Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สึนามิ

Posted By Ammay | 19 มิ.ย. 61
22,361 Views

  Favorite

การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนมักจะมองข้าม ทำให้ขาดความรู้และไม่สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยภัยพิบัติเหล่านี้มักจะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น กรณีของประเทศไทยที่เกิด “สึนามิ” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตนเองกำลังประสบกับอะไร ซึ่งได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากมายทั้งชาวไทยและต่างชาติ วันนี้เราจะมาดูกันนะคะว่า “สึนามิ” คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด และเรามีวิธีเอาตัวรอดอย่างไรบ้าง

 

ลักษณะของสึนามิ (tsunami)

คำว่า tsunami มาจากภาษาญี่ปุ่น โดยคำว่า สึ (tsu) แปลว่า อ่าว ส่วนคำว่า นามิ (nami) หมายถึง คลื่น ดังนั้น สึนามิ (tsunami) จึงมีความหมายว่า คลื่นอ่าวจอดเรือ (harbour waves) ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าบริเวณชาวฝั่งของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอ่าวจอดเรือทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น มักประสบภัยจากคลื่นสึนามิอยู่บ่อยครั้ง

 

สึนามิเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่เกิดได้จากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเล คลื่นที่เกิดขึ้นจากทะเลลึกจะเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งด้วยความเร็ว 700-800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งมีความเร็วพอ ๆ กับเครื่องบินเจ็ตเลยทีเดียว ความยาวคลื่นเมื่อเคลื่อนตัวในมหาสมุทรวัดจากยอดคลื่นลูกหนึ่งถึงยอดคลื่นอีกลูกหนึ่งได้ประมาณ 100-200 กิโลเมตร ขณะที่ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่ง และคลื่นที่เข้าสู่ชายฝั่งสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร ซึ่งมีพลังทำลายที่รุนแรงมาก คลื่นขนาดใหญ่เช่นนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล

 

สาเหตุการเกิดสึนามิ

สาเหตุของการเกิดสึนามิโดยทั่วไปแล้วมาจากแผ่นดินไหว โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใต้ทะเลเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งเข้าเสียดสีกับแผ่นเปลือกโลกอีกแแผ่นหนึ่ง กระทั่งแผ่นเปลือกโลกที่หนักกว่ามุดลงไปอยู่ใต้แผ่นที่เบากว่า ทำให้แผ่นเปลือกโลกที่เบากว่าเกิดการโก่งงอจากแรงกดดัน และเมื่อมันไม่สามารถรับแรงกดดันได้อีกต่อไปจึงเกิดการดีดกลับ ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา นอกจากนี้การเกิดสึนามิยังอาจมีสาเหตุมาจากการที่ภูเขาไฟระเบิดหรือการเกิดแผ่นดินเลื่อนถล่มใต้ทะเลหรือใกล้ชายฝั่งทะเลได้เช่นกัน

 

สำหรับแผ่นดินไหวนี้จะมีผลต่อระดับของน้ำทะเล กล่าวคือ เมื่อมีการสั่นสะเทือนอนุภาคน้ำจะกระเพื่อมขึ้นและลง จากนั้นจะแผ่กระจายคลื่นน้ำออกไปทุกทิศทาง ทำให้ความสูง ขนาด การเคลื่อนที่ และความเร็วของคลื่นน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีขนาดสูงสุดใกล้บริเวณชายฝั่ง ทำให้บริเวณแหล่งกำเนิดซึ่งอยู่ในทะเลแทบจะไม่ปรากฏผลกระทบจากคลื่นสึนามิ แต่ในทางกลับกันบริเวณชายฝั่งคลื่นสึนามิจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินบริเวณชายฝั่งได้มาก

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดสึนามิ

- เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยสึนามิหรือได้รู้สัญญาณตามธรรมชาติ ให้มีสติและรีบเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงทันที

- ติดตามฟังข้อมูลและการแจ้งเตือนฉุกเฉินอย่างใกล้ชิด

- หากอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลให้รีบหนีขึ้นที่สูงและอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งเท่าที่จะเป็นไปได้

- เมื่อได้ยินการเตือนภัย หากอยู่บนเรือ ให้นำเรือออกสู่ทะเลน้ำลึก

 

 

แหล่งข้อมูล
Britannica. tsunami. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2561
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ. 12 ขั้นตอนการเอาตัวรอดจากสึนามิ. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2561
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา. การปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2561
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ความหมายและลักษณะของคลื่นสึนามิ. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2561
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุพรรณบุรี. สาเหตุของคลื่นสึนามิ. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2561
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุพรรณบุรี. สาเหตุของแผ่นดินไหว. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2561
ITIC. What Causes Tsunamis? สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2561
Owlcation. What Causes a Tsunami? สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2561
Ready. Tsunamis. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2561
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow