Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรื่องต้องรู้ก่อนตอบรับทำงานของ “มนุษย์เงินเดือน”

Posted By Plook Creator | 22 พ.ค. 61
3,164 Views

  Favorite

ในโลกการแข่งขันพนักงานประจำหรือเรียกกันว่า “มนุษย์เงินเดือน คงไม่ปรารถนาอะไรไปมากกว่าการมีงานทำที่ดีตรงกับความสามารถ มีสังคม เพื่อนร่วมงานและบรรยากาศแวดล้อมในที่ทำงานที่ดี รวมทั้งผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถในการทำงาน

เมื่อ “มนุษย์เงินเดือน” คิดที่จะเปลี่ยนงานใหม่และเลือกสถานที่ทำงาน องค์ประกอบหลักเพื่อพิจารณาในการเข้าทำงานกับองค์กรใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ  แมนพาวเวอร์มาฝากมุมความคิดดีดีกับสิ่งที่ควรถามตัวเองก่อนตอบรับข้อเสนอกับการทำงานในองค์กรใหม่ ดังนี้
 

ภาพ : Pixabay

 

1. ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สถานที่ตั้งของบริษัทมีความสะดวกในการเดินทาง  

งานใหม่ของคุณจะทำให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ใช้เวลาในการทำงานวันละกี่ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่กี่โมงถึง กี่โมง ทำงานเฉพาะวันธรรมดา หรือต้องทำงานวันเสาร์อาทิตย์ด้วย มีระบบการทำงานเป็นรอบหรือเป็นกะ เวลาเลิกงาน หรือต้องเลิกงานดึกไหม รวมไปถึงระยะการเดินทางไปทำงานของคุณก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คุณควรให้ความสำคัญ เพราะปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อทั้งเงิน ทั้งเวลา รวมไปถึงสุขภาพ  คุณลองสำรวจเส้นทาง ไป-กลับ จับเวลาดูว่าใช้เวลาเท่าไร ต้องสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงานไปพร้อม ๆ กัน ( Work-Life Balance )

 

2. ความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ พร้อมเป้าหมายขององค์กร

การที่คุณจะพิจารณาส่งเอกสารสมัครงานเข้าไปองค์กรไหน เชื่อว่าเรื่องชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของบริษัทเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่คุณจะนำมาพิจารณาอยู่ในอันดับต้น ๆ และปัจจุบันยังสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทที่สนใจได้ง่ายและสะดวก และนอกจากข้อมูลประวัติของบริษัทโดยทั่วไปแล้ว ยังต้องพิจารณาและดูอีกว่าบริษัทนั้นมีภาพลักษณ์ในสายตาของคนทั่วไปอย่างไร เคยมีปัญหาหรือเกิดวิกฤตอะไรบ้าง ลองสอบถามจากคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักว่าบริษัทนี้เป็นอย่างไร

 

3. เงินตอบแทนและสวัสดิการ

เรื่องค่าตอบแทนถือเป็นเรื่องที่ถูกยกให้เป็นอันดับต้น ๆ ในการพิจารณาเข้าทำงานเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส ไปจนถึง วันหยุดพักร้อน ลากิจ ลาป่วยต่าง ๆ เราเองจะต้องเลือกว่าสิ่งตอบแทนการทำงานทั้งหมดนั้นคุ้มค่าหรือไม่  ลองหาข้อมูลดูว่าคนอื่น ๆ ที่ทำงานในสายงานเดียวกันได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการอย่างไร โดยเปรียบเทียบตัวคุณเอง หรือกับคนที่มีประสบการณ์และการศึกษาคล้ายคลึงกัน
 

ภาพ : Pixabay

 

4. หน้าที่ความรับผิดชอบและโอกาสในการเติบโตก้าวหน้า

คุณควรพิจารณาขนาดและโครงสร้างขององค์กรว่าตำแหน่งที่กำลังจะเข้าไปทำนั้นมีโอกาสเติบโตมากน้อยเพียงใด หากคุณมีความสามารถมากพอจะต้องมองให้ไกลกว่าปัจจุบัน และควรคิดทบทวนดูว่าตำแหน่งงานที่บริษัทเสนอมาให้กับคุณนั้นจะทำให้ได้เรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือทักษะการทำงานมากแค่ไหน แล้วตำแหน่งนั้นมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพหรือไม่

 

5. สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมในการทำงาน   

บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นปัจจัยในการพิจารณาอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรามีความสุขในการทำงานได้ สิ่งที่คุณพอจะทำได้คือ การสังเกตจากการเข้าไปสัมภาษณ์งาน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศภายในออฟฟิศ ไปจนถึงลักษณะของเพื่อนร่วมงานในอนาคต ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการสื่อสาร มนุษยสัมพันธ์ที่ดีของคุณด้วย   

 

6. กฎระเบียบและสัญญาจ้าง

ก่อนที่จะต้องจรดปากกาเซ็นสัญญา ควรอ่านสัญญานั้นอย่างละเอียด เพราะจะมีผลผูกมัดไปตลอดการทำงานของคุณหรือแม้แต่หลังจากที่คุณออกจากงาน  เช่น ในกรณีที่ตลาดธุรกิจของเรามีการแข่งขันกันสูง บริษัทจะต้องคิดเรื่องสัญญาอย่างรอบคอบ พวกเขาอาจมีเงื่อนไขให้คุณยอมรับว่าในอนาคตเมื่อคุณออกจากงานที่บริษัทแล้ว  คุณจะไม่สามารถไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งในวงการเดียวกันในระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับซึ่งอาจส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงธุรกิจ หรือหากคุณมีหน้าที่ดูแลลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบและข้อบังคับอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างกันตามค่านิยมของแต่ละบริษัท ถ้าคุณยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดได้ก็พร้อมที่จะเข้าทำงานได้โดยไม่ต้องกังวล
 

ภาพ : Pixabay

 

อย่างไรก็ตามหลักการและปัจจัยทั้งหมดนี้เมื่อคุณพิจารณาแล้วก็ต้องชั่งน้ำหนักว่างานนี้หมาะกับคุณหรือไหม ในทุก ๆ แง่มุม  เพราะบางครั้งงานที่คุณสมัครไปอาจไม่ได้มีทุกอย่างครบตามที่คาดหวัง แต่ขอให้พิจารณาองค์ประกอบที่ทำให้คุณคิดว่าถ้าได้ทำงานที่นี่แล้วจะมีความสุขกับงานและการใช้ชีวิตไปด้วยกัน  หากมั่นใจอย่างนั้นก็เตรียมพร้อมเดินหน้าสมัครงานให้ได้งานอย่างที่ตั้งใจได้เลย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow