Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุน

Posted By sanomaru | 25 พ.ย. 60
5,867 Views

  Favorite

สำหรับในเขตเมืองแล้ว มลพิษทางอากาศดูเหมือนจะเป็นของคู่กัน มันอาจมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ท่อไอเสียของยวดยานพาหนะ การเผาไหม้ขยะ กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และความรูู้ความเข้าใจที่บกพร่อง นอกจากนี้ในงานวิจัยบางงานยังระบุด้วยว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้

ภาพ : Shutterstock

 

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คืออะไร

โดยปกติแล้วกระดูกของคนเราจะประกอบด้วยส่วนนอกที่แข็ง แน่น และส่วนในที่โปร่งคล้ายกับเส้นใยสานกัน ซึ่งทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักเบาด้วย แต่เมื่อร่างกายสร้างเนื้อกระดูกได้น้อยลง หรือมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปมาก หรือเกิดขึ้นทั้งสองอย่าง จากสาเหตุต่าง ๆ กัน ก็ส่งผลให้เนื้อกระดูกนั้นโปร่ง และมีช่องว่างอยู่มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า กระดูกพรุน ดังนั้น จึงมีโอกาสที่กระดูกจะเกิดการแตกหักได้ง่ายขึ้น

 

การวัดค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกหรือค่า BMD (Bone Mineral Density) ทำให้สามารถประเมินความแข็งแรงของกระดูกได้ หากค่านี้ต่ำกว่ามาตรฐาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความสูงที่ลดลง อาการเจ็บหลัง และหลังค่อม ซึ่งมันได้เกิดขึ้นแล้วมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยพบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ภาพ : Shutterstock

 

ความน่ากลัวของโรคกระดูกพรุนไม่ใช่เพียงแค่การมีความสูงที่ลดลง อาการเจ็บหลัง หลังค่อม หรือกระดูกหักได้ง่ายเพียงเท่านั้น เพราะกระดูกมีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนกว่าการเป็นโครงสร้างของร่างกาย ที่ยึดเกาะของเอ็นกล้ามเนื้อ หรือป้องกันอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ โดยไขกระดูกซึ่งอยู่ส่วนในของกระดูกมีหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมสำคัญของธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสด้วย

 

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป เช่น อายุที่มากขึ้น ทำให้มีการสร้างมวลกระดูกน้อยลง เพศหญิงในวัยทองที่ขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ทำให้เกิดการสลายของกระดูกได้มากกว่าเพศชาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือขาดสารอาหาร แต่นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว งานวิจัยต่างประเทศก็ได้ระบุถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนที่เพิ่มขึ้นจากมลพิษทางอากาศด้วย

 

มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุน

จากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับสุขภาพ ระบุว่า นักวิจัยพบความเกี่ยวข้องกันระหว่างความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแตกหักของกระดูก กับการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่มีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน และยังระบุด้วยว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับของฝุ่นละอองและผงเขม่าจากท่อไอเสียของยานพาหนะสูง จะมีระดับแคลเซียมและฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการสร้างกระดูกที่ลดลง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูกเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศน้อยกว่า

 

อีกงานวิจัยหนึ่งเปิดเผยถึงผลวิจัยของชายวัยกลางคนจำนวน 692 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตบอสตันซึ่งเป็้นพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง พวกเขาพบว่า ชายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดต่ำลง นั่นส่งผลให้มวลกระดูกลดลงได้ เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับแคลเซียมที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างกระดูก

 

ส่วนโลหะหนักในอากาศ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม และปรอท ที่อยู่ในอากาศ ก็สามารถเข้าไปอยู่ในกระดูกได้ผ่านการหายใจของเรา ซึ่งมันยากที่เราจะนำโลหะหนักเหล่านี้ออกไปจากกระดูกหรือร่างกาย และเมื่อพวกมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในร่างกายของเราแล้ว มันจะมีผลกระทบต่อความเข้มข้นของวิตามินดี ซึ่งเป็นตัวช่วยควบคุมระดับแคลเซียมอีกตัวหนึ่ง และมีผลยับยั้งการทำงานของออสทีโอบลาสต์ (Osteoblasts) ที่เป็นเซลล์สร้างกระดูก และกระตุ้นออสทีโอคลาสต์ (Osteoclasts) ที่เป็นเซลล์ทำลายกระดูกด้วย

 

การหลีกเลี่ยงภาวะกระดูกพรุน

ในช่วงก่อนอายุ 30 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายมีการเติบโตและสร้างกระดูกสูงสุด ดังนั้น เพื่อช่วยเสริมการสร้างมวลกระดูกและสงวนมวลกระดูกไว้ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่มวลกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงเรื่อย ๆ จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นมสด ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เต้าหู้ ให้เพียงพอ  ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรง และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากคุณตกอยู่ในภาวะกระดูกพรุน ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยเสี่ยงใด การล้ม การกระแทก หรือแม้แต่การจาม อาจจะเป็นสาเหตุให้กระดูกถึงกับหักเลยก็เป็นได้

 

 

แหล่งข้อมูล
TECHTIMES. Air Pollution Linked To Increased Risk For Osteoporosis And Bone Fractures: Study. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
Forbes. What Air Pollution Can Do To Your Bones. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
NCBI. Exposure to air pollution increases the risk of osteoporosis: a nationwide longitudinal study. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
ResearchGate. Air pollution and genetic influences on bone mineral density and osteoporosis. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
Greenpeace. ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำไมใครก็ว่าร้าย? สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. บทที่ 6 ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
หาหมอ. โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia). สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
งานพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป. การป้องกันโรคกระดูกพรุน. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow