Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพัฒนาการเกษตรในชนบท

Posted By Plookpedia | 22 ธ.ค. 59
7,538 Views

  Favorite

การเกษตรนั้น นับว่า เป็นงานที่สำคัญมาก สำหรับประเทศเรา เพราะเป็นงานที่สร้างเสริมความสุขสมบูรณ์ให้แก่บ้านเมือง โดยส่วนรวม ผู้ที่มีอาชีพทางการเกษตร จึงควรต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ความสังเกต พิจารณา ตลอดจน ความขยันหมั่นเพียร และความบากบั่นอดทน


      อาชีพการเกษตรได้แก่ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง และการแปรรูปผลิตผลจากการเกษตร
การเพาะปลูก หรือกสิกรรมนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ คือ ทำให้เรามีอาหารรับประทาน มีวัตถุดิบที่จะนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค สิ่งก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย
  


การเลี้ยงสัตว์นั้นก็มีประโยชน์มากมายเช่นเดียวกัน มนุษย์เราเลี้ยงสัตว์ไว้ เพื่อใช้งาน เป็นอาหาร ดูเล่น หรือเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน นอกจากนี้ผลิตผลจากสัตว์ เช่น กระดูก หนัง เขา งา ก็นำมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ เครื่องประดับ ได้อีกนานาชนิด

เมื่อมนุษย์เราปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น จนกระทั่งเหลือกินเหลือใช้แล้ว เกษตรกรก็ควรศึกษาให้รู้วิธีที่จะแปรรูปผลิตผล จากการเกษตร ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ ที่ยังคงมีคุณค่าเหมือนเดิม ทั้งนี้เพื่อจะได้เก็บไว้ได้นาน มีกินตลอดทุกฤดูกาล และยังสามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้อีกด้วย

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อ ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" 

จากพระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาตั้งแต่ครองราชย์จนถึงปัจจุบันนี้ จะเห็นว่า พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคนให้ได้อยู่ดีกินดี และโดยที่ประชาชนส่วนมาก อยู่ในชนบทถึงร้อยละ ๘๐ มีอาชีพหลักทางการเกษตร พระองค์จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนาการเกษตรเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า ได้มีพระราชดำริให้จัดทำไร่นาทดลอง ทำโรงสี เลี้ยงปลา เลี้ยงโคนม ตั้งโรงนมผง และ กิจการอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรขึ้น ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และเมื่อพระองค์เสด็จไปเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภาคของประเทศ ก็ได้ทรงแนะนำ และส่งเสริมให้ชาวไร่ชาวนา มีความรู้ความสามารถ ในอันที่จะปรับปรุงวิธีการประกอบอาชีพทางการเกษตรให้ถูกหลักวิชา เหมาะกับสภาพของแต่ละท้องถิ่น ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริ ให้คิดค้นหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ด้านการเกษตร เช่น การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อบริโภค และเพื่อการเกษตรด้วย การชลประทาน เช่น การสร้างฝาย สร้างเขื่อน และการคิดค้นทำฝนเทียม หรือฝนหลวง เป็นต้น

โครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันที่เป็น การพัฒนาการเกษตรในชนบทนั้น มีจำนวนมากมายหลายโครงการ สุดที่จะพรรณนาให้ละเอียดทุกโครงการได้ จึงขอกล่าวถึงโครงการที่สำคัญๆ เพื่อเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

ไร่ถั่วเขียว (พันธุ์อู่ทอง ๑) ทดลอง

๑. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล 

ในบริเวณสวนจิตรลดาได้มีโครงการตามพระราชดำริส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทย ปลาหมอเทศจากปีนัง และปลานิลจากญี่ปุ่นขึ้น เพื่อพระราชทาน นอกจากนี้ยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลมิให้สูญพันธุ์ไป โดยนำลูกเต่าทะเลชนิดต่างๆ ไปปล่อยที่เกาะบันได จังหวัดระยอง

สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อบริโภคเนื้อและไข่ ซึ่งได้แก่ วัวเนื้อ สุกร ไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง และนกกระทานั้น พระองค์ได้มีพระราชดำริให้ทดลองเลี้ยงในบริเวณสวนจิตรลดา และที่ฟาร์มส่วนพระองค์หาดทรายใหญ่ เพื่อดำเนินการขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎรต่อไป 

ส่วนสัตว์เลี้ยงที่ให้เนื้อและนม ซึ่งได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะนั้น นอกจากพระองค์ได้ทรงสถาปนาศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมขึ้น ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว ยังได้มีโครงการตามพระราชดำริ ให้เลี้ยงโคนมขึ้น ที่บริเวณสวนจิตรลดา เพื่อเป็นการทดลองอีกด้วย 

๑.๑ การบำรุงพันธุ์สัตว์ 

การบำรุงพันธุ์สัตว์ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพดีนั้น ควรจะได้คำนึงถึงความสำคัญ ๒ ประการคือ 

๑.๑.๑ เลือกซื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดีมาเลี้ยง 

๑.๑.๒ เมื่อสัตว์ให้ลูกหลาน ควรเลือกสัตว์ที่ดี มีรูปร่างใหญ่ ให้นมและเนื้อมาก ให้ลูกดกและบ่อย มีความทนทานต่อโรค และเลี้ยงอย่างดี เพื่อใช้ทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไป

๑.๒ อาหารสัตว์ 

การให้อาหารสัตว์ เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงจะต้องศึกษา และให้ความสนใจว่า สัตว์ชนิดใดต้องการอะไร ในระยะใด และมากน้อยเท่าใด และควรจะให้อาหารแก่สัตว์ให้ครบทุกประเภท ซึ่งได้แก่ อาหารโปรตีน อาหารพลังงาน อาหาร แร่ธาตุ วิตามิน และน้ำ

๑.๓ การจัดการดูแล 

การดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องที่เกษตรกรผู้เลี้ยงจะต้องเอาใจใส่ให้มาก การปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเติบโตไปเองตามธรรมชาตินั้น จะทำให้ได้ผลิตผลที่ไม่ดี สิ่งสำคัญที่ควรให้การดูแล ได้แก่ การสร้างโรงเรือน หรือคอกสัตว์ ให้สัตว์ได้มีที่หลับนอนตามความเหมาะสม คอกต้องสะอาด และมีการระบายอากาศที่ดี มีการให้อาหารและน้ำตามเวลาที่กำหนด และเมื่อถึงระยะเวลาผสมพันธุ์ ก็ช่วยจัดการเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ให้เป็นตัว

๑.๔ การสร้างความต้านทานโรค 

การสร้างความต้านทานโรคให้แก่สัตว์เลี้ยงนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เลี้ยงอาจทำได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้สัตว์เลี้ยงเป็นโรคระบาดตาย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นอันมาก นอกจากนี้อาจมีวิธีป้องกันโรคทางอื่นๆ อีกหลายวิธี เช่น ใช้ยาฆ่าเชื้อภายในคอก ทำรั้วกั้นมิให้สัตว์อื่นๆ หรือคนเข้าไปในคอกสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

เล้าเป็ด


๒. โครงการแปรรูปนมวัวให้เป็นผลิตภัณฑ์นมต่างๆ 

เนื่องจากนมเป็นอาหารที่สำคัญ และมีประโยชน์ต่อคนทั่วไปทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ นมวัวเป็นนมที่มีส่วนประกอบที่ใกล้เคียงกับน้ำนมคนมากที่สุด จึงเป็นที่นิยมดื่มกันทั่วไป แต่ตามที่เป็นจริงแล้วปรากฏว่า คนไทยยังดื่มนมกันน้อยมาก ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๓๐ รัฐบาลจึงได้พยายามรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนดื่มนมกันให้มากขึ้น และควรจะดื่มนมกันอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีเป้าหมายให้คนไทยดื่มนมในราคาถูก โดยให้เพิ่มขึ้นจาก ๒ ลิตรต่อคนต่อปี เป็น ๗ ลิตรต่อคนต่อปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ 

จากการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนมพันธุ์ดีเพิ่มมากขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ ทำให้น้ำนมที่ผลิตได้มีเกินที่ตลาดต้องการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้น ในบริเวณสวนจิตรลดาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๓ พระองค์ได้นำเงินที่มีผู้บริจาค จัดตั้งโรงงานนมผงขึ้นอีกโรงหนึ่ง ที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในรูปบริษัทจำกัด ซึ่งได้เปิดดำเนินการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ต่อมา ได้เปลี่ยนโรงนมผงมาเป็นรูปสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีจำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์ด้านการผลิตนมบริสุทธิ์ และการทำผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ได้แก่ นมสด นมข้นหวาน นมผง ไอศกรีม เนยสด และนมเปรี้ยว ซึ่งได้จำหน่ายแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน

๓. โครงการฝนหลวง 

โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยชาวนาชาวไร่ในชนบทบางแห่ง ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมักจะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่มีน้ำที่จะรดต้นไม้ และพืชที่เพาะปลูกไว้ และไม่มีน้ำที่จะให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้ได้ดื่มกิน ทั้งนี้เกิดจากฝนไม่ตก หรือตกน้อยกว่าปกติ เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศผันแปร และคลาดเคลื่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว อาจมีสาเหตุเนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่ากันมาก พระองค์จึงมีพระราชดำริ ให้ศึกษาค้นคว้า และพัฒนาวิธีที่จะทำให้เกิดฝนเทียมขึ้น และได้ทดลองปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จ โดยได้ช่วยเหลือการทำนาของจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจใน พ.ศ. ๒๕๑๔ 

ฝนที่มนุษย์สามารถทำให้เกิดขึ้น ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ และทำให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ดังนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ใช้คำว่า "ฝนหลวง" เป็นทางราชการตั้งแต่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๓ เป็นต้นมา สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดฝนหลวง ได้แก่ สารเคมีบางชนิด เครื่องบินที่ใช้โปรยสารเคมี และข้อมูลของการพยากรณ์อากาศในแต่ละวัน และก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการฝนหลวงนั้น จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และลงมือปฏิบัติไปตามแผนงานที่วางไว้ นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องสามารถปรับแผน ในระหว่างการปฏิบัติการ ให้เหมาะสมกับสภาพปรากฏการณ์ของท้องฟ้า ในขณะนั้นได้ การปฏิบัติการฝนหลวง จึงจะประสบผลสำเร็จ และตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายที่ต้องการได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow