Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยูนิเซฟ และ มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ชี้ปัญหาคุณภาพชีวิตเด็กข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง แนะภาคเอกชนผสานความร่วมมือเร่งแก้ไข

Posted By Plook News | 04 เม.ย. 61
2,591 Views

  Favorite

ยูนิเซฟ นำโดยนายโธมัส ดาวิน (ที่สามจากซ้าย) ผู้แทนองค์การ ประจำประเทศไทย และมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก นำโดยนายนิโคลา ครอสตา (ที่สองจากซ้าย) ผู้ก่อตั้ง ร่วมนำเสนอรายการวิจัยภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย: เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง” ซึ่งเสนอแนะ 12 แนวปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทในภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตของเด็กข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศไทย
 


โดยมีนายอภิชาติ จูตระกูล (ที่สี่จากซ้าย) ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และนายวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี (ที่หนึ่งจากซ้าย) ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ในแคมป์ก่อสร้าง

ยูนิเซฟ และ มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก เผยข้อมูลล่าสุด พบเด็กจำนวนมากในแคมป์ก่อสร้างกำลังประสบความท้าทายด้านคุณภาพชีวิตหลากหลายรูปแบบ พร้อมเสนอแนะ 12 แนวปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทในภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตของเด็กข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศไทยได้อย่างแท้จริง  

โดยในรายงาน “สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย: เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง” ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความท้าทายหลัก 4 ประการ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กข้ามชาติที่ต้องอาศัยอยู่ตามแคมป์ก่อสร้าง อันได้แก่
 


ระบบโครงสร้างพื้นฐาน: การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม อาทิ มีห้องอาบน้ำและห้องสุขาที่ไม่เพียงพอ และห้องน้ำที่ไม่แยกเพศ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดทางเพศ

สิทธิ: พบความเสี่ยงด้านการถูกกีดกันทางสังคมที่มากขึ้น รวมถึงการถูกแบ่งแยก การถูกละเลย และการใช้ความรุนแรง โดยพบว่าเด็กจำนวนเก้าในสิบคนที่ให้สัมภาษณ์ในรายงาน เคยเห็นพวกผู้ใหญ่ทะเลาะกันและใช้ความรุนแรง หรือประสบกับความรุนแรงด้วยตนเอง ทั้งจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

สุขภาพ: การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง โดยผู้ปกครองจำนวนหนึ่งในห้าคนที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานกล่าวว่า บุตรหลานในครอบครัวไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐาน และเกือบครึ่งกล่าวว่าลูกหลานของตนบางคนไม่มีบัตรประกันสุขภาพ

การศึกษา: เด็กในแคมป์ก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนและได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดหลายประการ อาทิ การต้องย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ การไม่รู้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาของตนเอง การไม่เข้าใจภาษาและไม่สามารถสื่อสารได้ รวมถึงไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่การสนับสนุนของรัฐไม่ได้ครอบคลุมถึง
 


รายงานการวิจัยนี้ ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เด็กได้รับ แต่รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ภาพลักษณ์ด้านบวกต่อตัวแบรนด์ในหมู่ผู้ลงทุน การรักษาแรงงานภายในองค์กร และประสิทธิภาพของการทำงานที่เพิ่มขึ้น

โดยแนวปฏิบัติทั้ง 12 ประการในกรอบปฏิบัติการ ได้เสนอแนะข้อกำหนดที่บริษัทสามารถนำไปวางแผนและลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นบุตรหลานของพนักงานภายใต้การดูแลได้จริง รวมถึงขยายผลโครงการไปสู่การช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างได้ผลทั่วประเทศ

ปัจจุบัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์และบริษัทรับเหมาก่อสร้างจำนวนมากเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเด็ก ๆ ในแคมป์ก่อสร้าง อาทิ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก และกิจกรรมฝึกอบรมสำหรับคนงานก่อสร้าง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขสำหรับบุตรหลาน ซึ่งกรอบปฏิบัติการได้แสดงให้เห็นว่าโครงการเหล่านี้สามารถปฏิบัติและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประชากรเด็กที่ด้อยโอกาสได้จริง หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน  
 


นายนิโคลา ครอสตา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กกล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสร่วมงานกับบริษัทต่าง ๆ มากมายเพื่อปรับปรุงด้านที่พักอาศัยและการดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสิทธิเด็ก ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่อาศัยอยู่ที่แคมป์ก่อสร้าง แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้ผล และไม่เพียงเป็นแค่ช่วยให้พวกเด็ก ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ยังส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยนั้น มีอยู่จริง แต่สิ่งที่เราขาดอยู่ในตอนนี้คือ การลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้น ซึ่งกรอบปฏิบัติการนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้บริษัทต่าง ๆ หน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในการพัฒนาความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของเด็ก ๆ ซึ่งถ้าหากสามารถพัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยจะมีส่วนสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่จะส่งผลดีและก่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กรุ่นต่อ ๆ ไป”

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยมีนโยบายและกฎหมายในการสนับสนุนให้เด็กทุกคนในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ ได้เข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีอุปสรรคที่เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ และด้วยจำนวนโครงการก่อสร้างที่มีในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ทุกบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องเผชิญ และร่วมใจกันนำกรอบปฏิบัติการนี้ไปปรับใช้ เริ่มลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น และเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย”
 

ดาวน์โหลดรายงานการวิจัย

ภาษาไทย: https://uni.cf/2GBKB6n

ภาษาอังกฤษ: https://uni.cf/2pzJF7R

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow