Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สังเกตได้อย่างไรว่าลูกเป็น 'ต่อมทอนซิลอักเสบ' ในเด็ก

Posted By Plook Parenting | 09 ก.ค. 61
8,746 Views

  Favorite

ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เพราะต่อมทอนซิลเป็นอวัยวะด่านแรกในการตรวจจับสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ร่างกาย

 

ในเด็กเล็กวัยเข้าโรงเรียนที่ภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรง โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 4 ปี มักเอาสิ่งของใกล้ตัวต่าง ๆ เช่น ของเล่น หรือมือที่ไม่สะอาดเข้าปาก หรือบางครั้งอาจรับเชื้อโรคโดยตรงจากคนอื่นที่ป่วยแล้วไอจามไม่ปิดปาก จึงมีอาการเจ็บคอทอลซินอักเสบบ่อย

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการ

ขึ้นอยู่กับการได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 เป็นไวรัส อาการจึงมักคล้ายเป็นไข้หวัด น้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ บางคนอาจมีไข้ต่ำๆถึงไข้สูงจนชักได้ สำหรับสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียมีส่วนน้อยและมักเป็นในเด็กโต อาการ มักมีไข้สูงฉับพลันเจ็บคอมากตรวจพบจุดเลือดออกที่คอหรือคราบหนองที่ทอนซิล มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตกดเจ็บและมักไม่ไอ

 

อาการอื่นคล้ายคลึงกัน เช่น

1. อ่อนเพลีย : เด็กที่เริ่มมีไข้จะรู้สึกอ่อนเพลีย หมดแรง จนอาจร้องไห้โยเย และร้องกวนทั้งวันทั้งคืน

2. เบื่ออาหาร : นอกจากไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวแล้ว เด็กยังรู้สึกเบื่ออาหาร บางคนอาจกินอาหารไม่ลงเพราะกลืนอาหารหรือน้ำลำบาก

3. อาเจียน ปวดท้อง : ในเด็กบางคนที่เริ่มมีอาการรุนแรงจะอาเจียน ปวดท้อง และมีอาการท้องเดินร่วมด้วย

 

วิธีการรักษา

1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หลังจากแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างครบถ้วน ถ้าเป็นเชื้อไวรัสส่วนใหญ่รักษาตามอาการ ถ้าเป็นแบคทีเรียข้อสำคัญคือควรให้ลูกกินยาปฏิชีวนะอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง 10 วัน แม้อาการจะทุเลาลงแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน และให้ต่อมทอนซิลหายเป็นปกติ

2. ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

หากลูกมีไข้สูงและครั่นเนื้อครั่นตัว คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นเช็ดตัวลูกเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายลง และป้องกันไม่ให้เด็กชัก

3. ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้เพียงพอ

การที่ร่างกายจะฟื้นฟูตัวเองได้เต็มที่ จำเป็นต้องอาศัยพลังงานจำนวนมาก หากลูกยังไม่อยากกินอาหาร หรือกินไม่ลง ควรเริ่มจากอาหารอ่อน ๆ อาทิ โจ๊ก หรือข้าวต้ม และควรให้ลูกจิบน้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะน้ำหวาน

4. พักผ่อนให้เพียงพอ

คุณพ่อคุณแม่ควรจัดเตียงและบรรยากาศห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับพักผ่อนของลูกให้มากที่สุด หากลูกพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เด็กยิ่งอ่อนแรงมากขึ้นได้

5. รักษาสุขอนามัยภายในบ้าน

เมื่อพบว่าลูกเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ควรเร่งดูแลความสะอาดภายในบ้าน รวมทั้งข้าวของต่าง ๆ เป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือแบคทีเรียอื่น ๆ เข้าสู่ร่างกายของลูกอีก พร้อมกันนั้นก็สอนเรื่องสุขอนามัยแก่ลูก และสอนให้ลูกดูแลความสะอาดของตัวเอง  

 

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีไข้ หรือเจ็บคอมาก ให้สันนิษฐานว่าต่อมทอนซิลอาจอักเสบด้วย และควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะถึงแม้ต่อมทอนซิลอักเสบจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน อาทิ ไข้รูมาติก หรือโรคหัวใจรูมาติก ตามมาได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow