Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำไม้

Posted By Plookpedia | 05 ธ.ค. 59
8,019 Views

  Favorite

การทำไม้

      ประเทศไทยมีป่าไม้มาก ประมาณหนึ่งในสามของเนื้อที่ประเทศเป็นป่าไม้ ต้นไม้ชอบขึ้นบนภูเขา ป่าไม้ส่วนใหญ่จึงอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งพื้นที่เป็นภูเขา ส่วนภาคกลางเป็นที่ราบ เหมาะแก่การกสิกรรม ซึ่งได้แก่ การปลูกข้าว อ้อย ฝ้าย ถั่ว ฯลฯ จึงไม่ค่อยมีป่าไม้

 


      ป่าไม้ของเรา มีต้นไม้ขึ้นอยู่มากมายหลายร้อยชนิด ทั้งใหญ่และเล็ก ต้นไม้บางชนิด เราเอาลำต้นมาเลื่อยเป็นแผ่นๆ ใช้ทำบ้าน ทำเรือ ทำตู้ และโต๊ะ หรือฝานเป็นแผ่นบางๆ ทำไม้อัด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ประดู่ ฯลฯ บางชนิดเขาเอามาบดเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ทำเยื่อกระดาษ เช่น ไม้สนเขา และไม้ไผ่ ต้นไม้ต่างๆ นี้  นอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศแล้ว บางชนิดยังส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย
      ประเทศไทยมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่างแพร่หลาย คือ "ต้นสัก" เหตุที่มีชื่อเสียง เพราะมีเนื้อไม้สีเหลือง มีลวดลายสวยงาม น้ำหนัก เบา แข็งแรง ทนทาน และปลวกไม่กิน ราคาของไม้สักจึงสูงกว่าไม้ชนิดอื่นๆ ต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในเมืองไทยเรานี้เอง คือ อยู่ในอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดวัดรอบที่โคนตรงระดับสูง ๑๓๐ เซนติเมตร ได้ ๙๓๐ เซนติเมตร (วัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗) และมีความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอด ๔๕ เมตร 

      การตัดต้นไม้ เพื่อนำไปขาย ผู้ตัดจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน ในแต่ละปีรัฐบาลจะกำหนดจำนวนต้น และบริเวณขอบเขตที่จะตัดไม้ได้ หากผู้ใดตัดเกินจากที่รัฐบาลกำหนดไว้ จะมีความผิดทางกฎหมาย  ไม้แต่ละต้นที่อยู่ในป่า เมื่อจะนำออกมาใช้ปลูกบ้าน หรือทำประโยชน์อย่างอื่น จะต้องใช้เลื่อย หรือขวาน โค่นให้ล้มลง แล้วตัดส่วนที่มีกิ่งก้าน ซึ่งใช้การไม่ได้ออก เหลือแต่ส่วนของต้นไม้ เรียกว่า "ท่อนซุง" แล้วใช้ช้าง รถยนต์ หรือรถแทรกเตอร์ ลากซุงนั้นออกมารวมไว้เป็นแห่งๆ ต่อจากนั้น จึงนำไม้ซุงมาผูกเป็นแพล่องไปตามลำแม่น้ำ หรือนำขึ้นบรรทุกรถยนต์ รถไฟ ไปยังโรงเลื่อย เพื่อเลื่อยเป็นแผ่นกระดาน ใช้ปลูกบ้าน และทำของใช้อื่นๆ 

      การทำงานเริ่มตั้งแต่โค่นล้มต้นไม้ ตัดทอนเป็นท่อนซุง แล้วชักลากด้วยช้าง หรือรถแทรกเตอร์ รวมทั้งนำซุงบรรทุกรถยนต์ หรือล่องแพไปจนถึงโรงเลื่อย หรือถึงเรือเดินทะเล เพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ เราเรียกรวมๆ กันว่า "การทำไม้" เท่าที่กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า ต้นไม้แต่ละต้น กว่าจะนำมาเลื่อยเป็นแผ่นกระดานได้ต้องใช้เวลาพอสมควร

ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ตัดไม้ไปขายได้นี้ เรียกว่า "ผู้รับสัมปทานป่าไม้" มีข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาลว่า เมื่อตัดไม้ไปแล้ว จะต้องปลูกใหม่ทดแทนไม้ที่ตัดไป ต้นไม้ที่ปลูกทดแทนนี้ เขาจะปลูกเป็นสวน เรียกว่า "สวนป่า" การทำไม้นั้นแบ่งออกได้กว้างๆ เป็น ๒ ตอน คือ การทำไม้ "ตอนป่า" และการทำไม้ "ตอนยวดยาน" การทำไม้แต่ละตอน มีวิธีการแตกต่างกันไปดังนี้

 

สวนสักอายุ ๓ ปี ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง


การทำไม้ตอนป่า 

      การทำไม้ออกจากป่านั้น ไม่ว่าจะทำไม้ออกมา เพื่อใช้สอยส่วนตัว หรือเพื่อการค้า ถ้า ไม้ที่จะนำออกมานั้นเป็นไม้หวงห้าม คือ ไม้ชนิดดีมีค่า จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้เสียก่อน ไม้ชนิดที่สำคัญๆ เช่น ไม้สัก แดง ประดู่ หลุมพอ มะค่าโมง เต็ง รัง ฯลฯ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะเข้าไปคัดเลือก และตีตราประจำต้น เพื่ออนุญาตให้ตัดได้ เมื่อตัดโค่นไม้ที่มีตราลงแล้ว ก็ใช้เลื่อยทอนต้นไม้ที่ล้มลงมานั้นเป็นท่อนๆ โดยปกติความยาวของไม้ที่ทอนออกเป็นท่อนนั้น จะต้องคำนึงถึงตลาดด้วย เช่น ในท้องที่ที่เป็นภูเขาสูงนำไม้ซุงออกมาได้ยาก ต้องทอนต้นไม้ให้เป็นท่อนสั้นๆ เพื่อให้น้ำหนักของไม้แต่ละท่อนเบาลง ถ้าท้องที่ที่ทำไม้ออกเป็นที่ราบ อาจทอนไม้เป็นท่อนยาวๆ ได้ ไม้ซุงที่นำออกมานั้น จะต้องพยายามทอนเอาเฉพาะส่วนที่ตรง และตัดส่วนที่เป็นง่าม หรือปุ่มตาออก เนื่องจากไม้ซุงที่ทำออกมาจากป่า ต้องการนำไปเลื่อยเป็นสำหรับปลูกบ้าน ดังนั้น ความยาวของไม้ซุงแต่ละท่อน จึงไม่ควรสั้นกว่าความยาวของห้องตามบ้านเรือนที่ปลูกกันทั่วๆ ไป คือ ไม่ควรสั้นกว่า ๔ เมตร เว้นแต่ว่าไม้ซุงที่ทำออกมานั้น จะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น ทำเครื่องเรือน ทำไม้อัด หรือต่อเรือ ก็จำเป็นต้องกำหนดความยาวของท่อนซุง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานที่จะใช้ไม้นั้น

 

ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก


      ที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับไม้ชนิดที่สำคัญๆ ซึ่งพนักงานได้ตีตราประจำต้นให้ตัดฟันได้ เมื่อล้มลง และตัดทอนแล้ว จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ไม้ที่ล้มนั้น มีตราถูกต้องหรือไม่ ทอนได้เป็นกี่ท่อน เมื่อตรวจสอบถกูต้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะตีตรา ที่ท่อนซุงทุกท่อนไว้อีกครั้งหนึ่ง การตีตราตรวจสอบในครั้งนี้เรียกว่า "ตีตราชักลาก" เมื่อได้ผ่านวิธีการนี้แล้ว จึงจะชักลากไม้นั้นให้ห่างออกไปจากตอเดิมได้ ไม้ที่ล้มแล้ว ทอนไว้เป็นท่อนซุงนี้ ถ้าเป็นบริเวณที่มีภูเขาสูงชัน ผู้ทำไม้จะใช้ช้าง หรือรถแทรกเตอร์ ลากไม้ซุงนั้น มารวมไว้เป็นแห่งๆ ในที่ซึ่งรถยนต์ หรือพาหนะอย่างอื่น จะเข้ามาบรรทุกไม้นั้นต่อไปได้ การใช้ช้าง หรือรถแทรกเตอร์ลากไม้ซุง จากตอที่ตัดมารวมไว้เป็นแห่งๆ นี้เรียกว่า "ถอนตอ" ส่วนสถานที่ที่นำไม้ซุงมารวมไว้เป็นที่เดียวกันนั้น เรียกว่า "หมอนไม้" และการทำไม้ทั้งหมด ตั้งแต่โค่นล้มรวมถึงการชักลากมารวมกอง เพื่อเตรียมไว้บรรทุกรถยนต์ภายในบริเวณป่า เรียกรวมๆ กันว่า "การทำไม้ตอนป่า" การทำไม้ในที่ราบ อาจจะใช้รถยนต์ไปบรรทุกไม้จากตอที่เดียว โดยไม่ต้องถอนตอไปรวมกองไว้ก็ได้

การทำไม้ตอนยวดยาน 

      เมื่อได้ชักลากไม้มารวมกองไว้ที่หมอนไม้ในป่าแล้ว ผู้ทำไม้ก็จะขนส่งไม้ซุงนั้นต่อไปยังโรงเลื่อย หรือตลาดการค้า ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลออกไป การขนส่งช่วงนี้อาจจะใช้รถยนต์ รถไฟ หรือพาหนะอย่างอื่น ซึ่งเป็นการขนส่งนอกอาณาเขตป่าที่ทำไม้ เราเรียกการขนส่งตอนนี้ว่า "การทำไม้ตอนยวดยาน" ไม้ซุงที่ได้รับอนุญาตให้ทำออกจากป่า เมื่อจะขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ใด โดยใช้ยานพาหนะอะไร จะต้องขอรับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจสอบได้ว่า ไม้ซุงนั้นทำออกมาโดยถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมายแล้ว ก็จะออกหนังสือสำคัญในการขนส่งให้ หนังสือสำคัญนี้เรียกว่า "ใบเบิกทาง" ผู้ขนส่งไม้จะต้องนำใบเบิกทางติดตัวไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจเมื่อผ่านด่านป่าไม้ จึงจะขนไม้ซุงออกไปได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow