Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ป้องกัน ‘เชื้ออีโคไล’ เชื้อโรคร้ายที่ทำให้ลูกท้องเสีย

Posted By Plook Parenting | 08 มิ.ย. 61
3,523 Views

  Favorite

เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีหลากหลายสายพันธุ์ จึงมีทั้งทั้งคุณประโยชน์และโทษร้ายแรง หากสังเกตอาการเห็นว่าลูกน้อยติดเชื้ออีโคไล คุณพ่อคุณแม่ควรรีบรักษก่อนโรคจะลุกลามร้ายแรง

 

อีโคไล (E. Coli) หรือ Escherichia Coli เป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของคนและสัตว์ มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งที่มีประโยชน์ เช่น ช่วยสร้างวิตามินเค วิตามินบี 6 ป้องกันลำไส้จากแบคทีเรียตัวอื่น ๆ เป็นต้น และที่ก่อให้เกิดโทษ เช่น เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ อุจจาระร่วง เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น ซึ่งเชื้ออีโคไลที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเป็นพิเศษ คือเชื้อที่ก่อให้เกิดโทษนี้เอง

 

อีโคไลชนิดก่อให้เกิดโรค

ส่วนใหญ่อีโคไลชนิดนี้เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อีโคไลชนิดนี้มีอยู่ทั่วไป และแพร่เข้าสู่คนได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1. การกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ไม่สะอาด หรือเก็บรักษาไม่เหมาะสม

2. ดื่มน้ำที่มีเชื้ออีโคไลปะปนอยู่

3. นำนิ้วมือที่สัมผัสสิ่งของติดเชื้อเข้าปาก

4. สัมผัสสัตว์หรือมูลสัตว์ที่มีเชื้อปะปน โดยเฉพาะวัว แพะ และแกะ

5. ว่ายน้ำในสระหรือแหล่งน้ำที่มีเชื้อปะปน

ตามรายงานการวิจัยพบว่า เมื่อเชื้ออีโคไลชนิดก่อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยของระบบหายใจ และเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อีกด้วย

 

ระยะฟักตัวของเชื้ออีโคไล

สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ อีโคไลใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-4 วัน ส่วนผู้ใหญ่แข็งแรงจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-8 วัน หลังจากนั้นอีก 3-4 วันจะเริ่มปรากฏอาการ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้ลูกน้อยเกิดภาวะแทรกซ้อน จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการ

1. ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด

2. มีเลือดหรือมูกเลือดปะปนมาในอุจจาระ

3. คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

4. มีไข้

5. ตัวซีด อ่อนเพลีย

 

วิธีการรักษาและป้องกัน

1. พาไปพบแพทย์

เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกน้อยหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการท้องเสียท้องร่วงมากกว่า 3 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์ วิธีการรักษาจะเป็นไปตามอาการ และคุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

2. ไม่ควรกินยาเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดกลุ่มสเตอรอยด์และกลุ่มแอสไพริน เพราะอาจทำให้ลูกน้อยมีอาการหนักขึ้น และส่งผลให้ไตทำงานหนักมากเกินไป

3. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เนื่องจากเชื้ออีโคไล กำจัดได้ด้วยความร้อน จึงควรการกินอาหารร้อน ๆ ที่เพิ่งปรุงสุกทุกมื้อ และควรเตรียมอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ใช้ช้อนกลางเสมอ และควรล้างมือก่อนการกินข้าวทุกครั้ง

4. รักษาสุขภาพและดื่มน้ำมาก ๆ

ผู้ที่ดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอ และดื่มน้ำในปริมาณมาก จะช่วยให้หายจากการติดเชื้ออีโคไลไวขึ้น เนื่องจากเชื้อนี้ทำให้ท้องร่วง ร่างกายจึงสูญเสียน้ำง่ายขึ้น หากดื่มน้ำเข้าไปชดเชย ก็จะช่วยให้ร่างกายต้านทานอีโคไลได้ดีขึ้น

5. อยู่ห่างไกลจากผู้ติดเชื้อ

การต้องคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ อาจส่งผลให้ได้รับเชื้ออีโคไลได้ง่าย ดังนั้นควรป้องกันลูกน้อยให้ห่างจากผู้ติดเชื้อจะดีที่สุด ในทางกลับกัน หากลูกน้อยได้รับเชื้ออีโคไล ควรให้ลูกพักผ่อนอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

 

เชื้ออีโคไล แพร่กระจายได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรักษาสุขอนามัยภายในบ้านและตัวลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขาห่างไกลจากเชื้อนี้ และลดการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไร อันเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงมากมายอีกทางหนึ่ง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow