Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสืบพันธุ์ของแบคทีเรีย

Posted By Plook Creator | 29 พ.ย. 60
33,426 Views

  Favorite

สิ่งมีชีวิตบนโลกของเราได้ถูกจัดหมวดหมู่เป็นกลุ่ม เรียกว่า อาณาจักร ( Kingdom) ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักและแบ่งแยกได้ชัดเจนคือ อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae) และอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) แต่ก็ยังมีอาณาจักรอื่น ๆ ที่หากได้ยินชื่อแล้วอาจงงว่า มันคือสิ่งมีชีวิตจำพวกไหน ได้แก่ อาณาจักรฟังก์ไจ (Kingdom Fungi) สำหรับพวกยีสต์ รา เห็ด อาณาจักรโปรติสตา (Kingdom Protista) ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น สาหร่ายเซลล์เดียว และราเมือก และอาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera) เป็นอาณาจักรของพวกแบคทีเรีย หรือที่เรามักรู้จักมันในชื่อว่า เชื้อโรค

 

แม้ว่าเชื้อโรคในโลกนี้มีหลายจำพวก แบคทีเรียเป็นจำพวกหนึ่งและเป็นกลุ่มหลักที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย อันที่จริงมันอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำให้เราป่วยก็ได้ แต่สิ่งที่มันปล่อยออกมาจากเซลล์หลังจากมันได้กินอาหารดันเป็นสารที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ตัวอย่างโรคในคนและสัตว์ที่เกิดจากแบคทีเรียได้แก่ ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค บาดทะยัก และอาการท้องร่วงบางชนิด

 

แบคทีเรียทำให้เกิดโรคในพืชเช่นกัน เช่น รากเน่า ใบด่าง ซึ่งในสมัยก่อนเราก็ได้แต่สงสัยว่าจะมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้อยู่บนโลกไปทำไม เนื่องจากพวกมันเป็นโทษต่อร่างกายของเราและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ไปหมด ความรุนแรงของมันทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมาก เช่น การระบาดของวัณโรค อหิวาต์ หรือแอนแทรกซ์ ต่างก็ทำให้สิ่งมีชีวิตและคนล้มตาย แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าและเรารู้จักสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากขึ้น ก็พบว่า แบคทีเรียมีประโยชน์เช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

แบคทีเรียถูกใช้ในวงการแพทย์เพื่อผลิตยาปฏิชีวนะ ซึ่งช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ โดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมเพื่อสร้างแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับการศึกษา ทดลอง หรือแม้แต่ใช้ในการหมักและถนอมอาหารในวงการอุตสาหกรรม และอีกหนึ่งประโยชน์ทางธรรมชาติของมันคือ ความสามารถในการย่อยสลายสิ่งมีชีวิตที่ตายให้ผุพังลงจนกลายเป็นสารอาหาร เป็นปุ๋ยให้กับผู้ผลิต (Producer) ในระบบนิเวศอย่างพืชต่อไป แบคทีเรียจึงมีความน่าสนใจในแง่ของความสามารถที่หลากหลายและเป็นประโยชน์

 

สำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอย่างแบคทีเรีย วงจรชีวิตของพวกมันเริ่มต้นขึ้นจากเซลล์ง่าย ๆ แค่เซลล์เดียว และกระจายตัวหรือขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งเซลล์แบบ Binary fission กล่าวคือ แบ่งจาก 1 เป็น 2 เซลล์ จาก 2 เป็น 4 เซลล์ ในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้มีแบคทีเรียจำนวนมาก และแบคทีเรียทั้งหมดมีสารพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ แต่การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้แบคทีเรียประสบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์และคุกคามสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยโรคระบาดอย่างที่เราเคยเผชิญ เพราะสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีการปรับตัวไม่อาจอยู่ได้ตลอดไป ในเมื่อสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และคนเราเองก็พยายามคิดค้นยาขนานต่าง ๆ มาเพื่อหยุดยั้งมัน

ภาพ : Shutterstock

 

แบคทีเรียสามารถสืบพันธุ์โดยแลกเปลี่ยนหน่วยพันธุกรรมได้ แต่มันไม่ใช่การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศอย่างที่เรารู้จัก การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนั้นลูกหลานจะได้รับหน่วยพันธุกรรมจากแม่และพ่ออย่างละครึ่ง เกิดการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสเพื่อแบ่งหน่วยพันธุกรรม และการปฏิสนธิหรือการรวมตัวกันของหน่วยพันธุกรรมจากพ่อและแม่ แต่ในแบคทีเรียไม่มีกระบวนการเช่นนั้น สำหรับแบคทีเรียกระบวนการแบ่งปันหน่วยพันธุกรรมเกิดขึ้นง่ายกว่านั้นมาก พวกมันเพียงแค่แลกเปลี่ยนหน่วยพันธุกรรม ก่อนที่จะมีการแบ่งเซลล์แบบ Binary Fission ตามปกติ กระบวนการเพิ่มจำนวนแบบที่มีการแบ่งปันหน่วยพันธุกรรมนี้เรียกว่า Parasexual Reproduction และนั่นทำให้เซลล์ที่ได้หลังการแบ่งตัวมีหน่วยพันธุกรรมแตกต่างออกไป อีกทั้งยังมีความหลากหลายเหมือนกับสิ่งที่ได้จากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ พวกมันจึงสามารถวิวัฒนาการหรือผ่าเหล่าได้เช่นกัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow