Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ต้นไม้ไหม้แดดได้เหมือนผิวของเราหรือไม่

Posted By Plook Creator | 13 มิ.ย. 61
12,735 Views

  Favorite

กิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ รวมถึงการออกไปเปิดประสบการณ์ตามที่แปลกใหม่อย่างเช่น การปีนเขาสูง การปั่นจักรยานทางไกล ทำให้เราต้องพบกับแสงแดดอันร้อนแรงโดยตรง ส่งผลให้ผิวเราคล้ำเสีย ไหม้ จนอาจถึงขั้นทำให้แห้งลอก การป้องกันของเราคือ การทาโลชั่นหรือครีมกันแดด พร้อมทั้งปลอบประโลมผิวด้วยเจลหรือสารต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผิวเย็นขึ้น ช่วยฟื้นบำรุงความชุ่มชื่นหลังจากโดนแดดเผา แต่สิ่งมีชีวิตอื่นอย่างพืชที่ต้องทนรับแสงแดด หรือต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นที่กำบังให้ร่มเงาแก่เรา มีโอกาสจะโดนเผาเหมือนกับผิวหนังเราได้หรือไม่ และถ้าคำตอบคือ ใช่ พวกมันมีวิธีป้องกันตนเองจากการโดนเผาได้อย่างไร

 

ข้อเท็จจริงแรกที่ว่าต้นไม้หรือพืชนั้นต้องการแสงแดดในการผลิตอาหารสำหรับมันเอง ด้วยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) อาจทำให้เราหลงลืมไปว่า แสงประกอบด้วยคลื่นระดับต่าง ๆ มากมาย และใช่ว่าพืชจะใช้ประโยชน์จากทุกคลื่นความถี่ที่มันได้รับ ยังไม่รวมถึงความร้อนซึ่งไม่น่าจะใช่ส่วนประกอบหลักที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงอีกด้วย

 

กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเป็นกระบวนการทางชีวเคมี เพราะมันเกิดในสิ่งมีชีวิตและยังเป็นปฏิกิริยาทางเคมี มันเป็นหนึ่งในกระบวนการซึ่งมีความสำคัญและพื้นฐานที่สุดกระบวนการหนึ่งของโลก มันทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ระดับต่ำที่สุดของห่วงโซ่อาหารอย่างพืชสามารถสร้างพลังงาน หรือเปลี่ยนเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานเคมีซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ พลังงานของสิ่งมีชีวิตแทบทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกนี้ล้วนได้รับมาจากกระบวนการนี้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และสิ่งที่ทำให้พืชสามารถดักจับเอาพลังงานแสงมาใช้ในกระบวนการนี้ได้ก็คือ คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตพลังงานของพืชโดยใช้แสงเป็นแหล่งพลังงานหลักคือ ความเข้มของแสง อุณหภูมิ และความยาวคลื่นแสง และนั่นทำให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะว่าความเข้มของแสงมากทำให้ผิวหนังของคนเราไหม้และเปลี่ยนสีไปได้ ในขณะที่ความเข้มของแสงที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้เพิ่มขึ้นมากไปตลอด หรือแปรผันตรงไปตลอด เมื่อความเข้มข้นของแสงเพิ่มขึ้นเกิดจุดหนึ่งประสิทธิภาพของการผลิตจะคงที่ละเริ่มลดต่ำลง ส่วนอุณหภูมิไม่ได้เป็นตัวแปรโดยตรงแต่อุณหภูมิที่เหมาะสม กล่าวคือ 0-40 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่เอนไซม์ต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความยาวคลื่นก็เช่นกัน ไม่ใช่ทุกช่วงของคลื่นจะสามารถนำมาใช้งานได้ และบางช่วงก็จำเป็นต้องได้รับการป้องกันเพื่อไม่ให้เซลล์ของต้นไม้ถูกทำร้ายจากแสงแดดด เหมือนกับที่เราต้องป้องกันรังสีช่วงคลื่น UVA และ UVB เป็นต้น

 

แสงสีแดงเป็นช่วงที่ให้พลังงานน้อยกว่าแสงสีเขียว และแสงสีเขียวเองก็ให้พลังงานได้น้อยกว่าแสงสีม่วงหรือสีน้ำเงิน พืชสามารถใช้แสงที่ตาเรามองเห็นเกือบทุกช่วงคลื่นมาแปลงเป็นพลังงาน ยกเว้นแสงสีเขียวที่พืชแทบจะไม่ดูดกลืนไว้เลย และนั่นทำให้เราเห็นพืชส่วนใหญ่มีสีเขียว เนื่องจากพืชมีคลอโรฟิลล์ซึ่งเป็นรงควัตถุที่สะท้อนแสงสีเขียวออกมานั่นเอง แต่สำหรับคลื่นช่วงที่ตาของเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างแสงเหนือม่วง (Ultraviolet) หรือยูวี มีพลังงานที่สูงกว่าแสงขาวทั่วไป และมันก้สูงมากพอที่จะทำลายพันธะระหว่างโมเลกุลที่อยู่ในเซลล์ได้ นั่นแปลว่า ไม่ว่าจะเซลล์พืชหรือสัตว์หากได้รับพลังงานจากแสงที่มีความยาวคลื่นช่วงนี้ก็จะได้รับผลกระทบทั้งนั้น

 

รังสียูวีทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังของเราได้ ส่งผลกระทบต่อการแบ่งตัว รบกวนระบบภูมิต้านทาน รวมถึงก่อให้เกิดมะเร็งได้ กระบวนการป้องกันตัวของเราคือสร้างเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) ออกมาเพื่อดูดซับรังสีเหล่านี้ และนั่นแปลว่าผิวเราจะได้รับการป้องกันมากขึ้น แต่กระนั้นก็ทำให้ผิวของเรามีเม็ดสีมากขึ้น ผิวเข้มขึ้นอย่างที่เรียกว่าผิวแทน กระบวนการคล้ายกันเกิดขึ้นกับพืช พวกมันผลิตฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งสามารถดูดซับรังสียูวีได้ แน่นอนว่าหากพืชไม่ผลิตฟลาโวนอยด์ออกมาอย่างพอเพียงก็จะเกิดอาการใบไหม้เหมือนกับที่ผิวหนังของเราเป็นได้

ภาพ : Shutterstock

 

หากการปรับตัวให้ค่อย ๆ เจอแสงแดดทีละน้อยอย่างในคนหรือสัตว์ช่วยป้องกันให้เราไม่ผิวไหม้ได้ เนื่องจากผลิตเม็ดสีออกมาดูดซับรังสีได้ทันท่วงที พืชก็เป็นเช่นกัน ในกรณีที่คุณปลูกต้นไม้และไม่ค่อยได้ให้มันเจอกับแสงแดดแรง ๆ แล้วอยู่ดี ๆ นำกระถางของมันออกไปอยู่กลางแดดเลย มันก็อาจจะไหม้ตายได้ แต่หากให้มันมีการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เติบโตขึ้นตามธรรมชาติ ก็จะช่วยให้มันสร้างสิ่งที่นำมาป้องกันตนเองได้ก่อนที่จะถูกแดดเผา เฉกเช่นคนผิวสีเข้มหรือสีแทนตั้งแต่กำเนิด ที่มีโอกาสผิวไหม้น้อยกว่าคนที่ผิวสีอ่อนเนื่องจากพวกเขามีเมลานินอยู่ในเซลล์ผิวหนังที่พร้อมรับมือกับรังสียูวีอยู่แล้ว

 

แม้ว่าพืชจะต้องการแสงเพื่อการเจริญเติบโต แต่การได้รับแสงแดดแรง ๆ หรือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม รวมถึงทำให้ใบมันต้องพบกับแดดและความร้อน โดยเฉพาะกับประเทศเขตร้อนอย่างไทยนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไรนักสำหรับต้นไม้ เช่นเดียวกับคนเรานั่นเอง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow