Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลือดและธนาคารเลือดในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 11 ธ.ค. 59
7,474 Views

  Favorite

เลือดเป็นของเหลวสีแดง ไหลวนเวียนอยู่ภายในร่างกายของเรา ของเหลวสีแดงนี้อาจแยกออกได้เป็น สองส่วน คือ ส่วนที่เป็นมวลสารและส่วนที่เป็นน้ำ
 


ส่วนที่เป็นมวลสาร ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
ส่วนที่เป็นน้ำ มีชื่อเรียกว่า พลาสมา

หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วทุกส่วนของร่างกาย เลือดที่ใช้แล้วจะไหลไปยังปอด เพื่อฟอกให้สะอาด แล้วไหลกลับไปยังหัวใจ เพื่อให้หัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายใหม่อีก 
เลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายของเรา ผู้ที่บาดเจ็บต้องเสียเลือดมาก จึงอาจถึงแก่ความตายได้ การช่วยเหลือผู้เสียเลือดมากทำได้โดยใช้เลือดชนิดเดียวกันของบุคคลอื่น เพิ่มเข้าไปในร่างกายของผู้บาดเจ็บ เพื่อให้ทดแทนเลือดที่เสียไป    

ห้องเก็บเลือดของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย


เลือดของคนเราอาจเก็บไว้ได้นานประมาณ ๒๘ วัน ถ้าเก็บถูกวิธีและถ้าใช้วิธีพิเศษก็จะเก็บไว้ได้นานถึงปี สถานที่เก็บและจ่ายเลือดให้แก่ผู้บาดเจ็บ มีชื่อเรียกว่า ธนาคารเลือด 

ปัจจุบันมีธนาคารเลือดอยู่ตามโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศไทย และมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อยู่ในบริเวณ สถานเสาวภา กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่รับบริจาคเลือดจากบุคคลทั่วไป

เลือดเป็นส่วนของร่างกายในระบบไหลเวียนเลือด มีหน้าที่ลำเลียงอาหารน้ำ ออกซิเจน และสารอื่นๆ ไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนั้นยังลำเลียงของเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์มายังปอด เพื่อขับออกจากร่างกายอีกด้วย
ส่วนประกอบของเลือดได้แก่เซลล์สามชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เซลล์สามชนิดนี้ลอยอยู่ในส่วนน้ำของเลือดมีชื่อว่า พลาสมา เม็ดเลือดแดง มีสีแดง เป็นตัวพาออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วรับของเสีย คือ คาร์บอนไดออกไซด์กลับมาที่ปอด เม็ดเลือดขาว ไม่มีสี มีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ต่อต้าน และทำลายเชื้อโรค ซึ่งเข้ามาอยู่ภายในร่างกาย ส่วนเกล็ดเลือดมีหน้าที่ทำให้เลือดเป็นก้อนแข็ง ซึ่งจะทำให้เลือดหยุดไหล เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น    

ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย


เม็ดเลือดแดง

ร่างกายของเรามีเม็ดเลือดแดงอยู่เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ในร่างกายของคนที่เป็นผู้ใหญ่จะมีเม็ดเลือดแดงอยู่ถึง ๒๕ ล้านล้านเซลล์ เม็ดเลือดแดงมีอายุอยู่ในกระแสโลหิต ได้นานประมาณ ๑๒๐ วัน หลังจากนั้น ก็จะถูกทำลายไปในตับและม้าม เมื่อเม็ดเลือดแดงเก่าถูกทำลายไป ไขกระดูกก็จะสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ขึ้นมาแทนที่

 

หัวใจ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย

   

เม็ดเลือดแดงมีสีแดง เพราะมีส่วนประกอบสำคัญคือ เฮโมโกลบินสารนี้เป็นสารประกอบของโปรตีน กับเหล็ก เฮโมโกลบินจะมีสีแดงสด เมื่อมีออกซิเจนอยู่ด้วย แต่จะเปลี่ยนสีเป็นแดงแกมม่วง เมื่อได้ปล่อยออกซิเจนให้แก่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย แล้วรับเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากเนื้อเยื่อ และอวัยวะ ต่างๆ กลับไปยังปอด การที่เลือดในเส้นเลือดแดงมีสีแดงสด แต่เลือดในเส้นเลือดดำมีสีแดงแกมม่วง ก็เพราะเหตุดังกล่าวข้างต้น
หน้าที่สำคัญของเม็ดเลือดแดง ได้แก่ การนำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ แล้วนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปยังปอด

เม็ดเลือดขาว 

เม็ดเลือดขาวมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง แต่มีจำนวนน้อยกว่าถึง ประมาณ ๕๐๐ เท่า เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด คือ ลิมโฟไซท์ โมโนไซท์ อิโอซิโนฟิล เบโซฟิล และนิวโตรฟิล

เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ : ลิมโฟไซต์ นิวโตรฟิล อีโอซิโนฟิล โมโนไซต์ นิวโตรฟิล ลิมโฟไซต์ นิวโตฟิล เบโซฟิล


ลิมโฟไซท์ และ โมโนไซท์ เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นว่า มีนิวเคลียสเดียว ถ้านำมาย้อมสีจะไม่ติดสีย้อม

ส่วนอีโอซิโนฟิล เบโซฟิล และนิวโตรฟิล มีนิวเคลียสแยกเป็นส่วน ถ้านำมาย้อมสีจะติดสีย้อม

หน้าที่สำคัญของเม็ดเลือดขาว ก็คือ กำจัดบัคเตรี โดยเม็ดเลือดขาวจะเคลื่อนที่ออกจากกระแสโลหิตเข้าไปหาบัคเตรี แล้วกลืนกินเสีย


เกล็ดเลือด 

เกล็ดเลือดมีหน้าที่สำคัญในการห้ามเลือด โดยจะรวมตัวเป็นก้อนแข็งอุดตรงบริเวณที่หลอดเลือดถูกตัด หรือฉีกขาด ทำให้เลือดหยุดไหล  นอกจากนั้นยังสามารถจับเชื้อโรคขนาดเล็กมาก เช่น ไวรัส ได้ด้วย เกล็ดเลือดจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งของเลือดที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค

เกล็ดเลือด


พลาสมา 

พลาสมาคือ ส่วนน้ำของเลือด ร้อยละ ๙๐ เป็นน้ำ ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ โปรตีน เกลือหลายชนิดและสารอื่นอีกหลายชนิด ที่จำเป็นสำหรับชีวิต
หน้าที่สำคัญของโปรตีนในพลาสมา ก็คือ ช่วยต่อต้านเชื้อโรคพวกไวรัส บัคเตรี และอื่นๆ

พลาสมา


เนื่องจากเลือดเป็นสิ่งที่เรายังไม่อาจผลิต หรือสังเคราะห์ขึ้นได้ภายในโรงงาน ดังนั้นการช่วยผู้บาดเจ็บที่ต้องเสียเลือดมาก ให้คงมีชีวิตอยู่ได้ จึงอาจทำได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ ใช้เลือดของบุคคลอื่นมาถ่ายให้แก่ผู้บาดเจ็บ การกระทำเช่นนี้ เราเรียกว่า การให้เลือด

ผู้ป่วยกำลังรับการให้เลือด

 

 การให้เลือดอาจทำโดยตรง โดยเจาะถ่ายเลือดจากหลอดเลือดของคนหนึ่ง ไปเพิ่มในหลอดเลือดของอีกคนหนึ่ง หรือใชเลือดที่แพทย์เจาะเก็บไว้ ไปเพิ่มให้แก่ ผู้ต้องการเลือดก็ได้ เลือดที่จะถ่ายให้แก่กัน ต้องเป็นเลือดชนิดเดียวกัน มิฉะนั้น ผู้ได้รับเลือดจะเสียชีวิต
เลือดของคนเรา อาจแบ่งออกได้เป็น สี่ หมู่เลือดด้วยกัน คือ หมู่โอ หมู่เอ หมู่บี และหมู่เอบี เลือดหมู่โอ อาจรวมกับเลือดหมู่ใดๆ ก็ได้ แต่ เลือดสามหมู่หลัง ไม่รวมกับเลือดต่างหมู่กัน ถ้ารวม จะทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกสลาย และผู้ได้รับเลือดจะเสียชีวิต 

แต่ก่อน การให้เลือดทำได้โดยตรงจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน แพทย์อาจเก็บเลือดไว้ได้ในธนาคารเลือดเป็นเวลานานถึงเดือนหรือ หลายปี เลือดที่เก็บไว้นี้พร้อมที่จะใช้ เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือต้องการเลือด

ประเทศไทยมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ตั้งอยู่ในบริเวณสถานเสาวภา กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่รับบริจาคเลือด เพื่อเก็บไว้ให้ผู้บาดเจ็บที่ต้องการเลือด โดยไม่คิดมูลค่า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow