Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อายุกับการออกกำลัง

Posted By Plookpedia | 19 ธ.ค. 59
955 Views

  Favorite

อายุกับการออกกำลัง

เด็กต้องกินยาอย่างเด็ก ผู้ใหญ่ต้องกินยาอย่างผู้ใหญ่ คนแก่ต้องกินยาอย่างคนแก่ ทั้งนี้เพราะสภาพร่างกายแตกต่างกันไปตามวัย เพราะเหตุผลอย่างเดียวกัน การออกกำลังกายก็ต้องเหมาะกับวัย มิฉะนั้น อาจเกิดโทษ กล่าวโดยสังเขป การออกกำลังสำหรับคนวัยต่างๆ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

๑. วัยเด็ก 

เด็กๆ ก่อนวัยอนุบาลควรปล่อยให้เล่นตามใจชอบ การวิ่ง กระโดด ปีนป่ายเป็นวิธีของธรรมชาติสำหรับส่งเสริมการเติบโต ผู้ใหญ่คอยแต่ระวังป้องกันอันตราย เด็กที่ไม่ชอบเล่น ควรกระตุ้น และชักจูงให้ออกกำลังบ่อยๆ จนเปลี่ยนนิสัยได้

เด็กวัยอนุบาลเล่นสนุกปีนป่าย

   ในวัยอนุบาลเด็กๆ ควรหัดท่ากายบริหารง่ายๆ อาจจัดในรูปของการฟ้อนรำ หรือการเล่นสนุก การปีนป่าย เป็นเรื่องของธรรมชาติ และมีประโยชน์ ควรระวังเพียงไม่ให้กระทำอย่างเสี่ยงอันตราย การออกกำลังหนักยังไม่ควรให้ทำ เพราะหัวใจยังเจริญไม่เต็มที่ ควรปล่อยให้วิ่งเล่นตามใจ โดยไม่พยายามบีบบังคับ การพักผ่อนภายหลังเล่น ควรจะกำหนดให้พอเพียงเสมอ
เด็กในวัยประถม (อายุ ๗ - ๑๒ ปี) ควรมีเวลาเรียนพลศึกษาสัปดาห์ละ ๒-๓ ชั่วโมง และเล่นกีฬาที่ยากขึ้นเป็นลำดับ ให้เหมาะกับสภาพของสมองและร่างกาย การวิ่งและกระโดดช่วยเสริมการเติบโต และทำให้ความอดทนดีขึ้นเรื่อยๆ ในวัยนี้ยังไม่ต้องแยกเด็กชายกับเด็กหญิง แต่ต้องระวังการเล่นหนักเกินไป และต้องแน่ใจว่า ได้รับอาหาร และการพักผ่อนเพียงพอ

เด็กในวัยมัธยม (อายุ ๑๓ ปีขึ้นไป) ควรแยกระหว่างหญิงกับชาย เพราะความแตกต่างระหว่างเพศเริ่มปรากฏชัดเจน เด็กหญิงควรให้เล่นกีฬาที่ส่งเสริมทรวดทรงให้สวยงาม การเคลื่อนไหวนุ่มนวลชดช้อย นาฎศิลป์ (ซึ่งเป็นการออกกำลังแบบหนึ่ง) ของไทยเรา มีประโยชน์ในเรื่องนี้ไม่แพ้การเต้นรำปลายเท้า หรือบัลเล่ต์ของฝรั่ง กีฬาของเด็กชายบางอย่าง ก็ใช้ได้สำหรับเด็กหญิง แต่บางอย่างก็ไม่เหมาะสม เช่น ตะกร้อ ฟุตบอล ซึ่งนอกจากไม่เหมาะในเรื่องความงดงามทางจิตใจแล้ว ยังอาจทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย สำหรับเด็กชายในวัยนี้ กล่าวโดยสรุปว่า เล่นได้เหมือนผู้ใหญ่ เว้นแต่ต้องลดความหนัก และรุนแรงลงบ้าง ต้องระวังการตกจากที่สูง และหกล้มรุนแรง เพราะอาจทำอันตรายต่อแนวงอกของกระดูก ทำให้การเติบโตชะงักงัน

    เด็กหญิงวัยมัธยม (อายุ ๑๓ ปีขึ้นไป) ฝึกนาฎศิลป์ การออกกำลังอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ทรวดทรงสวยงาม

๒. วัยหนุ่มสาว (อายุ ๑๘ - ๒๕ ปี) 

ระยะนี้เป็นเวลาที่สมรรถภาพทางกายดีที่สุด การออกกำลังกายจะใช้วิธีใดก็ได้ทั้งนั้น แต่พึงระวังไม่ให้หนักหรือมากเกินสมควร ในปัจจุบันนี้มีความโน้มเอียงที่ผู้หญิงจะทำตนเสมอกับผู้ชาย ในเรื่องอื่นๆ เป็นการสมควรอยู่ แต่ในเรื่องการกีฬา หรือออกกำลังกาย เป็นการไม่สมควร เพราะธรรมชาติสร้างผู้หญิงมาเป็น "แม่" มีความอ่อนหวานนุ่มนวล จิตใจอ่อนโยน ส่วนผู้ชายนั้นเป็น "พ่อ" ผู้ต้องหาอาหาร และปกป้องครอบครัว ร่างกายบึกบึน และมีจิตใจเข้มแข็ง องอาจ การที่ผู้หญิงจะเล่นกีฬาเหมือนผู้ชายไปเสียทั้งหมด นอกจากขัดกับประเพณีนิยม ยังอาจมีผลร้ายต่อร่างกาย เนื่องจากความรุนแรง ความหนัก หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะ และผลทางใจอีกด้วย 

๓. วัยผู้ใหญ่หรือวัยฉกรรจ์ (อายุ ๒๖ - ๓๕ หรือ ๔๐ ปี) 

ในครึ่งระยะเวลาแรกร่างกายกำลังแข็งแกร่งเต็มที่ พ้นจากนั้นแล้ว ก็เริ่มเสื่อม ในระยะแข็งแกร่งจะเล่นกีฬาอะไรก็ได้ รวมทั้งกีฬาแข่งขันต่างๆ แต่ในระยะหลังต้องลดความหนักลง และงดการแข่งขันในประเภทหนักมากๆ 

๔. วัยกลางคน (อายุ ๓๕ หรือ ๔๐ - ๕๕ ปี) 

ในวัยนี้กำลังความคิดขึ้นสูงเต็มที่ แต่กำลังกาย และ สมรรถภาพทางกายลดลงเรื่อยๆ ผู้ที่เคยออกกำลังมาก่อนแล้ว พึงระลึกถึงความจริงข้อนี้ มิฉะนั้นอาจเกิดอันตราย เนื่องจากออกกำลังหนักเกินไป เพราะคิดว่า ยัง แข็งแรงเช่นแต่ก่อน 

๕. วัยสูงอายุ (อายุ ๕๕ ปีขึ้นไป) 

เมื่ออายุย่าง เข้าขั้นนี้ความตกต่ำของร่างกายมักปรากฏชัดเจน แต่ก็ยังออกกำลังได้ และจำเป็นต้องออกกำลัง เพื่อรักษาสภาพ และ "ชะลอชรา" การออกกำลัง และการกีฬาของคนปูนนี้จำเป็นต้องกำหนดเป็นพิเศษ ให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นในร่างกาย มีข้อที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ 

(๑) หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีการแข่งหรือออกแรงหนักอย่างกะทันหัน เช่น ยกน้ำหนัก กระโดด ฯลฯ 
(๒) หลีกเลี่ยงการแข่งขัน แม้แต่ฉันมิตร (ยกเว้นผู้ที่เคยแข่งขันติดต่อมาตั้งแต่ยัง หนุ่ม) 
(๓) หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วสูง และ 
(๔) หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หนักและติดต่อไปเป็นเวลานาน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow