Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กตัญญูเฉียบพลัน ภาวะที่ธรรมะช่วยได้

Posted By มหัทธโน | 15 พ.ย. 60
16,212 Views

  Favorite

 

กตัญญูเฉียบพลัน อาการที่กำลังเกิดมากขึ้น ในสังคมไทย

 “กตัญญูเฉียบพลัน”  คือ ลูกหลานที่แทบจะไม่เคยดูแลใส่ใจพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายก็กลับเกิดความกตัญญูฉับพลัน ทุ่มการรักษาสุดตัวโดยไม่คำนึงว่า ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานเพียงใดจากการยืดชีวิต ยื้อความตาย


กตัญญูเฉียบพลัน ผลจากสังคมสมัยใหม่

กรณีตัวอย่างเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ทั่วโลก อาจเป็นเพราะโครงสร้างครอบครัวที่แยกตัวกันอย่างชัดเจน สายใยที่ขาดหายระหว่างคนรุ่นแม่กับรุ่นลูก การทำงานที่หนักหน่วงเอาเป็นเอาตาย กิจกรรมหลายอย่างก็ดึงความสนใจออกไปจากครอบครัว เหล่านี้ทำให้คนรุ่นลูกเสียโอกาสที่จะดูแลคนรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายายอย่างเต็มที่ในยามที่ยังมีชีวิตอยู่
 

เมื่อยามต้องตายจากกันจริงๆ เป็นไปได้ลูกหลานก็เกิดความรู้สึกผิด โกรธ – เสียใจที่รู้ตัวว่าไม่เหลือเวลาแล้วที่จะอยู่ด้วยกัน ทำดีต่อกัน รวมไปถึงความเข้าใจผิดที่ว่า การให้ความรักความเอาใจใส่ที่ดีที่สุดคือการช่วยให้ญาติผู้ใหญ่มีชีวิตอยู่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่สนว่าคุณภาพชีวิตในระหว่างนี้จะเป็นอย่างไร


บางคนอาจคิดเลยไปว่า ยิ่งผู้ป่วยมีชีวิตยืดยาวเท่าไหร่ ยิ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลเยอะเท่าไหร่ ยิ่งเท่ากับว่าแสดงความรักความกตัญญูมากขึ้นเท่านั้น

 

ปัญหาที่แพทย์พยาบาลต้องรับมือมากขึ้น

การเข้าไปสงบสติอารมณ์ พูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ยาก มันหมายถึงแพทย์พยาบาลกำลังจะเข้าไปเผชิญกับผู้ที่คุกรุ่นไปด้วยความโกรธ ความรู้สึกผิด ความเสียใจ ความกลัว รวมไปถึงความโศกเศร้าของผู้ที่กำลังจะเผชิญความสูญเสีย
 

สาเหตุที่น่าจะเป็น

เป็นไปได้หรือไม่ที่ลูกหลานที่มีอาการกตัญญูเฉียบพลันเหล่านี้จะมีอดีตที่เจ็บปวดขมขื่นกับผู้ป่วย

ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น การจองเวร การทำผิดต่อกันที่ไม่ได้ชำระสะสาง คำมั่นสัญญาที่ยังติดค้าง เหล่านี้ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสับสนวุ่นวาย อารมณ์ขุ่นมัว บรรยากาศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีให้ผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบเลย
 

นอกจากนี้ ปัญหาระหว่างความสัมพันธ์ ของผู้ที่กำลังจะเสียชีวิต ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่า จะเป็นความบาดหมาง ความน้อยใจ เสียใจ ในวัยเด็ก ของแต่ละคน ล้วนทำให้ เรื่องยิ่งยุ่งยากซับซ้อน ไปอีก เพราะ การที่ยังมิได้ ทันสะสาง ปรับความเข้าใจ ไม่ทันสั่งเสีย อโหสิกรรมให้กันและกัน ล้วนทำให้ ว้าวุ่นใจได้มากมาย หากต้องจากกันแบบกะทันหันเช่นนี้

 

อย่าลืมว่าอดีตของอนาคตคือปัจจุบัน

ลองถามตัวคุณเองว่าในปัจจุบันนี้คุณทำดีอย่างถึงที่สุดกับคนที่คุณรักแล้วหรือไม่?

เพื่อที่ว่าเมื่อความตายมาเยี่ยมเยือนคนรักของคุณแล้วจริงๆ คุณจะได้ไม่กลายไปเป็นคนหนึ่งที่มีอาการ “กตัญญูเฉียบพลัน"

 

ภาพ : shutterstock

 

ธรรมะกับกตัญญูเฉียบพลัน

ประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ ศาสนาที่สอนให้คนเจริญมรณานุสติ – ระลึกถึงความตายว่าเป็นเรื่องที่จะล่วงพ้นไปไม่ได้อยู่เนือง ๆ 

มรณานุสติ สอนว่า

เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมกับการจากกัน แบบกะทันหัน ลองสำรวจตัวเอง ลองถามตัวเราเองว่าในปัจจุบันเรา ได้ดูแล ได้ทำดีที่สุด กับคนที่คุณรักแล้วหรือยัง เราได้ติดค้าง คำพูด คำถาม หรือสิ่งใด ที่อยากจะพูดให้รับทราบ เพื่อปรับความเข้าใจกันแล้วหรือยัง ถ้ายังให้รีบทำเสีย เพื่อว่า เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะได้ไม่ต้องเสียใจ ที่พลาดโอกาสนี้ไป โดยไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่

 

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณบอกว่า

การได้นอนพิจารณาก่อนจะสิ้นลม เพียงห้านาทีก็เป็นนาทีทอง
พิจารณาคือ อภัยทาน เราให้อภัยญาติพี่น้อง ให้อภัยตัวเองที่ไม่ดูแลตัวเองหรือยัง ให้อภัยพยาบาลที่พูดไม่ดีกับเราหรือยัง ให้อภัยแพทย์ที่วินิจฉัยโรคผิดหรือยัง

 

สิ่งที่ควรเริ่มทำ ตั้งแต่ตอนนี้ มิใช่รอถึงวินาทีสุดท้าย 

1. ความกตัญญูเป็นเรื่องสำคัญที่ควรมีในคนทุกคน โดยที่มิใช่ต้องมีเพื่อที่จะเติมเต็มความสมบูรณ์ ของความเป็นคนดี เพราะความกตัญญู เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนดีทุกคน

2. การตัดสินใจเรื่องการยื้อชีวิต ยังคงอิงอยู่บนพื้นฐาน สามัญสำนึกว่า ”หากยังมีโอกาสกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติได้ ให้ช่วยให้เต็มที่ และ ทำอย่างสุดความสามารถ“

3. หากเป็นการยื้อชีวิตในการป่วยหนักระยะสุดท้ายของชีวิตจริง ๆ หากเราต้องตัดสินใจแทนผู้ป่วย ให้ถามตัวเองว่า ถ้าสมมติว่าเป็นเราป่วยเอง หากช่วยแล้วรอดชีวิต แต่ต้องทรมานต่อไปไม่รู้อีกนานเท่าไร ท่านจะคิดอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร

4. ทุกคน ล้วนปรารถนา ให้ เกิด..มีชีวิต..และจากไป อย่างมี ศักดิ์ศรี ของ ความเป็นมนุษย์ ด้วยกันทั้งสิ้น


 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow