Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

9 วิธีเพิ่มประสิทธิภาพสมอง

Posted By sanomaru | 06 มี.ค. 61
36,264 Views

  Favorite

เราทุกคนล้วนอยากเป็นคนเก่ง มีสมองที่เฉลียวฉลาดและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่พออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองกลับลดลง ทำงานได้ช้าลง อีกทั้งยังมีอาการหลงลืมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนมากที่เปิดเผยถึงวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของสมอง ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

 

1. การออกกำลังกาย

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพกาย รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อสมองของเราด้วย โดยงานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่า เด็กที่มีการออกกำลังกายมีแนวโน้มที่เนื้อสมองสีเทาในบริเวณสมองส่วนหน้าและสมองส่วนด้านข้างจะมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต่อการทำงาน การควบคุม การเรียนรู้ และกระบวนการมองเห็น

 

การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการคิดของผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางการรับรู้ในระดับปานกลาง รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของหน่วยความจำระยะสั้นและปรับปรุงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และความเข้าใจ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) ซึ่งหมายถึงการออกกำลังกายแบบที่ต้องใช้ออกซิเจน เพราะพบว่ามีการแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณเนื้อสมองส่วนที่เป็นสีเทา  

 

2. การอ่านหนังสือนิยาย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการอ่านนั้นเป็นงานอดิเรกที่มีประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ได้ความรู้จากสิ่งที่อ่าน แต่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า การอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือนิยาย เป็นประโยชน์ต่อสมองอย่างมาก มันช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงและการทำงานของสมอง นำไปสู่สมาธิที่ดีและความมุ่งเน้นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มทักษะการเขียน ความคิดสร้างสรรค์ ลดความเครียด มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่า การอ่านทำให้คุณฉลาดขึ้นโดยการเพิ่มทักษะทางการเจรจาและความสามารถในการใช้เหตุผล รวมถึงช่วยชะลอการลดลงของหน่วยความจำ

 

3. การเต้นรำ

การเต้นรำเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ผู้เต้นรู้สึกสนุกสนาน อีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกายไปให้ตัว แต่ประโยชน์ของการเต้นรำที่เราคาดไม่ถึงเลยก็คือ ผลต่อสมอง โดยรายงานจากวารสารทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษ ประเมินถึงผลของกิจกรรมสันทนาการที่มีต่อสุขภาพจิตของผู้เข้าร่วมงานวิจัย ซึ่งมีอายุมากกว่า 75 ปี และไม่มีผู้ใดที่เป็นโรคสมองเสื่อม จำนวน 469 คน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ระหว่างการเล่นเกมบอร์ด การเต้นรำ และการอ่านหนังสือ การเต้นรำช่วยกระตุ้นจิตใจและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม และหากทำกิจกรรมนี้อย่างสม่ำเสมอก็สามารถพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

 

4. เล่นดนตรี

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า การเล่นดนตรีช่วยให้เด็กฉลาดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า การเล่นดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้จริง มันสามารถพัฒนาความจำระยะยาวและนำไปสู่การพัฒนาสมองให้ดีขึ้นเมื่อเริ่มต้นเล่นดนตรีตั้งแต่อายุน้อย ๆ การเรียนรู้ที่จะเล่นเครื่องดนตรียังช่วยเพิ่มความจำและทักษะการอ่าน โดยงานวิจัยในปี 2011 จาก The Auditory Neuroscience Laboratory มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สรุปว่า ทั้งความสามารถด้านดนตรีและทักษะการรู้หนังสือเป็นความสัมพันธ์ทางชีววิทยาที่ผ่านกลไกลประสาทและความรู้ความเข้าใจ Glenn Schellenberg นักจิตวิทยาอธิบายว่าดนตรีสามารถยกระดับสติปัญญาของผู้เล่นได้ โดยงานวิจัยของเขาพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ฝึกเล่นดนตรีมีการพัฒนาการทำงานในเชิงความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น

 

5. การงีบในตอนกลางวัน

Google บริษัทเซิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่มีกฎอนุญาตให้พนักงานงีบหลับในตอนกลางวันได้ อาจจะฟังดูแปลกสักหน่อย แต่มันเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน เพราะมีงานศึกษาวิจัยออกมาแล้วว่า การงีบหลับกลางวันนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนทุกวัย ส่งเสริมประสิทธิภาพทางปัญญาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยงานวิจัยยืนยันว่าการงีบกลางวันช่วยพัฒนาความจำ ขณะที่งานวิจัยอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าเพียงแค่การงีบหลับตอนกลางวัน 10 นาทีก็เป็นประโยชน์ต่อสมองด้วย ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ศึกษาผลกระทบของการงีบสั้น ๆ ต่อคุณภาพการนอนหลับ รวมถึงสุขภาาพจิตของผู้สูงอายุ ผลสรุปว่า ผู้สูงอายุซึ่งได้งีบตอนกลางวัน มีสุขภาพทางความคิดและร่างกายที่ดีขึ้น

 

6. การกินดาร์กช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตดูจะเป็นของหวานแห่งความอ้วนที่สาว ๆ หลายคนหลีกเลี่ยง แต่สำหรับดาร์กช็อกโกแลตแล้ว มันมีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนโลหิต เป็นแอนติออกซิแดนซ์ที่ดี มีคาเฟอีน ฟลาโวนอยด์ และธีโอโบรมีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสารเคมีที่ทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความตื่นตัวและมีผลต่อสุขภาพจิตที่ดี ตามงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการฉบับหนึ่งในปี 2009 ยังระบุว่า ดาร์กช็อกโกแลตเป็นอาหารที่เต็มไปด้วยฟลาโวนอยด์ ซึ่งสามารถส่งเสริมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การได้รับฟลาโวนอยด์จากโกโก้เป็นประโยชน์ในการเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปจนถึงเนื้อสมองสีเทาในซีรีบรัม ซึ่งทำให้ฉลาดขึ้นได้

ภาพ : Shutterstock

 

7. การฝึกจิตและทำสมาธิ

การฝึกจิตและทำสมาธิมีผลต่อการลดระดับความเครียด ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและช่วยลดฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ได้ เมื่อความเครียดลดลง สมองของเราก็ทำงานได้ดีขึ้น เพราะความเครียดเรื้อรังเป็นสาเหตุของการทำลายสมองอย่างแท้จริง ซึ่งนำไปสู่อาการหลง ๆ ลืม ๆ ทั้งยังมีผลต่ออารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์อ่อนไหว ไปจนถึงซึมเศร้าได้   

 

การฝึกจิตและทำสมาธิเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากการทดสอบสมองด้วยเครื่อง MRI พบว่า หลังการฝึกจิตและทำสมาธิเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ระบบประสาทส่วนซิมพาเทติก พาราซิมพาเทติก และอะมิกดาลา มีการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การลดลงของความเครียดและอาการซึมเศร้า ขณะที่สมองส่วน Prefrontal Cortex มีการตอบสนองต่อการทำงานที่ดีขึ้น ตื่นตัวขึ้น และมีการตัดสินใจที่ดีขึ้น

 

8. เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ

การเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ฝึกให้สมองได้ทำงาน ซึ่งมันจะกระตุ้นความสามารถในเรื่องของการรับรู้และความเข้าใจในทารก นักวิจัยจาก Higher School of Economics in Moscow ประเทศรัสเซีย ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ระบุว่า  การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของสมองและความสามารถในการเข้ารหัสข้อมูล โดยเครือข่ายประสาทจะตอบสนองต่อการประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้น ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า การพูดได้ 2 ภาษา หรือมากกว่านั้น สามารถช่วยชะลอการลดลงของการรับรู้และความเข้าใจซึ่งสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นได้ แม้ว่าจะมีการเรียนรู้ภาษาอื่นในวัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

 

9. เล่นวิดีโอเกม

การเล่นเกมไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นก่อนมากนัก เพราะเข้าใจว่ามันทำให้เด็กเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้เด็กบางคนยังเกิดภาวะติดเกมจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น และจากงานศึกษาวิจัยบางงานก็ยังพบว่า การเล่นเกมสามารถทำให้เกิดการเสพติด เพิ่มภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความก้าวร้าว ไปจนถึงสมาธิสั้นได้ จึงไม่ควรหมกหมุ่นกับเกมมากจนเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเกมจะมีแค่ผลในทางลบเท่านั้น เพราะจากงานศึกษาวิจัยอื่น ๆ ได้พบแง่มุมบวกของการเล่นเกมด้วย โดยมีงานศึกษาวิจัยหลายงานที่ระบุว่า การเล่นเกมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างมือและตา การแก้ปัญหา ตลอดจนทักษะในการตัดสินใจ การเล่นกมยังช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ ๆ (Neurogenesis) ความสามารถของสมองในการปรับตัวตามประสบการณ์หรือการเรียนรู้ (Neuroplasticity) ขนาดของสมอง และการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทอีกด้วย

 

Daphne Bavelier นักประสาทวิทยา ทำการทดลองแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เล่นวิดีโอเกมประเภทเกมแอ็กชั่น จะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่เร็วขึ้นและมีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และพวกเขายังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่แตกต่างได้อย่างรวดเร็ว

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- เล่นเกมก็ช่วยพัฒนาสมองได้
- สมองของคนพูดสองภาษา
- การทำสมาธิเปลี่ยนแปลงสมองได้
 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow