Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

School of Changemakers เปิดตัวโครงการบ่มเพาะนักสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

Posted By Plook News | 20 ก.พ. 61
2,369 Views

  Favorite

School of Changemakers เปิดตัวในฐานะ Social Incubator ให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่สนใจแก้ปัญหาสังคม พร้อมจัดงานสัมมนา “Bridging the gap, the road to social change 4.0” เผยคนรุ่นใหม่ มีความตั้งใจ แต่ยังขาดทักษะและเครื่องมือในการทำกิจการให้ยั่งยืน

คุณเกียรติรัตน์ ทองผาย (ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) /คุณชลณัฏฐ์ โกยกุล(พิธีกร) / คุณสินี จักรธรานนท์ (ผู้อำนวยการมูลนิธิ อโชก้า ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม ประเทศไทย)/ คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ (ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers) / คุณนพเกล้า สุจริตกุล (ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) / คุณธนัน รัตนโชติ (Founder & CEO PLANT:D)
 


School of Changemakers (SoC) ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะ “Social Incubator” ให้การบ่มเพาะและคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจริเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม หลังจากอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสังคมมานานเกือบ 5 ปี โดยงานจัดขึ้น ณ  Learn Hub Co Learning Space ชั้น 4 อาคารธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและที่มาขององค์กรว่า School of Changemakers เดิมเป็นโครงการหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ มูลนิธิอโชก้า ผู้ริเร่ิมสร้างสรรค์เพื่อสังคม ประเทศไทย เมื่อปี 2555 เนื่องจากเล็งเห็นช่องว่างและปัญหาของผู้ที่สนใจริเร่ิมโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ต้องการความรู้เครื่องมือ ในการฝึก “ทักษะผู้ประกอบการ” และสร้าง “นวัตกรรม” ไปจนถึงที่ปรึกษา และการเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถผลักดันกิจการหรือโครงการให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ SoC จึงได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในลักษณะของโครงการพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำ ช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาทักษะ ไอเดีย ไปจนถึงเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจหรือโครงการเพื่อสังคมเหล่านั้นได้พัฒนาต่อจนสามารถทำได้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เครื่องมือ และบางเรื่องต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย ไปจนถึงหน่วยงานสนับสนุน งานของ SoC จึงพยายามเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน และช่วยย่นย่อระยะเวลาในสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ
 

 

“ที่จริงเราดำเนินงานมาแล้วประมาณ 5 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากสสส. มีการจัดกิจกรรมและโครงการมากมายและผ่านประสบการณ์เพาะบ่มผู้ที่สนใจและผู้ประกอบการมาจำนวนมากพอควร จนเราเห็นว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม ทั้งกระแสธุรกิจเพื่อสังคมที่มาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ และการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน ทำให้เราตัดสินใจจัดตั้งองค์กรในรูปแบบกิจการเพื่อสังคมแบบเต็มตัวและเปิดตัวในฐานะ Social Incubator เพื่อช่วยสนับสนุนและสานฝันผู้หวังจะประกอบกิจการเพื่อสังคมให้มากขึ้น และแบ่งปันความรู้การบ่มเพาะผู้ประกอบสังคม กับหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าจะส่งผลดีทั้งต่อสังคมและภาคธุรกิจควบคู่กันไปด้วย”

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ยังได้มีเวทีสัมมนา ในหัวข้อ “Bridging the gap, the road to social change 4.0” โดยมีแขกรับเชิญจากองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบสนับสนุนนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและผู้ประกอบการสังคมในประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญ ทิศทางและช่องว่างของระบบสนับสนุนผู้ประกอบการสังคมในประเทศไทย
 

 

ในช่วงต้นของการสัมมนา  คุณพรจรรย์ ได้กล่าวถึงภาพรวมของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยว่า “2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มต้นขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 มุ่งหน้าพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ลงมาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่ต่างตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการสร้าง “ผู้ประกอบการ” และ “นวัตกรรม” ผ่านการสนับสนุนด้าน Start Up และ SME อย่างมากมาย  แนวโน้มความต้องการนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) และผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) ก็เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากภาคส่วนต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาสังคมที่สะสมมาเป็นระยะเวลานานและทวีความรุนแรง เทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูลความรู้ ทำให้คนทั่วไปที่สนใจปัญหาสังคม สามารถเร่ิมกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อเป็นส่วนนึงในการแก้ปัญหาสังคมและยังทำเป็นอาชีพได้ หากแต่ยังมีความท้าทายในการเร่ิมต้น ในพัฒนาสินค้าหรือบริการที่แก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ความพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมๆกับสร้างความยั่งยืนทางการเงิน”

คุณพรจรรย์ ชี้ให้เห็นว่า ทำไมการมี Incubator จึงเป็นเรื่องสำคัญ “ในขั้นตอนพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่(Start Up) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการเพื่อสังคมต้องทำความเข้าใจและมองหาโอกาสในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ก่อนจะทดสอบแนวความคิด ลงมือทำ และที่สำคัญ ควรจะต้องมีวัดผลกระทบทางสังคมด้วย เพราะกิจการเพื่อสังคมไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของผลกำไรเป็นหลัก จึงไม่ได้นำผลประกอบการมาเป็นตัวชี้วัดเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่ใช้เกณฑ์ของการแก้ไขปัญหาตามโจทย์ แล้วจึงสร้างรายได้เพื่อการสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหา ดังนั้น จึงควรมีการวัดผลกระทบทางสังคมด้วยว่า สิ่งที่ทำลงไปมันได้ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้หรือไม่ และการมี Incubator จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นใหม่สามารถมุ่งไปในแนวทางที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมากนัก ทั้งยังช่วยให้เห็นปัญหา มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น”
 


คุณเกียรติรัตน์ ทองผาย ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งให้เกียรติมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์บ่มเพาะผู้ประกอบการ กว่า 200 ราย ว่าปัญหาหลักของธุรกิจเกิดใหม่ (start up) ในระยะเริ่มต้น ก็คือ 1.การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาด สอดคล้องกับ Business Model ที่ดี  2.ทีมงานที่ลงตัว รวมถึง 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันภาคเอกชนเอง ก็มีความอยากที่จะลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ส่วนใหญ่จะสเกลเล็กเกินไปจนอาจไม่คุ้มการลงทุน ปัญหาช่องว่างในเรื่องเงินทุนกับการดำเนินงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องหาทางจูนกันอยู่แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ Business Model ที่ดีทำให้เงินทุนอาจจะจำเป็นน้อยลง

“การทดสอบสินค้าหรือบริการต้นแบบ (Prototype) อาจจะใช้เวลา 3-6 เดือน จากนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับหากลไกและรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินงาน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลานานถึง 3 ปี  เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและตลาดได้  จากประสบการณ์พบว่าช่องว่างของการสนับสนุนเงินทุนยังค่อนข้างกว้าง เงินสนับสนุนสำหรับทำ prototype ก้อนเล็กหาได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันนักลงทุนส่วนมากต้องการร่วมลงทุนเมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต มีฐานลูกค้าของตนเอง ซึ่งมูลค่าการเริ่มต้นลงทุนอยู่ที่ 10 ล้าน
 


ขึ้นไป ในขณะที่เงินทุนระยะกลางที่ธุรกิจจะต้องใช้ดำเนินการหลังจากทำ prototype จนได้รูปแบบที่เหมาะสมนั้นยังคงขาดอยู่ ประกอบกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน แต่ยังขาดประสบการณ์ ทั้งในด้านการบริหารจัดการทรัพยากร คนและเงินให้มีประสิทธิภาพ” คุณเกียรติรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ คุณธนัน รัตนโชติ Founder & CEO กิจการเพื่อสังคม PLANT:D ช่วยเสริมจากประสบการณ์ที่เคยผ่านโครงการบ่มเพาะจากหลายเวทีทั้งในและต่างประเทศว่า โอกาสที่ภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานรัฐ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมนั้นมีอยู่มาก และไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทุนอย่างเดียวเท่านั้น  เนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างมีองค์ความรู้เชิงลึกของตนเอง เช่น สถาบันการศึกษามีงานวิจัย ภาคธุรกิจมีประสบการณ์ ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ที่สามารถสนับสนุนคนที่สร้างนวัตกรรมสังคมให้ก้าวกระโดดต่อไป

อย่างไรก็ดี ระบบสนับสนุนผู้ประกอบการสังคมในประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และจำเป็นจะต้องมีหน่วยงานบ่มเพาะอีกมาก ที่ทำงานสอดประสานอย่างกลมกลืน สร้างระบบส่งต่อที่เปิดโอกาสให้คนที่มีไอเดียดี ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ดึงศักยภาพของตนเอง ออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคม โดยระบบบ่มเพาะมีหน้าที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในแต่ละขั้น ทั้งในแง่ของความรู้ ทักษะ คำปรึกษา รวมไปถึงทรัพยากรต่าง ๆ โดยภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และหน่วยงานรัฐ สามารถเข้ามามีส่วนเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อให้คนที่มีความตั้งใจสร้างการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาสังคมสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน คุณพรจรรย์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers กล่าวสรุป

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow