Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เชื้อดื้อยากับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

Posted By Amki Green | 01 ส.ค. 61
9,651 Views

  Favorite

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) มาบ้าง แต่บางคนอาจจะยังไม่ทราบถึงความน่ากลัวของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มันสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ที่สำคัญมันมีความเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการกินยาของเราซึ่งมีผลให้เชื้อดื้อยาด้วย

 

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดและปล่อยสารพิษที่เชื้อแบคทีเรียผลิตออกมาสู่ร่างกายของมนุษย์ และทำให้เสียชีวิต คำถามที่ตามมาคือ ไม่มียารักษาหรือ? ทำไมไม่กินยา? กินยาแล้วทำไมไม่หาย? คำตอบคือ มี แต่แบคทีเรียพวกนี้ดื้อยาหมดแล้ว

ภาพ : Shutterstock

 

หลักการที่สำคัญที่สุดในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย คือ ต้องกำจัดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคให้หมดสิ้น กล่าวคือเมื่อเราเจ็บป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ในการรักษา เนื่องจากยาดังกล่าวเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว นอกจากนี้แพทย์จะระบุให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมดทุกครั้งเสมอ เนื่องจากเป็นปริมาณยาที่มากพอจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หมด แต่คนส่วนใหญ่เมื่อไม่มีอาการป่วยแล้ว ก็จะหยุดรับประทานยาโดยทันที ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย

ภาพ : Shutterstock

 

การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย เริ่มจากเมื่อเชื้อแบคทีเรียได้รับยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวะจะเข้าไปทำลายเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย จากนั้นก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียค่อย ๆ ตายลง ซึ่งหากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนครบปริมาณที่แพทย์กำหนด ก็จะไม่มีแบคทีเรียก่อโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกาย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาหลังจากเข้าใจว่าไม่มีอาการเจ็บป่วยแล้วหรือรับประทานไม่ครบปริมาณที่แพทย์ระบุ ทำให้ได้รับปริมาณยาไม่ครบ ส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ซึ่งปกติแล้วแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเกิดการกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เชื้อแบคทีเรียที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายนี้จึงค่อย ๆ กลายพันธุ์ และผลิตสารที่สามารถต้านทานการทำงานของยาปฏิชีวนะได้

 

เชื้อแบคทีเรียที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนและส่งต่อความสามารถในการต้านทานยาไปสู่แบคทีเรียตัวอื่น ๆ ในการป่วยครั้งต่อไปยาปฏิชีวะตัวเดิมจึงไม่สามารถรักษาอาการเดิมได้อีก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียมีความสามารถในการสร้างสารต้านทานยาปฏิชีวะดังกล่าวได้แล้ว ลักษณะดังกล่าว เรียกว่า เชื้อเกิดการดื้อยา แพทย์จึงต้องจ่ายยาปฏิชีวะตัวใหม่เพื่อใช้ในการรักษาโรคเดิม และเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนยังมีพฤติกรรมเดิม ๆ ผนวกกับได้รับเชื้อดื้อยาจากช่องทางอื่น ทำให้ร่างกายมีปริมาณเชื้อดื้อยาเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถหายาปฏิชีวะที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ แบคทีเรียก็จะเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตเข้าสู่กระแสเลือดและปล่อยสารพิษออกมาเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดการอักเสบ และการอักเสบนี้ก็เป็นสาเหตุให้เกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจขัดขวางการเดินทางของออกซิเจนไปสู่อวัยวะสำคัญ ๆ ต่าง ๆ การทำงานของอวัยวะนั้น ๆ ล้มเหลว เป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

 

ในครั้งต่อไป หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ควรรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์ระบุ ซึ่งหมายถึงการได้รับปริมาณยาที่มากเพียงพอที่จะทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในร่างกายให้หมดไป ส่งผลให้ไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรีย ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการยับยั้งการเกิดเชื้อดื้อยาในร่างกายของตัวบุคคล รวมทั้งยังสามารถช่วยลดปริมาณของเชื้อดื้อยาในระบบได้อีกด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow