Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ค่า pH ของสารละลาย

Posted By Plook Creator | 23 ม.ค. 61
29,498 Views

  Favorite

ค่า pH ย่อมาจาก positive potential of Hydrogen ions ซึ่งตามที่เราคุ้นเคยกัน ค่า pH คือ หน่วยที่ใช้วัดความเป็นกรด-ด่างของสสาร อันที่จริงเราเทียบค่าความเป็นกรดและด่างจากความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออน (H+) โดยค่า pH ของสารละลายคำนวณจากลอการิทึมของความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออนของสารละลายนั้น ๆ หรือความเข้มข้นของไฮโดรเนียมไอออน (H3O+) ก็ได้

 

ความเข้มข้นของ H+ หรือ H3O+ มีหน่วยเป็น โมลต่อลิตร (mol/l) แต่การคำนวณค่าความเป็นกรด-เบส ไม่ได้ง่ายแบบที่ตัวเลขบอก เพราะการจะหาค่าความเข้มข้นของ H+ หรือ H3O+ ได้ อาจจะต้องใช้วิธีการไทเทรต เพื่อจะหาปริมาณกรดและเบสที่ทําปฏิกิริยากันพอดี แล้วนําไปใช้ในการคํานวณความเข้มข้นของกรดและเบสต่อ ซึ่งวิธีนี้มีความยุ่งยาก ตัวอย่างเช่น การหาค่า pH ของน้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองและตรวจวัดแล้วว่า ปริมาณไฮโดรเจนไอออนของน้ำที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสนั้นอยู่ที่ 10-7 โมล/ลิตร และเมื่อถอดลอการิทึมออกมาจะได้ pH = 7 พอดี เรียกว่าเป็นกลาง หรือไม่เป็นกรดและไม่เป็นเบส

 

สารละลายชนิดอื่นก็ใช้วิธีการคำนวณแบบนี้เช่นเดียวกัน ถ้าความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออน = 10-4 จะได้ค่า pH = 4 ถ้าความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออน = 10-8 จะได้ค่า pH = 8 เป็นต้น โดยค่า pH จะอยู่ในช่วง 1-14 ค่าน้อยกว่า 7 บ่งบอกว่าสารนั้น ๆ เป็นกรด ยิ่งเลขน้อยยิ่งเป็นกรดที่เข้มข้นมาก ส่วนค่า pH ที่มากกว่า 7 มีฤทธิ์เป็นเบสหรือด่าง โดยเลข pH ยิ่งมากจะเป็นด่างมาก แต่ความจริงคือ เราไม่สามารถวัดความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออนและคำนวณค่าลอการิทึมในทุก ๆ ครั้งที่เราต้องการรู้ว่าสสารนั้น ๆ เป็นกรดหรือเบสได้ทุกครั้งไป

 

วิธีที่สะดวกกว่าในการวัดค่า pH คือ การเทียบสีกระดาษลิตมัส (Litmus paper) กับชาร์จสี ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบค่าโดยประมาณ มีความคลาดเคลื่อนประมาณ 0.5 หน่วย pH กระดาษลิตมัสมี 2 ชนิด คือสีแดงชมพูและสีน้ำเงินฟ้า หากสารละลายมีความเป็นกรดจะเปลี่ยนกระดาษสีน้ำเงินเป็นแดง ส่วนสารละลายที่มีความเป็นด่างจะเปลี่ยนกระดาษสีแดงเป็นน้ำเงิน แต่หากเป็นกลางกระดาษทั้งสองสีจะไม่เปลี่ยนสี หรือจะใช้ยูนิเวอร์แซล อินดิเคเตอร์ (Universal Indicator) ซึ่งเป็นกระดาษที่เปลี่ยนสีเกือบทุกค่า pH เมื่อสัมผัสสารละลายก็สะดวกเช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

อีกวิธีหนึ่งที่ค่อนข้างแม่นยำ คือ การวัดค่าความต่างศักย์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.01 หน่วย pH โดยพีเอชมิเตอร์จะวัดความต่างศักย์ระหว่างขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว ที่ถูกแช่ในสารละลายที่ต้องการวัด

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีค่า pH ใดที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดกับร่างกายของมนุษย์ แม้แต่สารละลายที่เป็นกลาง เพราะแท้จริงแล้วร่างกายของเราไม่ได้มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นกลางเสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภายในช่องปากและน้ำลายของเรามีความเป็นด่างอ่อน ๆ อยู่ เมื่อผ่านสู่ทางเดินอาหารช่วงถัดไป คือ กระเพาะอาหาร ค่า pH โดยรวมจะเปลี่ยนอีกครั้ง น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีความเป็นกรดค่อนข้างสูง อยู่ที่ pH 1.6-1.8 ส่วนเลือดของเรามีความเป็นด่างอ่อน ๆ เนื่องจากมีการละลายของก๊าซและสารอาหารต่าง ๆ โดยมีค่า pH อยู่ที่ 7 กว่า ๆ แต่ไม่เกิน 7.8 หากแตกต่างไปจากนี้จะเกิดอาการป่วยได้ ดังนั้น จึงไม่มีสารอะไรที่เหมาะสมกับทุก ๆ ส่วนของร่างกายเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละส่วน แต่ละระบบ มีความต้องการที่แตกต่างกันเพื่อให้สามารถทำงานของมันได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow