Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคโนโลยีชีวภาพกับการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Posted By thaiscience | 03 พ.ค. 61
9,336 Views

  Favorite

นักวิทยาศาสตร์หวังว่าการนำแบคทีเรียมาย่อยสลายพลาสติกจะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ของธุรกิจการรีไซเคิลขยะ

 

โครงการ BIOCLEAN ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ได้พัฒนากระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบของมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติก โดยจะช่วยภาคผู้ผลิตพลาสติกสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลขยะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่สามารถย่อยสลายพลาสติกชนิดต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

โดยเริ่มแรก โครงการ BIOCLEAN ได้คัดเลือกและแยกเชื้อจุลินทรีย์ออกมาจากขยะพลาสติกซึ่งเก็บมาจากทะเล สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย สถานที่ผลิตปุ๋ยหมัก โรงงานบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้ออกซิเจน และนิคมอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อน จากนั้นก็จะทำการทดสอบและคัดเลือกแบคทีเรียและเชื้อราที่สามารถย่อยสลาย ลดความเป็นพิษ และเพิ่มประโยชน์ให้แก่ขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

โดยแบคทีเรียที่มีแนวโน้มที่จะให้ผลที่น่าพอใจจะถูกนำมาผ่านสารเคมีก่อนนำไปทดสอบการย่อยสลายพลาสติกประเภทต่าง ๆ จากนั้นกระบวนการย่อยสลายโดยแบคทีเรียก็ถูกขยายไปใช้ในสถานที่ผลิตปุ๋ยหมักของเทศบาลของเกาะ Crete ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของแบคทีเรียที่เอื้อประโยชน์ต่อการสลายพลาสติกตามธรรมชาติ

ภาพ : Shutterstock

 

ในเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำวัสดุอย่างพลาสติกมาเพิ่มคุณค่าและนำกลับมาใช้ใหม่หลังจากถูกทิ้ง จะก่อให้เกิดผลดีอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการรีไซเคิลขยะ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบได้ว่าพลาสติกสังเคราะห์ก็สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในทะเล สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย สถานที่ผลิตปุ๋ยหมักและดินได้เช่นเดียวกันแต่กระบวนการและสภาวะที่จำเป็นต่อการย่อยสลายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

 

ดังนั้น โครงการ BIOCLEAN จึงช่วยนักวิทยาศาสตร์หาความกระจ่างถึงกระบวนการนั้น และได้ชี้ให้เห็นว่าวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยย่อยสลายพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยทางโครงการได้มุ่งเน้นการสลายพลาสติกประเภท พีวีซี โพลีสไตรีน โพลีเอทิลีน และโพลีโพรพิลีน เพราะเป็นประเภทพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม และก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก 

 

การค้นพบวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพจะนำมาซึ่งประโยชน์หลาย ๆ อย่างต่ออุตสาหกรรมพลาสติก เช่น  สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเนื่องจากสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ในอัตราที่สูงขึ้นได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้นถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมหลายประเภทตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์อาหาร

 

พลาสติกประเภทที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติได้เริ่มก่อให้เกิดมลพิษอย่างจริงจังในมหาสมุทรหลาย ๆ แห่งทั่วโลก โดยพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ นั้นมีโครงสร้างที่สามารถทำให้สิ่งปนเปื้อน และสารเคมีมารวมตัวกันจนก่อให้เกิดเป็นมลพิษในทะเล อีกทั้งการขาดแคลนจุดจัดเก็บขยะตรงท่าเรือก็ถือเป็นตัวการที่ทำให้กระบวนการนำขยะพลาสติกในทะเลมาใช้ใหม่ไม่สามารถเกิดได้สำเร็จและผลที่ตามมาก็คือ พลาสติกที่เป็นพิษเหล่านี้ไม่ถูกเก็บขึ้นมาจากทะเล แต่กลับถูกโยนกลับลงไปในทะเลอีกครั้งหนึ่ง และแม้ว่าขยะพลาสติกจะถูกเก็บขึ้นจากทะเล แต่สุดท้ายมันก็จะต้องถูกนำไปฝังหรือเผาซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนของขยะมูลฝอยที่อยู่บนบก

 

ที่มา: http://cordis.europa.eu/news/rcn/124520_en.html

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow