Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คลอโรฟิลล์กับการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช

Posted By Plook Creator | 10 ม.ค. 61
44,696 Views

  Favorite

ต้นไม้สีเขียวเพราะอะไร และทำไมบางต้นจึงมีสีอื่น ๆ อย่างสีแดง ม่วง ดำ ขาว หรือเหลือง หากจะตอบอย่างรวบรัดแบบง่าย ๆ ใบหรือลำต้นของพืชที่มีสีเขียว มาจากสีของคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ซึ่งอยู่ในคลอโรพลาสต์ โดยพืชใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง มันเป็นกระบวนการที่ต้นไม้กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ พร้อมกับใช้สารตั้งต้นอย่างน้ำ แร่ธาตุที่มันดูดได้จากดิน และก๊าซต่าง ๆ ในอากาศอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน และในเมื่อคลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อพืชแล้ว มันก็น่าจะมีประโยชน์กับสัตว์หรือคนด้วยใช่หรือไม่

 

กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงหรือ Photosynthesis มาจากคำว่า Photo และ Synthesis โดยคำว่า Photo แปลว่า แสง เหมือนกับรูปภาพหรือการถ่ายภาพ การถ่ายภาพคือ การเก็บเอาแสงที่สะท้อนจากวัตถุเข้าสู่เลนส์กล้องถ่ายภาพและได้ภาพออกมา นั่นแปลว่า มันจำเป็นต้องใช้แสงจึงจะทำให้เกิดภาพที่สวยงามออกมาได้ ส่วนคำว่า Synthesis แปลว่า สังเคราะห์ โดยรวมแล้ว Photosynthesis จึงหมายถึง การสังเคราะห์แสงหรือสังเคราะห์ด้วยแสงนั่นเอง

 

กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเป็นกระบวนการปฏิกิริยาเคมีต่อเนื่องกันเป็นลำดับและเป็นระบบ ซึ่งเกิดขึ้นที่คลอโรพลาสต์ (Chloroplast) ในเซลล์พืช โดยย่อคือการนำสารตั้งต้น เช่น พลังงานแสง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอะตอมไฮโดรเจนในน้ำ มาผ่านปฏิกิริยา เพื่อให้ได้มาซึ่งสารประกอบจำพวกคาร์โบไฮเดรต และยังได้ก๊าซออกซิเจนเป็นผลพลอยได้เพิ่มเติมด้วย

 

หากเราพิจารณาเฉพาะก๊าซที่พืชนำเข้าไปและปล่อยออกมาจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง จะเป็นส่วนกลับของสัตว์อื่น ๆ ที่ใช้ออกซิเจน และนั่นทำให้พืชเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่ระบบ เมื่อการใช้ก๊าซออกซิเจนในการหายใจของสัตว์กับการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ความสมดุลจึงเกิดขึ้น

 

สำหรับคลอโรพลาสต์นั้นเป็นหน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่งที่อยู่ในเซลล์ของพืช ภายในคลอโรพลาสต์คือ ที่อยู่ของคลอโรฟิลล์ ซึ่งทำหน้าที่ดูดกลืนพลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสู่เซลล์​ โดยคลอโรพลาสต์มีขนาดเล็กมากเพียง 2-5 ไมครอนเท่านั้น แสงที่เป็นที่ต้องการต่อการผลิตอาหารหรือกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช เมื่อส่องผ่านมายังคลอโรพลาสต์แล้วก็จะถูกกักเก็บไว้ ส่วนช่วงคลื่นแสงที่ไม่เป็นที่ต้องการก็จะเกิดการสะท้อนหรือปล่อยผ่านไป​ ซึ่งแสงที่สะท้อนหรือปล่อยผ่านออกมาคือช่วงคลื่นแสงสีเขียว และนั่นทำให้เรามองเห็นคลอโรฟิลล์ คลอโรพลาสต์ หรือใบของพืชเองเป็นสีเขียว

ภาพ : Shutterstock

 

กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ซึ่งต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ กระบวนการแรกคือ ปฏิกิริยาที่ต้องใช้แสง ซึ่งเป็นการนำแสงเข้ามาเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีและได้ออกซิเจนออกมา กระบวนการที่สองคือ วัฏจักรเคลวินซึ่งเป็นการนำพลังงานเคมีที่ได้จากขั้นตอนแรก ร่วมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และได้ออกมาเป็นน้ำตาลหรือสารประกอบคาร์โบไฮเดรตรูปแบบอื่น ๆ โดยน้ำตาลเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นแป้งทันทีเพื่อการเก็บสะสม แป้งเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนกับมาเป็นน้ำตาลอีกครั้งเมื่อจำเป็นต้องใช้เป็นพลังงาน


บางคนอาจจะมองว่า มันเป็นเรื่องแปลกที่เราจะต้องดื่มน้ำสีเขียว ๆ ซึ่งเป็นสารสกัดออกมาจากต้นไม้ หรือน้ำคลอโรฟิลล์​ แต่บ้างก็มองว่าหากมันเป็นประโยชน์ต่อพืช ซึ่งพืชเองก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเรา ทำไมเราไม่รับประโยชน์โดยตรงจากคลอโรฟิลล์นี้โดยตรงเลย บ้างก็กล่าวว่า มันมีประโยชน์เหมือนกับการกินพืชผัก การดื่มน้ำผักผลไม้ เพราะว่ามันก็ได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินอย่าง A C D E เหมือนกัน รวมถึงยังช่วยปรับสมดุลของระบบย่อยและระบบขับถ่าย

ภาพ : Shutterstock

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า โดยปกติแล้วร่างกายของเราได้รับสารอาหารจากผักผลไม้ได้อยู่แล้ว และการได้รับสารอาหารบางอย่างที่มากเกินความจำเป็นก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ สาธารณสุขไทยได้เคยออกแจ้งเตือนว่า ไม่ควรดื่มหรือกินคลอโรฟิลล์เกิน 450 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปีเนื่องจากอาจทำให้ไตทำงานหนักในการขับสารที่ได้รับมากเกินไปออกจากร่างกาย จนอาจทำให้อวัยวะได้รับความเสียหายในระยะยาว เกิดอาการผื่นแพ้คัน และท้องร่วง นอกจากนี้ผลการทดลองและวิจัยเรื่องประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ก็ไม่ได้รับการยืนยันถึงประโยชน์ที่ได้รับ

 

ลองคิดอย่างตรงไปตรงมาดูว่า หากเราสามารถรับประทานคลอโรฟิลล์และได้ประโยชน์เหมือนกับการรับประทานผักผลไม้แล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องกินผักผลไม้ใช่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่เลย ร่างกายยังคงต้องการผักและผลไม้อยู่นั่นเอง


เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow