Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

4 เทคนิคสอนลูกเล็กไม่ให้เป็นเด็กขี้วีน

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 30 มี.ค. 61
9,845 Views

  Favorite

ไม่ว่าใครก็อยากให้ลูกเติบโตมาเป็นที่รักของทั้งคนในครอบครัวและคนในสังคมใช่ไหมล่ะคะ และพฤติกรรมหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนกังวลว่าจะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นเด็กที่ไม่น่ารักและไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง ก็คือพฤติกรรมการวีนหรือการเป็นเด็กขี้โมโหนั่นเอง

 

โดยปกติแล้ว เด็ก ๆ จะเริ่มมีพฤติกรรมการเหวี่ยง วีน ที่ไม่ใช่การร้องงอแงแบบเด็กเล็ก ๆ ก็เมื่อเข้าช่วง 2 -3 ขวบปี หรือบางคนอาจจะมาเร็วหรือช้ากว่านั้น ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีศัพท์เฉพาะที่เรียกกันว่า “Terrible Two” โดยในช่วงวัยนี้ กำลังเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงขวบปีแรกอย่างมาก ทั้งร่างกายที่เริ่มสมบูรณ์ สามารถเดินเหินได้ตามใจ

 

พัฒนาการทางภาษาที่เริ่มจะมีมากขึ้น เริ่มรู้จักการปฏิเสธ มีการโต้ตอบ ซึ่งความสามารถเหล่านี้ เป็นเรื่องใหม่สำหรับเด็ก ๆ และทำให้เขาอยากจะที่รู้ อยากที่จะลอง อยากที่จะท้าทาย อยากที่จะทดสอบว่าตนเองมีอำนาจหรือมีอิทธิพลต่อผู้อื่นมากแค่ไหน จึงเป็นเหตุให้พวกเขากลายเป็น “เด็กขี้โมโห” ในสายตาของผู้ใหญ่ไปในหลาย ๆ ครั้ง

 

แต่ทั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่มาตามธรรมชาติของช่วงวัย ทว่าหากเรารับมือไม่ถูกวิธี พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจจะยังคงอยู่ และติดตัวกลายเป็นนิสัยของเด็กไปได้ ครูพิมจึงอยากจะนำเคล็ดลับในการรับมือและฝึกฝนเด็ก ๆ ที่เริ่มแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อุ่นใจและตอบสนองต่อเด็กได้อย่างเหมาะสม และเทคนิคที่จะนำเสนอในวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่นำไปใช้กันได้แทบจะทุกสถานการณ์เลยค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. ตอบสนองต่ออารมณ์ลูกให้ถูกวิธี

จุดที่สำคัญที่สุดเมื่อเด็กเริ่มที่จะระเบิดอารมณ์หรือแสดงความก้าวร้าวก็คือ การแสดงออกของพ่อแม่ ทันทีที่เด็กเห็นปฏิกิริยาโต้กลับของเรา เด็กจะรู้เลยว่าเขาแสดงพฤติกรรมนั้นได้หรือไม่ หากเขาเห็นว่าเครื่องเราก็เริ่มติด แน่นอนว่าเด็กก็ไม่คิดจะเบรกตัวเองแน่นอนค่ะ แต่หากเราเย็นเข้าไว้ เด็กจะสงบลงเอง (อาจจะสงบลงเล็กน้อย แต่นับเป็นสัญญาณที่ดี) เพราะโดยธรรมชาติของเด็กนั้น ต้องการความสนใจจากผู้ปกครอง การที่เราเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขา จะทำให้เขาเริ่มลดการทำพฤติกรรมนั้น ๆ ลงตามธรรมชาติค่ะ

 

2. ตรวจสอบแหล่งที่มาของการวีน

คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจลืมที่จะสังเกตหรือสอบถามว่าลูกต้องการอะไร หรือไม่ได้หาสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมโวยวายนั้น ซึ่งบางครั้งอาจมาจากสาเหตุธรรมดา ๆ อย่างความหิว เหนื่อย ง่วง หรือบางครั้งอาจเป็นการที่เด็กต้องการให้เราสนใจ หรือเกิดความหงุดหงิดใจจากอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเราไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ก็จะทำให้เราสอนหรือช่วยเหลือเด็กได้ไม่ตรงจุดนั่นเองค่ะ

 

3. ใช้คำอธิบายกับลูกให้ชัดเจน แทนการบอกว่า “ไม่” หรือ “อย่า”

เมื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว และลูกเริ่มสงบลงแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาบอกเหตุผลกันค่ะว่า สิ่งที่เด็กทำนั้นไม่ดีอย่างไร หรือเหตุผลที่เราตามใจในสิ่งที่เขาเรียกร้องไม่ได้ เพราะอะไร โดยให้เราพูดเพียงแค่ใจความสั้น ๆ ใช้คำง่าย ๆ แต่ชัดเจน หนักแน่น เช่น “พูดเบา ๆ ครับ/ค่ะ” แทนการบอกว่า “อย่าเสียงดัง” หรือ “บอกดี ๆ ว่าหนูจะเอาอะไร” แทนการพูดว่า “อย่าทำแบบนี้ / อย่าตีแม่”

 

4. ให้เวลากับการปรับอารมณ์ของลูก

จุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมากทีเดียวค่ะ หลาย ๆ ครั้งที่เราพาเด็กมาถึงจุดที่สงบลงแล้ว แต่กลับเป็นคนที่ระเบิดอารมณ์เสียเอง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเห็นว่าเสียเวลา หรือเด็กไม่หยุดอาละวาดเสียที เราก็เปลี่ยนทางเลือกไปใช้การตี การตวาด หรือยอมตามใจ ซึ่งเมื่อมีครั้งที่ 1 ก็มีครั้งอื่น ๆ ตามมาอีกแน่นอน เพราะเด็กได้เรียนรู้แล้วว่า เมื่อเขาอาละวาด เขาก็จะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เด็กจึงยังคงทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่องนั่นเองค่ะ

 

สำหรับเทคนิคที่ครูพิมแนะนำนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์จริง และตามลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคน และแน่นอนว่า ไม่มีหลักสูตรหรือเทคนิคใดที่จะใช้ได้ผลแบบตายตัว อีกทั้งผู้ปกครองเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนขั้นตอนเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมของลูก ก็คือเราต้องเข้าใจที่มาของพฤติกรรมนั้น แล้วแก้ไขในเชิงบวกอย่างถูกวิธีและมีหลักการ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่ “ความเรียบง่ายแต่หนักแน่นมั่นคง” ตามที่ครูพิมได้อธิบายไปในแต่ละขั้นตอนแล้วนั่นเองค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow