Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

12 องค์กรเอกชนชั้นนำ ยืนยันเจตนารมณ์ เดินหน้าสานพลังประชารัฐ คอนเน็กซ์-อีดี ภายใต้การสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม

Posted By Plook News | 14 พ.ย. 60
4,284 Views

  Favorite

12 องค์กรเอกชนชั้นนำ ยืนยันเจตนารมณ์ เดินหน้าสานพลังประชารัฐ คอนเน็กซ์-อีดี 

ภายใต้การสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม

ภูมิใจ 711 ผู้นำรุ่นใหม่ ฉายแววโดดเด่น ขับเคลื่อนโครงการในปีแรกจนสัมฤทธิ์ผล

ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลักโครงสร้างการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทางสานพลังประชารัฐ   

 

ลดความเหลื่อมล้ำ : ยกระดับให้นักเรียนได้เข้าถึงไอซีทีและสื่อมัลติมีเดีย ใน 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะ
พัฒนาคุณภาพคน : สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน คุณครูมืออาชีพ 36,397 คน และเสริมแกร่งผู้อำนวยการ 3,351 โรงเรียนประชารัฐ
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน :  ดำเนินงานตามแผนพัฒนาโรงเรียน 
ส่งเสริมการจัดการศึกษาทั้งด้านทักษะวิชาการและทักษะวิชาชีพ ผ่านการ
สนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน รวม 312,621,993 บาท

 

ภาพ : CONNEXT ED

 

กรุงเทพฯ 14 พฤศจิกายน 2560 – นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน - คอนเน็กซ์-อีดี (CONNEXT ED) ครั้งที่ 4 ที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้บริหารระดับสูงจาก 12 องค์กรเอกชนใหญ่ระดับประเทศ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มมิตรผล บมจ.ปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บมจ.ไทย ยูเนี่ยนกรุ๊ป และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดขึ้นเพื่อสานต่อพลังความร่วมมือ พร้อมประกาศขอบคุณ 711 ผู้นำรุ่นใหม่  (School Partners) จากทุกองค์กรเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการในปีแรก จนสามารถจุดประกายสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล ในโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,351 แห่งในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตอบโจทย์ตาม 10  ยุทธศาสตร์หลักของโครงสร้างในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางสานพลังประชารัฐ  ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำให้นักเรียนได้เข้าถึงไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียใน 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะ การพัฒนาคุณภาพคนโดยสร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน ปั้นคุณครูมืออาชีพ 36,397 คน เสริมแกร่งผู้อำนวยการ 3,351 โรงเรียนประชารัฐ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่  ซึ่งผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น  ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานศึกษาและชุมชนในแต่ละพื้นที่โรงเรียนประชารัฐ 3,351  ทั่วประเทศ  ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน รวม 312,621,993 บาท พร้อมกำหนดตัวชี้วัดระดับสากลรองรับการประเมินและวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์โรงเรียนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างชัดเจน ตั้งเป้าขยายบทบาทความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชนอื่นๆในปีต่อไป

 
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวว่า การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการคอนเน็กซ์-อีดี ในปีแรกนี้  ถือเป็นมิติใหม่ของการร่วมมือเพื่อการศึกษาไทยอย่างแท้จริง  ความทุ่มเท เสียสละ และพลังศรัทธาของเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ทั้ง 711 คน จากทั้ง 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ผนวกกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐและภาคประชาสังคม นับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนไปได้ทั้ง 3,351 โรงเรียนในขั้นต้นอย่างราบรื่น ซึ่งภาคเอกชน ต้องขอขอบคุณความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนอย่างสูง พร้อมขอยืนยันเดินหน้าสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำต่อไป โดย 1 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลักของโครงสร้างการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทางสานพลังประชารัฐ คือ
 
ลดความเหลื่อมล้ำ : ยกระดับให้นักเรียน ได้เข้าถึงชุดอุปกรณ์ไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้จากทั่วทุกมุมโลกสู่ 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะได้อย่างทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ อีกทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centric) 
พัฒนาคุณภาพคน : สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน ควบคู่กับการปั้นคุณครูมืออาชีพ 36,397  และส่งเสริมศักยภาพผู้อำนวยการโรงเรียน 3,351 คน  เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน :  ดำเนินงานตามแผนพัฒนาโรงเรียนอย่างมีลำดับขั้นตอน เป็นระบบ เสริมแกร่งทั้งทักษะวิชาการและวิชาชีพ โดยภาคเอกชน ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 312,621,993 บาท
 
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กซ์-อีดี ตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อของโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) เพื่อยกระดับการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล โดยมีความคืบหน้า ดังนี้ 

1. ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา (Transparency)

– จัดทำระบบกลางแสดงตัวชี้วัด (KPI) โรงเรียนประชารัฐ ที่สามารถวิเคราะห์และประเมินผลข้อมูลเชิงลึกได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส และเป็นระบบตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมสนับสนุนโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

2. กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน (Market Mechanism)

– จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการจัดการศึกษาและพัฒนาโรงเรียน

3. การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ (Young Leadership Development)

– จัดหลักสูตรพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ ที่มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และส่วนรวม รวมทั้งจัดตั้งโครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาทักษะวิชาชีพและคุณภาพชีวิตในศตวรรษที่ 21

4. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructure)

– สนับสนุนการเชื่อมต่อไฟเบอร์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทดแทนการใช้อินเทอร์เน็ตในรูปแบบ ADSL, IP Star และติดตั้งอุปกรณ์ไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียทุกห้องเรียน เพื่อยกระดับโรงเรียนและชุมชนให้เข้าถึงองค์ความรู้ เปิดจินตนาการสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนพัฒนาการศึกษาให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

5. หลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Curriculum & Child Centric)

– จัดทำระบบ Knowledge Based Learning และจัดทำ CONNEXT ED Studio เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย ผ่านหลักสูตรตามมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพของผู้เรียนให้รักที่จะตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบ และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงจนเกิดเป็น “ทักษะ”

6. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality School Principals and Teachers)

– จัด CONNEXT ED Roadshow และจัดหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารและครูโดยองค์กรผู้ร่วมโครงการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโลกทัศน์ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

7. การยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (English Language Capability)

– คัดสรร จัดทำสื่อภาษาอังกฤษ และจัดอบรมเทคนิคการใช้สื่อและการสอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ผ่านสื่อมัลติมีเดียทันสมัย

8. การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะให้นักเรียน  (Health & Heart)

– คัดสรร จัดทำสื่อด้านคุณธรรม และหลักสูตรการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อสร้างเยาวชนที่ดี และปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาชุมชนและสังคม

9. การสร้างมาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ (Tax Incentive for Local & International Professor)

– จัดตั้งกองทุนโรงเรียนประชารัฐ ครบทั้ง 3,351 โรงเรียน   พร้อมผลักดันมาตรการสร้างแรงจูงใจทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี   ที่จะเป็นกลไกการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อร่วมยกระดับการจัดการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล

10. ศูนย์กลางการศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค (Technology R&D Hub)

– ศึกษาข้อมูลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้นคว้าวิจัย 4 เทคโนโลยีแห่งอนาคตทั้ง Digital, Nano, Bio และ Robotics Technology 

 
ภาพ : CONNEXT ED

 

สำหรับแนวทางการดำเนินการของโครงการ CONNEXT ED ต่อจากนี้ จะยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งจากส่วนกลางและในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ (Engagement) ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center) ในโรงเรียนประชารัฐ  เพื่อส่งเสริมและดึงศักยภาพของทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน  สู่การค้นคว้าองค์ความรู้  พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกัน รวมทั้งจะเพิ่มการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครูสำหรับการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (High Quality Principals & Teachers) เพื่อให้ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและครู สามารถออกแบบการสอนหรือการส่งเสริมและพัฒนาเด็กได้สอดคล้องกับการสร้างเด็กไทยในอนาคตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
 
นอกจากนี้ ในเฟสที่ผ่านมา ได้มีการเก็บรวบรวมตัวชี้วัดโรงเรียนประชารัฐที่ครอบคลุม 43 ตัวชี้วัดตามมาตรฐานสากลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ไปจนถึงรายโรงเรียนได้อย่างชัดเจน 
 
ในก้าวต่อไป จะมีการจัดทำ  School Grading โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ Poor -Fair-Good-Great-Excellent พร้อมจัดทำตัวชี้วัดมาตรฐานโรงเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และยกระดับมาตรฐานโรงเรียนนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดกลไกการแข่งขันในการยกระดับและพัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญโครงการ CONNEXT ED ยังจะเดินหน้าขยายบทบาทความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพิ่มเติม ทั้งองค์กรเอกชนอื่นๆ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) ที่จะลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในโรงเรียนประชารัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะกระบวนการซึ่งกันและกัน เพื่อให้ครอบคลุมครบทุกโรงเรียนในที่สุด
 
ภาพ : CONNEXT ED

 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ยินดีสนับสนุนโครงการ CONNEXT ED อย่างเต็มที่ ด้วยความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยีและความมุ่งมั่นของบุคลากร ที่พร้อมสานเข้ากับทรัพยากรขององค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อร่วมกันสร้างคนรุ่นใหม่สำหรับการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนต่อไป
 
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาไทย ถือเป็นนโยบายที่ BJC ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมากกว่า 134 ปี BJC เชื่อว่าความรู้ในเรื่องการงานอาชีพสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ได้ แต่การปลูกจิตสำนึกรักที่จะเป็นผู้ให้ พร้อมแบ่งปันศักยภาพตนเองสู่สังคม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคนและเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเติบโตขององค์กร BJC ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CONNEXT ED ที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคน สู่การพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง อันนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก
 
นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการ CONNEXT ED เป็นการจุดประกายความร่วมมือทางการศึกษาครั้งสำคัญ ที่ภาคเอกชนได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบเติมเต็มทั้งต่อองค์กร บุคลากร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร เชื่อมั่นว่า CONNEXT ED เป็นโครงการที่ทำได้จริงและจะเป็นความร่วมมือที่ยั่งยืน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียน ครู ในการ “ร่วมคิด ร่วมพัฒนา ร่วมสนับสนุน” และท้ายที่สุดจะเกิดผลดีที่สุดต่อเด็กและเยาวชนของไทย
 
นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CONNEXT ED เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะทำให้เราเป็นผู้นำที่คิดถึงผู้อื่นคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคิดถึงเยาวชนซึ่งเป็นพลังของชาติ ทุกคนอยากเห็นเด็กไทยเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ซึ่งการเข้าไปร่วมโครงการนี้จะทำให้บุคลากรของซีพี ออลล์ เป็นทั้งคนดีและคนเก่งด้วยเช่นกัน
 
นายเอนก บุญหนุน ประธานบริหารโครงการ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า เราชาว CPF มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการยกระดับการศึกษาของประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากแต่เราพยายามสร้างสำนึกในการทำงานร่วมกันระหว่าง โรงเรียน ชุมชน และศาสนา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่เราดำเนินการภายใต้โครงการนี้ คือ การปรับฐานเศรษฐกิจผ่านโครงการเกษตรผสมผสาน ให้ทุกคนอิ่มท้อง สร้างแนวคิดให้กับชุมชนว่า ชุมชนคือโรงเรียนที่ 2 และโรงเรียน คือบ้านที่ 2 ซึ่งชุมชนและครูจะเป็นผู้หล่อหลอมให้เด็กเป็นคนดี  ขณะที่ ICT เป็นเครื่องมือและองค์ความรู้ในการส่งเสริมให้ครูและนักเรียนคิดนอกกรอบ ที่สำคัญคือการสร้าง 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของครู นักเรียนและคนในชุมชน สู่ความเป็นผู้นำ
 
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีมากที่กลุ่มมิตรผลและบ้านปูได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CONNEXT ED ในการร่วมขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา  กลุ่มมิตรผลและบ้านปู มีการสนับสนุนการพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยพัฒนาระบบและวิธีการสอนของคุณครู และมีการนำเทคโนโลยีด้าน IT มาใช้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในหลายด้านต่อนักเรียน  ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญให้กับเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ   กลุ่มมิตรผลและบ้านปู จะร่วมขับเคลื่อนโครงการ CONNEXT ED ในรุ่นต่อไป และพร้อมสนับสนุนโครงการ CONNEXT ED ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
 
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. กล่าวว่า ปตท.เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงการ CONNEXT ED โดยคัดเลือกผู้บริหารระดับกลางและระดับต้นในแต่ละเขตพื้นที่มาเป็น School Partners เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของไทย จำนวน 14 คน รับผิดชอบ 42 โรงเรียน โดยตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ปตท. รู้สึกชื่นชมในความพยายามของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ที่ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ด้วยเห็นว่าการพัฒนาการศึกษาของชาติ การพัฒนาเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต มีความจำเป็นอย่างยิ่ง แผนงานพัฒนาโรงเรียนที่กลุ่ม ปตท.ให้การสนับสนุนนั้น เชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ กระบวนการคิด การใช้สื่อ เครื่องมืออำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน เพื่อสร้างให้เด็กนักเรียนมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ รู้จักวิธีการแก้ไขปัญหา เตรียมความพร้อมที่จะเรียนรู้และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการเรียนการสอน รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน สำหรับการทำงานของกลุ่ม ปตท. ในโครงการโรงเรียนประชารัฐ เป็นการร่วมมือของ 6 บริษัทในกลุ่ม คือ บมจ.ปตท. บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บมจ.ไทยออยล์ บมจ.ไออาร์พีซี และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีความร่วมมือที่มีอยู่ ที่สำคัญคือความร่วมมือจากโรงเรียน จะช่วยทำให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดมุ่งหวังผล ในการพัฒนาทั้งคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพชีวิตของนักเรียนและครู สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ปกครอง และชุมชนรอบโรงเรียน การพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ ให้เอื้อต่อการเรียนการสอน ช่วยจุดประกายการเรียนรู้แก่นักเรียน ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้  กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมแผนงานการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐอย่างต่อเนื่องโดยเสริมหลักสูตรที่เน้นในเรื่องของ STEM เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะบูรณาการโรงเรียนประชารัฐกับการจัดตั้ง Public School ตามแผนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ Thailand 4.0 ด้วย
 
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน วันนี้ภาคเอกชนจึงร่วมกันผนึกกำลังสร้างมิติใหม่ ในระบบการศึกษาไทยเพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และขับเคลื่อนประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาล
 
นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมโครงการนี้ ที่ทำให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยและขอบคุณ School Partners ที่เป็นจิตอาสาทุ่มเท ทั้งแรงกายแรงใจทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านผู้อำนวยการโรงเรียน เอสซีจีได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่โรงเรียน และมี School Partners มาช่วยแบ่งปันประสบการณ์ให้กับโรงเรียนด้วย
 
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า โครงการ CONNEXT ED เป็นนิมิตหมายที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังจากทุกภาคส่วน สิ่งที่สำคัญในเรื่องของการศึกษา คือ เราจะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่รอบตัวเรามาประยุกต์ใช้และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตได้อย่างไร การศึกษาที่ดี คือ การสร้างวินัย สร้างขีดความสามารถให้เยาวชนมีพละกำลังทางด้านความคิด แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันในโครงการ CONNEXT ED นี้ เราจะช่วยให้เยาวชนรุ่นต่อไปมีพลังในการเติมเต็มอนาคตของประเทศได้อย่างมากทีเดียว
 
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่บริษัทไทยยูเนี่ยน ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชารัฐที่เน้นการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ในระยะเวลา 1ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งงบประมาณและบุคลากรให้แก่ 30 โรงเรียนที่เราดูแล เราหวังว่าการสนับสนุนนี้ จะมีส่วนช่วยให้การศึกษาของประเทศมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่าการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น บริษัท จึงจะให้การดูแล 30 โรงเรียนเดิมของเราต่อไป นอกจากนี้ เรายินดีรับโรงเรียนเพื่อเข้ามาดูแลภายใต้โครงการนี้เพิ่มเติมในปีหน้าด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติมต่อไป
 
นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า โครงการ CONNEXT ED เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของกลุ่มทรู ที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปี นับเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของภาคเอกชนที่แตกต่างจากเดิมจากการสนับสนุนงบประมาณหรืออุปกรณ์เพื่อการศึกษา มาเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง สำหรับโครงการ CONNEXT ED นั้นมีความชัดเจนว่าเป็นการดำเนินการตามพันธกิจสร้างเยาวชนของไทยให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง โดยในส่วนของกลุ่มทรู ได้นำศักยภาพด้านเทคโนโลยีสื่อสาร  ให้การสนับสนุนด้าน ICT Connectivity  เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับ 1,294 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล  เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารสาระการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ทั่วไป  และติดตั้งชุดอุปกรณ์ไอซีทีและสื่อมัลติมีเดีย เพื่อการศึกษาครอบคลุมครบ 39,289  ห้องเรียนทั้ง 3,351 โรงเรียน  พร้อมติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประจำห้องเรียน  ที่มีสื่อเสริมการเรียนการสอน Interactive Learning รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนโรงเรียนตามแผนการพัฒนา เพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนกับ School Partners ซึ่งเป็นพนักงานของกลุ่มทรู จำนวน 298 คน ร่วมกันขับเคลื่อนแผนพัฒนาโรงเรียนที่ได้รับการอนุมัติ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงจนเกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ยังจัดโครงการ ICT Talent ที่กลุ่มทรู ได้คัดเลือกผู้นำเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาทักษะด้าน ICT  ก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนประชารัฐที่รับผิดชอบ  นำร่องในปี 2560 แล้วจำนวน 100 คนประจำใน 100  โรงเรียน  โดยมีภารกิจหลัก (Engage – Enable – Empower) ในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมผลักดันให้คณะครูและนักเรียน ใช้ชุดอุปกรณ์ไอซีทีและสื่อมัลติมีเดีย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการเรียนการสอน และขยายผลสู่ชุมชนรอบข้างให้สามารถประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป 
 
ผู้สนใจข้อมูลโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pracharathschool.go.th

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow