Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเล็ก

Posted By Plook Parenting | 21 มี.ค. 61
3,867 Views

  Favorite

โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี เกิดจากระบบทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เด็กไออย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หากไม่รีบรักษาอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอีกมากมาย

 

โรคไอกรน (Pertussis) คือโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม) ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุไม่เกิน 7 ปี เสียงการไอของโรคนี้จะแตกต่างไปจากการไออื่น ๆ โดยมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Whooping Cough คือ เป็นเสียงไอลึก ๆ สลับกับการไอเป็นชุด เนื่องจากผู้ป่วยหายใจไม่ทันหลังการไอ

 

โรคไอกรน เป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วย หากเกิดขึ้นในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอจึงรับเชื้อโรคไอกรนได้ง่าย ในเด็กทารก อาจจะไม่มีอาการไอ แต่มีหยุดหายใจและเขียว ซึ่งอาจะทำให้เสียชีวิตได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการ

ระยะต้น

เด็กจะมีน้ำมูกไหล รู้สึกแน่นจมูก ไอเล็กน้อยเหมือนเป็นหวัด ระยะนี้จะคงอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์

ระยะรุนแรง

เด็กมีอาการไอรุนแรงติดกันแบบไม่มีจังหวะพัก และเมื่อไอเสร็จแล้วเด็กจะพยายามหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงดัง เนื่องจากเด็กหายใจไม่ทัน ในเด็กเล็กอาจมีอาการเขียวเนื่องจากไอรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ ในระยะนี้เด็กจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว งอแงง่าย และมักร้องกวน โดยกินเวลาประมาณ 10-14 วัน

ระยะฟื้นตัว

หลังจากผ่านระยะรุนแรง อาการไอของเด็กจะค่อย ๆ ลดลง ไม่รุนแรงเท่าระยะแรกที่เป็น และหายไปในเวลา 6-10 สัปดาห์

 

วิธีป้องกัน

1. พาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน

วัคซีนป้องกันโรคไอกรนสำหรับเด็ก มักฉีดเมื่อเด็กอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี โดยวัคซีนไอกรนนี้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ โดยรวมอยู่ในกลุ่มคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สำหรับเด็กโต อายุ 10-12 ปีก็สามารถฉีดวัคซีนนี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันได้เช่นกัน โดยหลังจากที่ฉีดแล้วควรกระตุ้นซ้ำทุก ๆ 10 ปี

2. หลีกเลี่ยงผู้ที่ป่วยเป็นโรคไอกรน หรือผู้ที่ไอจามไม่ปิดปาก

อาการของโรคไอกรนในระยะแรกจะคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัด คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กคลุกคลีหรืออยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการดังกล่าว หรือผู้ที่ไอจามโดยไม่ปิดปาก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกได้รับเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อาจสวมหน้ากากป้องกันให้ลูกก่อนออกจากบ้าน ก็ช่วยป้องกันได้อีกทางหนึ่ง

3. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

สุขภาพที่แข็งแรงเป็นเกราะต้านทานโรคภัยชั้นดี คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพของลูกอย่างสม่ำเสมอ ให้ลูกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมต่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ

4. ฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ในครรภ์

ปัจจุบันมีคำแนะนำใหม่สำหรับหญิงตั้งครรภ์อายุ 27 สัปดาห์ขึ้นไป (ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์) ควรได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก (Tdap) กระตุ้น 1 เข็ม เพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนไปยังทารกในครรภ์ 

 

โรคไอกรนเป็นโรคทางเดินหายใจที่สังเกตได้ค่อนข้างง่าย เพราะมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์ หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการไอผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากถ้าปล่อยไว้ระยะเวลานานเกินไป เด็กอาจมีโรคแทรกซ้อน และก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow