้ ต้องคิดให้ดีก่อนพูดออกไป เพราะเป็นประโยคต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า !

 

1. “ร่าเริงหน่อยสิแก!”

ภาพ : Pixabay

 

บอกก่อนนะจ๊ะซิส อาการซึมเศร้ามันได้ไม่หายง่าย ๆ เหมือนแค่อารมณ์บ่จอย เจอเพื่อนรักแกล้งหยอดมุกให้ยิ้ม ให้ขำ แล้วจะอารมณ์ดีขึ้นทันตาเห็น ถ้าจะให้หายหรือทุเลาได้ ต้องอาศัยยาและจิตแพทย์เข้าช่วย

สำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว คำว่า “ร่าเริงหน่อยสิแก” นอกจากไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแล้ว อาจทำให้ยิ่งรู้สึกแย่เข้าไปอีก เพราะมันร่าเริงไม่ได้ไงแก๊ ! ทางที่ดีที่สุดหากอยากช่วยเพื่อนจริง ๆ สิ่งที่คุณทำได้ก็เพียงแค่ต้องทำให้เพื่อนรู้สึกว่าคุณพร้อมเป็นผู้ฟังที่ดี ที่ยอมรับฟังทุกปัญหาโดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็นใด ๆ ไม่ด่า ไม่ตำหนิ ไม่รำคาญ แค่รับฟังและเข้าใจเท่านั้นพอ คำพูดที่พยายามจะให้เพื่อนร่าเริงขึ้น หรือกระตุ้นให้รู้สึกดี ไม่ต้องพูดให้เปลืองน้ำลายค่ะ

 

2.“อาการอย่างแกจิตแพทย์ไม่ต้องไปหา ยาไม่ต้องกิน เดี๋ยวพาเป็นเล่นโยคะสงบสติหน่อยรับรองสบายใจขึ้น !”

ภาพ : Pixabay

 

เดี๋ยว ๆ เล่นโยคะ ดื่มกาแฟ กินเค้ก หรือสารพัดวิธีที่ช่วยให้ชะนีปรกติอารมณ์ดีขึ้น ใช้ไม่ได้กับชะนีที่เป็นโรคซึมเศร้านะคะพูดเลย ! ยิ่งถ้าเพื่อนรู้ตัวว่าเป็นซึมเศร้าแต่เราดันบอกว่าไม่ต้องหาหมอ ไม่ต้องกินยา เพื่อนอาจรู้สึกอายที่จะไปรับการรักษาอย่างถูกวิธี พาลให้อาการหนักกว่าเดิม

จำไว้ว่าสำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว การเข้าใจ รับฟัง และแสดงความเป็นห่วงเป็นใยอย่างจริงใจคือการรักษาที่ดีที่สุด ถึงเราจะช่วยให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นทันทีไม่ได้ แต่ช่วยหาข้อมูล ดูว่าจิตแพทย์คนไหนโรงพยาบาลอะไรเชี่ยวชาญด้านนี้ แล้วพาเพื่อนไปหา นี่สิถึงจะถือว่าช่วยเพื่อนได้จริง ๆ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามการรับฟังอย่างเข้าใจ เพราะบางทีแค่เพื่อนได้พูดระบายความในใจออกมาโดยที่มีคุณรับฟังและไม่พยายามตัดสินใดใดทั้งสิ้น แค่ให้เพื่อนรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญกับความมืดมนของปัญหาเพียงลำพัง เท่านี้คุณก็ช่วยเพื่อนได้โดยไม่ต้องใช้คำพูดใด ๆ แล้วค่ะ

 

3. “ยังมีคนอีกมากที่ชีวิตเขาแย่กว่าแกอีกนะ เรื่องแค่นี้เอง คิดมากไปได้”

ภาพ : Pixabay

 

บอกเลยว่าคำพูดประมาณนี้ นอกจากพอฟังแล้วไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแล้ว ยังยิ่งจุดชนวนความรู้สึกผิดให้กับคนเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย ! และไอ้เจ้าความรู้สึกผิดต่อคนอื่นนี่แหละ เป็นตัวการกระตุ้นให้อาการของโรคยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ว่าเพือนเลือกที่จะมองแต่ด้านลบ หรือไม่ยอมคิดบวก แต่โรคซึมเศร้าทำให้เพื่อนเราเหมือนติดอยู่ในหลุมดำที่ไม่มีทางออก การกระตุ้นให้เพื่อนพยายามคิดบวกไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น

ดูตัวอย่างอย่างนักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศสิ หลายคนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง และออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า แต่ละคนล้วนมีช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความทรมานจากโรคซึมเศร้าทั้งนั้น แทนที่จะพูดตัดรำคาญให้เพื่อนรู้ผิดที่ท้อแท้ในชีวิต ควรเปลี่ยนเป็นการแสดงออกให้เพื่อนรู้ว่า คุณพร้อมที่จะรับฟังปัญหาของเพื่อนเสมอทุกครั้งที่ต้องการใครสักคนสิถึงจะเริ่ดกว่า !

 

4. “เลิกคร่ำคราญสักทีเถอะแก”

ภาพ : Pixabay

 

การเป็นโรคซึมเศร้า อาจทำให้เพื่อนไม่ค่อยเปิดใจแสดงความรู้สึกเท่าไร หรือบอกเล่าปัญหาลึก ๆ ที่มีอยู่ในใจกับใครเท่าไร แต่ถ้าเพื่อนยอมพูดกับเราแล้ว การพูดให้สติแรง ๆ ไม่ช่วยแก้ปัญหานะคะ สิ่งที่เราทำได้คือบอกเพื่อนว่า “ฉันเป็นห่วงนะแก มีอะไรให้ช่วยรึเปล่า เรามานั่งคุยกันหน่อยไหม ตอนนี้แกรู้สึกอย่างไรบ้าง” 

แม้คำตอบที่ได้อาจฟังดูเหมือนเพื่อนจะหดหู่มากเกินเหตุ หรือบางครั้งทางแก้ปัญหาอาจฟังไม่เข้าท่า ก็พยายามอย่าใช้คำพูดแรง ๆ เพื่อเตือนสติ นอกจากไม่ช่วยแล้วอาจทำให้เรื่องบานปลายใหญ่โตก็เป็นได้ รับฟังอย่างเข้าใจ อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์เท่านั้นคือทางออก

 

5. “ช่วงนี้เจอแต่เรื่องแย่ ๆ ชวนให้ท้อแท้สุด ๆ”

ภาพ : Pixabay

 

เมื่ออาการซึมเศร้ากำเริบ ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกแย่ไปทั้งวัน ทั้งสัปดาห์ หรือกระทั่งรู้สึกท้อแท้หดหู่ไปทั้งเดือน การพูดให้เขาได้ยินว่า “เศร้าสุด ๆ” “ท้อจัง” “พังมาก” “ชีวิตแย่” “ทำดีไม่ได้ดี” อาจทำให้เพื่อนรู้สึกเหมือนถูกพูดเสียดสี และไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของเขาอย่างแท้จริง จึงควรเลี่ยงมาใช้คำพูดที่เบากว่าอย่าง “เซ็งจัง” “น่าเบื่อมาก ๆ” แทน เพื่อไม่ให้ทำร้ายความรู้สึก หรือกระตุ้นให้เพื่อนอาการหนักไปกว่าเดิม

 

6. “คนที่ฆ่าตัวตายน่ะ เห็นแก่ตัวที่สุด”

ภาพ : Pinterest

 

รู้หรือไม่ว่าปฏิกิริยาของคุณที่มีต่อข่าวการฆ่าตัวตายของคนเป็นโรคซึมเศร้า จะเป็นสิ่งที่เพื่อนหรือญาติที่มีอาการแบบเดียวกันใช้เป็นเครื่องตัดสินว่าคุณมีมุมมอง และความจริงใจต่ออาการป่วยของเขาระดับไหน เขาจะเปิดใจเชื่อมั่นในทุก ๆ การสนับสนุนของเราได้มากน้อยแค่ไหน หากเราแสดงให้เพื่อนเห็นว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องเลวร้ายที่รับไม่ได้ เพื่อนหรือญาติอาจไม่กล้าเปิดใจบอกเล่าถึงปัญหาที่แท้จริงให้เราฟัง กว่าจะรู้อีกทีก็อาจสายเกินไป

หากเพื่อนไว้ใจเราแล้วบอกว่าอยาก ฆ่าตัวตาย อย่าพึ่งต่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระหรือเห็นแก่ตัว เพราะนี่คือจุดวิกฤตของอาการแล้วค่ะ สิ่งที่เราทำได้คือรับฟัง แสดงความห่วงใยให้เพื่อนรู้ว่าเราเป็นห่วงจริง ๆ แล้วรีบนำเรื่องนี้ไปบอก คุณพ่อคุณแม่ คุณครู สามี ญาติสนิทของเพื่อน หรือติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ ทันที อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ เพื่อนอาจโกรธที่เราเอาไปบอกคนอื่น แต่อย่างน้อยก็ยังได้หาทางแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

 

7. “รู้สึกดีขึ้นบ้างไหม”

ภาพ : Pixabay

 

การจะเดินเคียงข้างไปกับคนเป็นโรคซึมเศร้านั้นต้องใช้มากกว่าแค่ใจแลกใจ เพราะผู้ป่วยต้องการความแน่ใจว่าคุณจะจับมือเดินร่วมกันไปจนสุดทางหรือไม่ มีหลายครั้งที่คนเป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าชีวิตหมดหวัง หมดกำลังใจ ไม่มีใครช่วยให้เขาขึ้นจากหลุมมืดในจิตใจได้ ทุกสิ่งในชีวิตจบลงเท่านี้ สิ่งสำคัญที่เราจะทำให้เขาได้คือให้เขารู้ว่าทุกสิ่งที่เขากำลังเผชิญมันมีทางออก

โรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยทางอารมณ์ที่มีความรุนแรง ดังนั้นเมื่อเราพยายามช่วยเพื่อนทุกวิถีทางแล้ว แต่เพื่อนยังไม่ดีขึ้นก็อย่าพึ่งท้อตามไป จงอดทนและควรพยายามให้เพื่อนไปพบแพทย์ รักษาให้ถูกทางให้ได้ ไม่ควรถามเพื่อนว่ารู้สึกดีขึ้นบ้างไหม แต่ควรถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรไม่สบายใจไหม และอย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่เป็นแล้วรักษาง่ายเหมือนไข้หวัด นอกจากจิตแพทย์และการกินยาจะช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ความเข้าใจและกำลังใจจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ บางครั้งคำพูดมากมายก็ไม่อาจใช้แทนความห่วงใยได้ดีเท่าการนั่งนิ่ง ๆ และรับฟังอย่างไม่มีอคติ สำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่เขาต้องการอาจมีเพียงแค่ไหล่ไว้ให้ซับน้ำตา หรือมือที่จะคอยจับจูงไปจนกว่าจะถึงแสงสว่างเท่านั้นเอง สำหรับคนที่มีเรื่องเครียด หรือสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าแต่ยังไม่อยากไปพบจิตแพทย์ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 

 

แหล่งข้อมูล
www.seventeen.com/
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Glimmergirl
  • 5 Followers
  • Follow