Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เชิญชวนร่วมงาน SID “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จุดพลังสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม ให้สังคมไทย

Posted By Plook News | 21 มี.ค. 61
2,695 Views

  Favorite

เพราะ “นวัตกรรม” ไม่ได้เป็นเพียงกุญแจที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ไม่ได้แค่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาการเติบโตจากการส่งออกและลงทุนต่างประเทศไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่มาจากฐานความรู้ แต่นวัตกรรมยังสามารถเปลี่ยนแปลงสังคม และเป็นเครื่องมือในการสร้างอนาคตสังคมที่ดีขึ้น 
 


ซึ่งเป็นอนาคตที่ดีของคนทุกคน ไม่ใช่เพียงอนาคตที่ดีของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งโครงการ “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” (Siam Innovation District) หรือ SID ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ที่นี่เป็นสังคมอุดมปัญญา เป็นศูนย์กลางที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยให้สังคมไทยปรับตัวก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม อีกทั้งเพื่อให้เมืองแห่งนี้เป็นเวทีที่จะเปิดโอกาสให้นวัตกรนำนวัตกรรมที่คิดสร้างสรรค์มานำเสนอสู่สายตาบุคคลทั่วไป และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้นวัตกรรมของไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลในอนาคต

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า SID มีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา เราจึงได้วางพันธกิจของ SID ไว้ 4 ประการ คือ การเป็น Industry liaison โดย SID จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนสถาบันการศึกษาได้อย่างตรงจุดยิ่งขั้น ซึ่งพันธกิจนี้ประกอบด้วยการจัดการสิทธิเทคโนโลยี การสร้างงานวิจัยที่สนับสนุนโดยภาคอุตสาหกรรม การร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ
 


พันธกิจต่อมาคือ Marketplace หรือการเป็นตลาดนวัตกรรม เนื่องจากประเทศไทยมีนวัตกรรมอยู่ไม่น้อยแต่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้หรือที่เรียกกันว่า “ถูกเก็บไว้บนหิ้ง” ไม่ใช่เพราะนวัตกรรมที่มีอยู่ไม่ดี แต่เป็นเพราะเราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ผลงานเหล่านั้นออกสู่สังคม SID จึงเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่ให้นวัตกรรมออกจาก “หิ้ง” สู่ “ห้าง” เปิดตัวสู่ตลาด ให้ผู้คนได้เลือกใช้หรือหยิบไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ภายใต้พันธกิจนี้ย่านสยามสแควร์จะกลายเป็นตลาดนัดนวัตกรรม เป็นจุดนัดพบของคนที่มีความสามารถในการคิด กับคนที่มีความสามารถในการทำ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพันธกิจนี้ ได้แก่ การลงทุนและการสร้างหุ้นส่วนในนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการจับคู่ผู้มีความสามารถ

นอกจากนี้ SID ยังมีพันธกิจเป็น Futurium หรือการฉายภาพอนาคตและการร่วมสร้างอนาคต โดยมุ่งกระตุ้นให้เกิดการร่วมคิด ร่วมอภิปราย และร่วมกันสร้างอนาคตของสังคมไทยในเรื่องต่าง ๆ เช่น วิถีชีวิตในอนาคต อนาคตของการอยู่อาศัย อนาคตของอาหารการกิน อนาคตการเดินทาง อนาคตการเรียนรู้ อนาคตการเงินการธนาคาร อนาคตทรัพยากรน้ำและพลังงาน ฯลฯ เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมผ่านการหารือและร่วมมือกันสร้างอนาคต บูรณาการข้ามศาสตร์สาขาต่าง ๆ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม และประชาชน โดยจะมีการเปิดพื้นที่บริเวณสยามสแควร์เป็นห้องทดลองแห่งอนาคตสำหรับสังคมไทย
 


พันธกิจสุดท้ายคือ Talent Building หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในเรื่องนี้เกิดจากแนวคิดว่าหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “คน” SID จึงถือเอาการพัฒนาคนเป็นพันธกิจที่สำคัญที่สุด คือการสร้างคนดีและคนเก่งของประเทศผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประกวดแข่งขันและการต่อยอด การประชุมสัมมนา การสร้างเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษา และโครงการบ่มเพาะและขยายผลทางธุรกิจ

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 เมืองนวัตกรรมแห่งสยามจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมอุดมปัญญาตามเป้าหมาย จุฬาฯ จึงได้คิกออฟฟิศด้วยการจัดงาน Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นในงานนี้จะทำให้ผู้ร่วมงานเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อข้ามเวลาไปอยู่ในยุค 2030 ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง

โดยจะดำเนินการผ่าน 3 ประเด็นหลัก คือ ชีวิตและความเป็นอยู่ (Life and Living) การคมนาคม (Mobility) และการศึกษาเรียนรู้ (Learning) ซึ่งจะจัดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ อาทิ เวทีสัมมนาสาธารณะเรื่องอนาคต งานเทศกาลภาพยนตร์แห่งอนาคต ชุดสื่อสาธารณะอนาคต พื้นที่กลางสาธารณะร่วมสร้างอนาคต ห้องทดลองแห่งอนาคต และยังมีการพูดคุยกับ BNK48 ในหัวข้อ City of New Generation รวมทั้งการจัดตลาดนัดนวัตกรรม นำเสนอผลงานนวัตกรรมจากโครงการนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
 


“ถ้าเป็นไปได้ ทุกคนคงอยากรู้อนาคต เพราะอนาคตจะส่งผลถึงทุกคน ซึ่งอนาคตของสังคมที่ดีไม่ควรถูกกำหนดจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม แต่ควรเป็นอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดได้ งาน Our Futures 2030 จึงเป็นโครงการทดลองภายใต้ความริเริ่มเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เพื่อนำเสนอแนวความคิดและริเริ่มกลไกที่นำอนาคตมาเป็นเครื่องมือออกแบบและขับเคลื่อน โดยการร่วมสร้างของกลุ่มคนที่หลากหลายเพื่อนำพาสู่สังคมที่เป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนให้มาร่วมงาน จะได้มาร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคตด้วยกัน” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
 


สำหรับงาน Our Futures 2030 จะจัดขึ้นวันที่ 22 - 25 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และทางเชื่อมสถานี BTS สยาม ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในงานได้ที่ https://siaminnovationdistrict.com/our-futures-2030/

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่เพจเฟสบุ๊ค : Siam Innovation District Official: เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม 
 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow