Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไฟและการดับไฟ

Posted By Plook Creator | 20 พ.ย. 60
30,133 Views

  Favorite

ย้อนกลับไปหลายพันล้านปี เมื่อบรรพบุรุษของมนุษย์ได้รู้จักเข้ากับไฟ มันเป็นความร้อน มันมีสีแดง มันแผดและเผา นอกจากนั้นมันยังมีอำนาจทำลายล้าง ช่วยให้แสงสว่าง ให้ความอบอุ่นเมื่อต้องการ และที่สำคัญมันยังช่วยไล่ศัตรูอย่างสัตว์ร้ายต่าง ๆ ออกไปได้ นั่นคือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีคาดเดากันไว้ ว่ามนุษย์เราเคยใช้ประโยชน์จากมันมานานแล้ว

 

ทั้งนี้ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากความบังเอิญอย่างสายฟ้าฟาดลงบนกองฟางหรือเศษไม้แห้งจนทำให้เรามีไฟไว้ใช้ หรือความกล้าหาญของบรรพบุรุษของเราที่รู้จักและเรียนรู้ที่จะจัดการและจัดเก็บมันเอาไว้อย่างปลอดภัยโดยไม่ทำให้ตัวเองไหม้ การกำเนิดของไฟกลับไม่ใช่สิ่งสำคัญของยุคนี้เท่ากับการจำกัดขอบเขตของมันและการดับมันให้ได้


ไฟเกิดจากอะไร

ไฟทำให้เกิดการเผาไหม้ มันเริ่มต้นจากประกายไฟ ตามด้วยเชื้อเพลิงที่จะทำให้มันแผดเผาและลุกไหม้ต่อไป และนั่นคือการปลดปล่อยพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิง ซึ่งไม่ว่าเชื้อเพลิงจะอยู่ในรูปของแข็งอย่างฟืนหรือไม้ ของเหลวอย่างน้ำมัน ไขมัน หรืออาจจะเป็นก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงติดไฟต่าง ๆ ในปัจจุบันเราก็สามารถทำให้ไฟจุดติดขึ้นได้ตามต้องการ เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ที่องค์ประกอบของการเกิดไฟเพียบพร้อม

 

ไฟจะขนาดเล็กหรือใหญ่ล้วนเกิดขึ้นด้วย 3 ปัจจัย คือ ออกซิเจน เชื้อเพลิง และความร้อนหรือประกายไฟ ซึ่งปัจจัยสุดท้ายอาจจะเป็นประกายหรือความร้อนก็ได้ เนื่องจากเชื้อเพลิงบางชนิดสามารถจุดติดไฟได้เพียงแค่อุณหภูมิสูงขึ้นมากพอ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับประกายไฟนั่นเอง


ไฟที่เราเคยเห็นมีสีที่แตกต่างกัน บ้างก็แดง บ้างก็เหลือง บ้างก็น้ำเงิน อย่างดวงอาทิตย์เองก็มีหลายสีในแต่ละส่วนของมัน ดาวฤกษ์แต่ละดวงก็มีสีที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นเป็นเพราะบนดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์มีอุณหภูมิที่ต่างกัน ดาวฤกษ์ที่มีแสงสีเหลืองอย่างดวงอาทิตย์ของเรา มีอุณหภูมิผิวอยู่ระหว่าง 4,200-6,000 องศาเคลวิน แต่ดาวฤกษ์ที่มีสีน้ำเงินอย่างดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวนายพรานมีอุณหภูมิสูงกว่าโดยอยู่ที่ 35,000 องศาเคลวิน และดาวบางดวงที่มีแสงส้มแดงจะมีอุณหภูมิผิวดาวต่ำกว่าโดยอยู่ที่ 3,000 - 3,200 องศาเคลวิน

ภาพ : Shutterstock

 

นอกจากอุณหภูมิที่ทำให้สีของเปลวไฟต่างกันแล้ว ประเภทของเชื้อเพลิงเองก็มีผลทำให้สีของเปลวไฟแตกต่างกันได้ด้วย ตัวอย่างเช่น
- สีส้มสว่าง ปกติแล้วเป็นสีของไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ของไม้ เนื่องจากไม้มีส่วนประกอบของโซเดียม หรืออีกนัยหนึ่งคือ เมื่อโซเดียมเกิดการเผาไหม้จะให้สีส้ม
- สีฟ้าอมม่วง อาจพบได้ในการเผาไม้หรือเผาฟืน เกิดจากแร่คาร์บอนและไฮโดรเจน ซึ่งจะปล่อยสีฟ้าและสีม่วงออกมาตามลำดับ
- สีเขียวและสีฟ้า เป็นสีของเปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้แร่ทองแดง
- สีแดง เป็นสีของเปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ลิเทียม
ดังนั้นหากคุณจะเล่นมายากลหรือสร้างผลงานศิลปะจากไฟให้มีสีของเปลวไฟที่หลากหลาย ก็อาจจะใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนประกอบของแร่ที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้สีที่แตกต่างกัน

 

การดับไฟ

สำหรับหลักในการทำให้ไฟดับก็คือ การตัดปัจจัยการเกิดไฟ 1 ใน 3 อย่าง (ออกซิเจน เชื้อเพลิง และความร้อนหรือประกายไฟ) นั้นออกไป แน่นอนว่าปัจจัยด้านอุณหภูมิและประกายไฟไม่สามารถตัดออกไปได้เมื่อเปลวไฟมันเกิดขึ้นแล้ว จึงเหลือแค่การกำจัดอากาศที่มีก๊าซออกซิเจนเพื่อไม่ให้มีออกซิเจนในการทำปฏิกิริยาและการเผาไหม้ต่อไป หรือการกำจัดเชื้อเพลิง

 

วิธีส่วนใหญ่ที่เรามักใช้ดับไฟคือ การใช้น้ำ เนื่องจากน้ำจะไปกั้นระหว่างเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้และเชื้อเพลิง จึงทำให้ไฟดับได้ ยกตัวอย่างเช่น การไหม้ของไม้หรือฟืนซึ่งเมื่อราดน้ำลงไปแล้ว ไม้ที่ลุกไหม้อยู่จะเปียก มีความชื้น และหากมีน้ำในปริมาณที่มากพอก็จะทำให้ไฟดับได้

 

อย่างไรก็ดี การดับไฟไม่สามารถใช้น้ำได้ในทุกสถานการณ์ บางครั้งบางสถานที่น้ำในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการดับไฟนั้นหาได้ยาก เช่น ท้องถิ่นทุรกันดาร บางครั้งไม่สามารถใช้น้ำดับได้เนื่องจากเชื้อเพลิงต้นเหตุของไฟบางชนิด เช่น สารเคมี น้ำมัน มีปริมาณมาก หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าและสภาพโดยรอบอาจเสียหายจากการใช้น้ำ จึงมีการคิดค้นวิธีการดับไฟที่หลากหลาย เช่น อาคารสำนักงานที่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่มาก หากเกิดเพลิงไหม้แล้วอาจเลือกใช้วิธีการกำจัดก๊าซออกซิเจนเพื่อให้ไฟดับแทนการใช้น้ำหรือสารเคมีดับเพลิง โดยโครงสร้างของอาคารต้องไม่มีช่องระบายอากาศ และการปิดประตูและหน้าต่างโดยรอบพร้อมสูบอากาศออกจะทำให้เพลิงไหม้ภายในดับได้

 

ในบางสถานการณ์เราอาจดับไฟโดยใช้สารเคมี เช่น ผงเคมีแห้งซึ่งประกอบไปด้วยฝุ่นแป้งโพแทสเซียมไบคาบอร์เนต หรืออาจจะเป็นถังดับเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งเมื่อใช้ในพื้นที่อับลม มันจะเข้าไปแทนที่ก๊าซออกซิเจนและสามารถหยุดเพลิงไหม้ได้ หรือถังดับเพลิงแบบใช้สารเคมีที่สร้างชั้นโฟมคลุมเชื้อเพลิงเอาไว้ซึ่งเหมาะกับการดับน้ำมัน โดยโฟมจะไปคลุมผิวน้ำมันเอาไว้ทำให้ไม่สามารถลุกไหม้ต่อไปได้

 

อีกครั้งที่การศึกษาและเข้าใจในธรรมชาติของเหตุต่าง ๆ ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป การเข้าใจในองค์ประกอบของการเกิดไฟ ทำให้เราสามารถเลือกใช้วิธีที่หลากหลายในการสร้างและดับไฟนั่นเอง

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ดับไฟได้ทันใจ แล้วอะไรอยู่ในถังดับเพลิง
 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow