Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเกิดจันทรุปราคา

Posted By Amki Green | 25 ก.ค. 61
106,371 Views

  Favorite

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เรามักจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เรามีคำอธิบายค่ะ

 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse)

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เต็มดวง จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน เมื่อเรามองไปบนท้องฟ้า เราจะเห็นดวงจันทร์สีแดงอมน้ำตาลที่มีลักษณะกลมโตและใหญ่กว่าปกติ หรือที่เราเรียกกันว่า “ดวงจันทร์สีเลือด”

 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาเรียงตัวอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยการเรียงอยู่ระนาบเดียวกัน ต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) เท่านั้น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์มีการโคจรเข้าไปในเงาของโลก การที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงาโลก จะทำให้ดวงจันทร์เกิดการเว้าแหว่ง และหากดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามืดของโลกพอดี จะทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะกลมโตและมีสีน้ำตาลอมแดง เรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวง

 

เงาโลกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1. เงาส่วนที่เป็นเงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาส่วนที่มืดที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่ตรงกับดวงจันทร์
2. เงาส่วนที่เป็นเงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนที่ยังมีแสงสลัว โดยเงามัวนี้จะอยู่รอบ ๆ เงามืดอีกที
 

ภาพ : Shutterstock

 

ชนิดของจันทรุปราคา

จันทรุปราคาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) จะเกิดขึ้นในส่วนเงามัว เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามัวของโลก แต่จันทรุปราคาลักษณะนี้เราจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ยาก
2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืด เราจะสามารถเห็นจันทรุปราคาได้บางส่วนเนื่องจากถูกเงามืดของโลกบดบังไป ดังนั้น ดวงจันทร์ที่เราเห็นจึงมีลักษณะเว้าแหว่ง
3. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse)  จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลก โดยดวงจันทร์ทั้งดวงจะซ้อนทับกับเงามืดพอดี

 

การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเริ่มจากการเกิดเงามัวก่อน เราจะเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน และดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามืดของโลกจนกระทั่งครบทั้งดวง เรียกว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งโดยทั่วไปการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) จะเกิดขึ้นเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

     
เราจะไม่พบปรากฏการณ์จันทรุปราคาในทุกเดือนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง เพราะการที่ดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ อยู่ในระนาบเดียวกันเป็นสิ่งที่ยากมาก ดวงจันทร์มีแนวโคจรรอบโลกที่ 5 องศา และโลกก็มีแนวโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นของตัวเอง ดังนั้น การที่ทั้งสองจะโคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน และองศาของดวงจันทร์ตรงกับโลกพอดีจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก

 

เพราะเหตุใดดวงจันทร์จึงเป็นสีเลือด ?

การที่เรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีเลือดในคืนที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นเพราะแสงจากดวงอาทิตย์ประกอบไปด้วย แสงคลื่นสั้นและแสงคลื่นยาว แสงคลื่นสั้น เช่น  แสงสีม่วง แสงสีน้ำเงิน จะมีการกระเจิงของแสงหรือสะท้อนกลับหมดก่อนที่พวกมันจะเดินทางมาถึงผิวโลก ส่วนแสงคลื่นยาว เช่น แสงสีแดง และแสงสีส้ม จะสามารถเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาได้ และเกิดการหักเหของแสงก่อนจะเดินทางไปยังพื้นผิวของดวงจันทร์ ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอมน้ำตาลคล้ายกับสีเลือดนั่นเอง

 

แต่ละสถานที่บนโลกของเราสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้แตกต่างกันไป รวมถึงเวลาที่มองเห็นได้ด้วย บางครั้งซีกโลกที่เป็นตอนกลางคืนในวันที่เกิดปรากฏการณ์นี้อาจจะเห็นทั้งเต็มดวงหรืออาจจะเห็นเพียงแค่ครึ่งซีก ขณะที่ซีกโลกที่เป็นตอนกลางวันอาจจะไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เลย ขึ้นอยู่กับที่ตั้งหรือตำแหน่งของสถานที่นั้น ๆ บนโลก

 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เราสามารถเห็นได้บ่อยครั้งกว่าปรากฏการณ์สุริยุปราคา เฉลี่ยแล้วจะเกิดให้เห็นได้ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงวันไหนบ้าง ดังนั้น หากอยากจะชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาสักครั้งในชีวิต สามารถตรวจสอบวันเวลาการเกิดได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนะคะ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ห้ามพลาดกันเลยทีเดียวค่ะ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- การเกิดสุริยุปราคา (Solar Eclipse)

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow