Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การมองเห็นสีของวัตถุ

Posted By Plook Creator | 24 ม.ค. 61
94,435 Views

  Favorite

สีที่เรามองเห็นนั้นอยู่ในแถบสีรุ้งไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง อาจจะเป็นสีที่ผสมปนกันอยู่ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีสีอีกหลากหลายสีที่เราไม่สามารถบรรยายออกมาได้ ไม่มีชื่อเรียก หรือบางสีก็เพิ่งถูกตั้งชื่อเมื่อไม่นานมานี้เอง

 

แม้ว่าเราจะมองเห็นสีสันต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ แต่เราก็มักจะต้องอ้างอิงสีกับสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่อง เช่น สีโอลด์โรสที่อ้างอิงมาจากสีของดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นสีผสมกันระหว่างชมพูกับส้ม สีเขียวใบตอง หรือสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ หากในวันนี้เราไม่มีคอมพิวเตอร์ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีการแปลงรหัสสีให้เป็นตัวเลขฐานสิบหกในรูปแบบของรหัส RGB (Red Green Blue) การสื่อสารเพื่อระบุสีในทุกวันนี้คงจะยากกว่านี้อีกหลายเท่า


สมัยก่อนนี้สีได้มาจากการสกัดจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหินสินแร่ พืช หรือสัตว์ แต่ในปัจจุบันเรามีสีสังเคราะห์มากมายที่ได้จากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ยังไม่รวมสีบางชนิดที่ผสมสารเรืองแสงเข้าไปเพื่อให้สว่างสะดุดตามากกว่าสีที่หาได้ตามธรรมชาติ และกระบวนการผลิตสีจากการสังเคราะห์สารเคมีนี้ก็มีมานานกว่า 300 ปีแล้ว

 

สีที่มาจากห้องปฏิบัติการสีหนึ่ง คือ ปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) ซึ่งเป็นสีฟ้าแก่ บ้างก็เรียกว่า Midnight blue มันมีที่มายาวนานกว่า 300 ปี โดยถูกคิดค้นในเบอร์ลินตั้งแต่ช่วงปี 1706 เป็นครั้งแรก และถูกใช้ในกองทัพยุคนั้น โดยว่ากันว่าความตั้งใจของผู้คิดค้นในขั้นแรกคือ การสังเคราะห์สีโทนแดงจากเปลือกของแมลง หากแต่สารตั้งต้นถูกปนเปื้อนด้วยธาตุเหล็กจึงได้ออกมาเป็นสีอย่างที่เรารู้จักกัน จากนั้นมันก็ถูกสังเคราะห์มาใช้กันตามท้องตลาดในอีก 20 ปีถัดมา และแพร่หลายในอีก 200 ปีถัดมา ปัจจุบันสีนี้ยังเป็นสีที่นิยมสำหรับชุดสีเทียนที่ขายตามท้องตลาดอยู่

ภาพ : Shutterstock


 

 

การมองเห็นสีของสิ่งของเกิดจากการที่แสงจากแหล่งกำเนิดตกกระทบกับวัตถุก่อนที่จะสะท้อนมายังตาของเรา จากนั้นตาและสมองของเราจะทำงานร่วมกันเพื่อแปลงข้อมูลของแสงที่ได้รับให้กลายเป็นสีต่าง ๆ ที่เรารับรู้

 

ไอแซก นิวตัน กล่าวว่า วัตถุที่เราเห็นไม่ได้มีสีอย่างที่เราเห็น แต่สีที่เราเห็นคือสีที่ผิววัตถุนั้นสะท้อนออกมาต่างหาก นั่นแปลว่า แม้ว่าเราจะเห็นแอปเปิลเป็นสีแดง แต่ผิวของแอปเปิลแท้จริงแล้วดูดซับแสงสีทั้งหมดเอาไว้แล้วสะท้อนออกมาเฉพาะสีแดงต่างหาก ตาเรารับคลื่นแสงช่วงที่เป็นสีแดงซึ่งสะท้อนออกมาจากผิวแอปเปิลส่วนคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นช่วงอื่น ๆ ยังคงอยู่ที่ผิวแอปเปิล ดังนั้น สีขาวที่เราเห็นก็เกิดจากการสะท้อนแสงทุกช่วงคลื่นที่สามารถมองเห็นได้จากผิววัตถุเข้าตาของเรา ส่วนสีดำของวัตถุเกิดจากการดูดกลืนแสงทุกช่วงคลื่นเอาไว้และไม่มีช่วงคลื่นใดที่เราเห็นได้ด้วยเซลล์ประสาทรับแสงภายในดวงตา และด้วยเหตุนี้เอง การจ้องมองวัตถุซึ่งเรามองเห็นเป็นสีขาวจึงมักทำให้เราแสบตามากกว่าวัตถุสีดำ ในทางกลับกันวัตถุที่มีสีดำอย่างเสื้อสีดำสามารถเก็บความร้อนได้ดีเพราะดูดซับคลื่นแสงไว้มากกว่าเสื้อสีขาว

 

ตาของคนเราสามารถมองเห็นสีได้หลากหลายเนื่องจากเซลล์ประสาทรับแสงรูปกรวย (Cone Cells) ที่อยู่ในดวงตาของเรา ซึ่งโดยธรรมชาติของตาคนเรานั้นสามารถเห็นแสงในช่วงโทนสีอุ่นได้ละเอียดมากกว่าโทนสีเย็น นั่นเป็นเพราะว่า 2 ใน 3 ส่วนของปริมาณเซลล์ประสาทรับแสงรูปกรวยที่เรามี สามารถประมวลแสงสีแดง เหลือง ส้ม ซึ่งมีช่วงความยาวคลื่นยาวได้ดี ส่วน 1 ใน 3 นั้นสามารถตอบสนองแสงสีเขียวได้ดี และอีก 2 เปอร์เซ็นต์สามารถตอบสนองแสงสีน้ำเงินได้ดี ส่วนคนที่ตาบอดสี (Color Blindness) ในรูปแบบต่าง ๆ อาจจะเป็นเพราะความบกพร่องของเซลล์ประสาทรับแสงที่อยู่ในดวงตา โดยเซลล์บางชนิดถูกสร้างขึ้นไม่เพียงพอที่จะใช้ในการระบุแสงช่วงความยาวคลื่นต่าง ๆ รวมไปถึงไม่สามารถส่งสัญญาณที่ถูกต้องไปยังสมองเพื่อประมวลผลต่อไปได้

 

อย่างไรก็ดี คนที่ตาบอดสีบางคนมีเซลล์ประสาทรับแสงที่เป็นปกติ รับรู้สีได้ตามปกติ ณ ดวงตา แต่ไม่สามารถส่งต่อไปยังสมองหรือประมวลได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการตาบอดสีในลักษณะที่ไม่สามารถจำแนกสีได้อย่างถูกต้องได้เช่นกัน

 

อาการตาบอดสีที่มักพบ ได้แก่ ตาบอดสีคู่แดงและเขียว ส่วนตาของสัตว์ชนิดอื่น ๆ จะมีความสามารถในการจำแนกแยกแยะแสงในช่วงคลื่นที่อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่ามนุษย์ เช่น ผึ้งสามารถมองเห็นแสงเหนือม่วง (Ultraviolet) ได้ สำหรับสุนัขนั้นมีสมมติฐานว่า สามารถมองเห็นสีได้น้อยกว่าหรือเป็นขาวและดำทั้งหมดด้วยซ้ำ ทั้งนี้การมองเห็นเฉดสีของสัตว์ชนิดต่าง ๆ อย่างแมลงหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยังคงมีการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow