Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิถีเกษตรกรยุคใหม่ ก้าวหน้าพารวย

Posted By Plook Magazine | 14 พ.ย. 60
16,338 Views

  Favorite

เวลาที่มีเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ ออกมาใหม่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ไม่ต้องบอกก็พอจะรู้ว่าคนทั่วโลกต่างก็รุมกันเข้าไปทำความรู้จักกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่ออกมาแค่ไหน ผิดกับเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ไม่ว่าจะออกอะไรมาใหม่ ก็มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะอยากเข้าไปทำความรู้จัก ทั้งที่ความจริงเทคโนโลยีทางการเกษตรก็ว้าว และน่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน


เนื่องจากการเกษตรในปัจจุบันเขาพัฒนาก้าวไกล ไม่จำเป็นต้องร้อน ต้องเหนื่อย  ต้องลำบากแล้วนะ จากคำว่า 'หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน' ก็กำลังจะเปลี่ยนไปเป็น 'หลังนวดสปา หน้าดูจอ' ตามลำดับ มาดูกันว่าเกษตรสมัยนี้มันสมาร์ทขึ้น ไฮเทคขึ้นอย่างไรบ้าง เผื่อว่าจะติดใจจนอยากเป็น Smart Farmer กับเขาบ้าง

 

 

 

กว่าจะเป็น Smart Farmer มันยาก 

 
ยุคโบราณ พึ่งพาธรรมชาติเท่านั้น
ในยุคโบราณแทบจะไม่มีหลักฐานปรากฎถึงเครื่องมือการทำเกษตรที่ทันสมัยเลย จนช่วงหลังพบกระบวยตักน้ำที่ทำจากดินเหนียวเพื่อใช้ในการรดน้ำพืชของชาวอียิปต์ ส่วนในประเทศไทยพบหลักฐานเครื่องจับปลาใหญ่ที่แม่น้ำโขง การควบคุมน้ำอย่างง่ายโดยใช้คูน้ำที่จังหวัดอุบลราชธานี แถมสมัยนั้นผู้คนยังคิดว่าถ้าหากพืชหรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ล้มตายก็เป็นเพราะภูตผีปีศาจมาลงโทษ 

 
ยุคกลาง เริ่มเพาะปลูกเป็นหลักแหล่ง 
จอบคม ๆ รูปทรงปราณีตถือเป็นเครื่องมือที่สมาร์ทที่สุดของคนยุคกลาง ในขณะเดียวกันผู้คนก็เริ่มให้ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ มีการรวบรวมตำราเกี่ยวกับเมล็ดพืช ประดิษฐ์เครื่องไล่แมลง เกี่ยวข้าวด้วยเคียวซึ่งทำจากโลหะและไถแปลงด้วยการใช้แรงสัตว์ เพาะปลูกเป็นหลักแหล่ง แถมยังพบการถลุงเหล็กในอีสานตอนใต้ของไทยเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเกษตร เช่น ไถหัวโลหะที่ใช้ลากจูงด้วยสัตว์เลี้ยง

 
ยุคใหม่ ใช้วิทยาศาสตร์ในการเกษตรกรรม 
เทคโนโลยีทางการเกษตรได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างชัดเจนในยุคใหม่ เนื่องจากมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตร มีการคิดค้นยาฆ่าแมลง (สมัยนั้นยังใช้ปูนขาวผสมกับสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์) ล้มล้างความคิดเดิมที่ว่าโรคภัยทั้งหลายที่เกิดกับพืชและสัตว์เลี้ยงมาจากภูตผีปีศาจลงโทษ แถมยังพบเครื่องไถ เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องนวด เครื่องเก็บเกี่ยว จนถึงจำหน่ายเครื่องมือการเกษตรและคิดค้นสูตรปุ๋ยเพื่อบำรุงพืช   

 
ยุคปัจจุบัน พึ่งพาเทคโนโลยีมาก มีการเรียนการสอนด้านเกษตร 
ปัจจุบันเป็นยุคของ Smart Farmer ที่แท้จริง เพราะเราเริ่มมีวิธีการใหม่ ๆ ในการทำเกษตรคือ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้แรงกายหรือใช้แรงสัตว์ในการทำเกษตรเหมือนเมื่อก่อน มีการประดิษฐ์เทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยทำการเกษตรเพื่อลดต้นทุนต่าง ๆ นำเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยควบคุมแทบการจับจอบ เสียม สั่งการได้ด้วยปลายนิ้ว รวดเร็วและแม่นยำ ทำเกษตรแบบประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด    
 
 
 

Young Smart Farmer อาชีพที่ไม่ควรยี้ 

ลบภาพจำที่ว่าเป็นเกษตรกรแล้วมันร้อน มันเหนื่อย จะไปสู้คนนั่งทำงานในออฟฟิศแอร์เย็น ๆ ได้ไงไปได้เลย เพราะเกษตรกรเดี๋ยวนี้เขาพัฒนาไปไกลแล้ว จนอยากจะชวนคนรุ่นใหม่มาเป็น Young Smart Farmer ให้ทั่วหน้า มาลองดูข้อดีแสนเพอร์เฟคของอาชีพเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อ่านแล้วอาจจะตอบโจทย์อาชีพในอนาคตของเราก็เป็นได้ 
 
1. ไม่เป็นลูกน้องใคร เป็นเจ้านายตัวเอง 
ข้อดีของการเป็นเจ้านายตัวเองไม่ใช่ไม่จำเป็นต้องฟังคำสั่งใครหรอก แต่มันคือการที่เรามีอิสระในการบริหารจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง สร้างกฎระเบียบเองได้ ไม่ต้องไปฝืนทำการกฎระเบียบของใครทั้งนั้น
   
 
2. ได้อยู่กับธรรมชาติทุกวัน
สุขภาพกายและสุขภาพจิตจะดี เนื่องจากการทำอาชีพเกษตรไม่ต้องเผชิญรถติดเป็นชั่วโมงให้สงสารคุณภาพชีวิตตัวเอง ไม่ต้องทำงานเช้า-เย็น แอบหลับแอบง่วงเหมือนพนักงานออฟฟิศ อยู่กับพืช คุยกับพืช ดูมันเติบโต ได้อยู่กับธรรมชาติทั้งวัน

 
3. มีรายได้มั่นคง
หากมีความรู้มากพอ รู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด อาชีพเกษตกรสามารถสร้างรายได้ให้กับคุณมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ของคนทำงานประจำ แถมยังเผื่อแผ่ไปดูแลครอบครัวได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ทำอย่างดีเยี่ยมด้วย  

 
4. ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา
คุณจะได้เรียนรู้ ได้ทดลองนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ ตลอดเวลา หรือได้เรียนรู้หลักสูตรการทำเกษตรแบบใหม่ ๆ บ่อยครั้ง เพื่อที่จะนำไปพัฒนาในธุรกิจการเกษตรของคุณให้ดีขึ้น สรุปแล้วคุณจะฉลาดขึ้นในทุก ๆ ปีเลยล่ะ 

 
5. จะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้  
อยากจะไปเที่ยวเมื่อไหร่ ไม่ต้องกลัวใครไม่อนุมัติ ไม่ต้องคิดหาเหตุผลดี ๆ กับการแค่จะไปเที่ยวพักผ่อนยาว ๆ สักเดือน เพราะอาชีพเกษตรกรมีเวลาเหลือเฝือให้ไปเที่ยวหาประสบการณ์ ดูงานต่างประเทศ ที่สำคัญได้ดูแลคนในครอบครัวทุกวันด้วย  
 
 
 

ใครว่าเรียนเกษตร เรียนไปทำนาอย่างเดียว 

นี่คือ 5 วิชาเจ๋ง ๆ ที่คนเรียนคณะเกษตรเขาไม่ได้บอก หารู้ไม่ว่าคนที่เรียนเกี่ยวกับเกษตรเขาไม่ได้เรียนแค่วิธีปลูกข้าวไปทำนาหรือวิธีปลูกพืชไปทำสวนหรอกนะ
 
การออกแบบภูมิทัศน์ (Fundamental Landscape)  คือการเรียนออกแบบจัดพรรณไม้ต่าง ๆ ให้เหมาะกับพื้นที่ โดยเฉพาะสวนสาธารณะที่จะมีต้นไม้ใหญ่ ดอกไม้พรรณต่าง ๆ คนที่ลงเรียนวิชานี้จะบอกได้ว่า ต้องปลูกต้นไม้หรือดอกไม้ประดับประเภทไหนที่จะช่วยสร้างบรรยากาศให้คนอยากเดินชมหรือให้ร่มเงาได้อย่างพอดีและร่มรื่น  

 
การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) เป็นวิชาสำหรับเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว หากใครนึกไม่ออกให้นึกถึงสวนดอกไม้ที่จัดสวย ๆ อย่างพระราชวังภูพิงค์หรือสวนนงนุช การวางตำแหน่งพื้นที่โล่ง พื้นที่ว่างทำกิจกรรมที่ต้องสอดคล้องกับการจัดวางพรรณไม้ หรือแม่กระทั่งการวางสินค้าพันธุ์ไม้ในตลาดอย่างไรให้คนเพลินจนต้องหยิบหรือซื้อติดไม้ติดมือไป    

 
เศรษฐศาสตร์เกษตร (Agricultural Economics) ใครว่าเรียนเกษตรไม่จำเป็นต้องเรียนเศรษฐศาสตร์หรือตัวเลข คิดผิดแล้ว เพราะตามหลักการทำเกษตรจะมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ซึ่งคนที่เรียนวิชานี้ก็จะเรียนตั้งแต่หลักการทำตลาดจนถึงมารยาทในสังคมธุรกิจ

 
ส่งเสริมการเกษตร (Agricultural Extension) วิชานี้จะเรียนไปเพื่อพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรในชุมชน พัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาเพาะปลูกไม่ได้ เช่น ไปพัฒนาความรู้ให้ชาวดอยที่ทำการเกษตรแบบผิด ๆ เปลืองวัตถุดิบและพื้นที่ เป็นต้น

 
ฟิสิกส์ของดิน (Management of Soil Physical Properties) เนื้อหาในวิชานี้จะสอนวิธีทำให้ดินดีขึ้น ไม่ว่าดินในพื้นที่นั้นจะมีคุณสมบัติแย่แค่ไหนก็ตามในการเพาะปลูกหรือสร้างบ้านเรือน ถ้าเรียนวิชานี้แล้วก็จะสามารถพัฒนาดินให้เหมาะกับการทำทุกอย่างตามที่ต้องการได้   
 
 
 
แนวคิด Smart Farmer เทรนด์ฮิตเกษตรรุ่นใหม่ 
- ใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรม ตั้งโจทย์ในการทำงานว่า จะมีเทคโนโลยีไหนบ้างนะที่จะมาช่วยเราลดภาระในฟาร์มได้ ทำให้เราเหนื่อยน้อยลงและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ 
- อย่าใช้หลัก “ก็ทำมากันอย่างนี้ตั้งนานแล้ว” มาใช้ในการทำงานและทำเกษตรใบรูปแบบเดิม ๆ  
- รายได้มั่นคง หากคิดตามมาตรฐานเกษตร 4.0 แล้ว Smart Farmer จะต้องมีรายได้ในระดับเดียวกันหรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหมายถึงรายได้จะต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท
 
 
 

ไอเดีย Smart Farmer ที่เราชอบ 

 
เรามีตัวอย่างไอเดียในการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำเกษตรเจ๋ง ๆ มานำเสนอ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรทำงานง่ายขึ้น เทคโนโลยีเหล่านั้นยังเปลี่ยนไร่นาให้กลายเป็นผืนดินสุดไฮเทคและเป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้นอีกด้วย  
 
ป่าเต็งโมเดล มีมูลวัวเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า 
เป็นความฉลาดในการใช้เทคโนโลยีของคนในหมู่บ้านป่าเต็ง จ.เพชรบุรี เพราะเมื่อก่อนป่าเต็งเป็นหมู่บ้านที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง พวกเขาจึงคิดค้นวิธีการทำไบโอแก๊สจากมูลวัว เนื่องจากชาวบ้านที่นี่เลี้ยงวัวนมตามโครงการพระราชดำริทำให้มีขี้วัวจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำมูลวัวมาพัฒนาต่อให้เป็นไบโอแก๊สจนสำเร็จ นอกจากนั้นชาวบ้านยังใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการของตัวเองด้วยการร่วมมือกับเอเจนซี่โฆษณามานะ แอนด์ เฟรนด์ ทำโฆษณาเล่าเรื่องการผลิตพลังงานทางเลือก เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเป็นอย่างมาก 

 
โรงเรือนอีแว๊ป Evaporative (EVAP) ที่ทำให้สัตว์อารมณ์ดี
เรียกว่าเป็นระบบโรงเรือนที่เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทยมาก เนื่องจากหน้าร้อนสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มเปิด (เลี้ยงตามธรรมชาติ) ส่วนใหญ่จะล้มป่วยง่ายเนื่องจากอากาศร้อน แต่สำหรับฟาร์มหมูวรกร ที่ได้เลี้ยงหมูแบบอีแว๊ปจะความคุมทั้งอากาศ น้ำ และการทำความสะอาดแบบอัตโนมัติตามช่วงอายุของหมู ทำให้หมูอารมณ์ดีได้เนื้อหมูคุณภาพ ซึ่งคุณวรากรบอกทิ้งท้ายว่า “บางคนอาจจะมองว่าการลงทุนกับเทคโนโลยีจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ผมมองว่าผลที่จะได้รับนั้นคุ้มค่ากว่าเพราะผลผลิตที่ได้เมื่อเทียบกับการไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้นต่างกันจริง ๆ”       

 
Sky Greens เกษตรแนวตั้ง ไม่ง้อพื้นที่ 
เราปลื้ม Vertical Farm หรือฟาร์มแนวตั้ง เพราะรู้สึกว่าการทำฟาร์มแนวตั้งเหมาะกับคนเมืองที่อยากจะทำฟาร์มอะไรสักอย่างแต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่เล็กจิ๋ว เพราะฟาร์มแนวตั้งได้เปรียบฟาร์มแนวราบตรงที่สมมติว่าถ้าเราทำฟาร์มแนวราบ 1 ไร่เราจะได้ผลผลิตเท่ากับการทำฟาร์ม 1 ไร่ แต่ถ้าทำฟาร์มแนวตั้ง 1 ไร่ เราจะได้ผลผลิตเท่ากับทำฟาร์มแนวราบ 4- 5 ไร่ เนื่องจากฟาร์มแนวตั้งซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ได้ถึง 10 ชั้น ! แถมยังทำงานด้วยระบบไฮดรอลิก ใช้พลังงานและน้ำน้อย หมุนให้พืชรับแสงได้เมื่อต้องการ ซึ่งตอนนี้บริษัท Skygreens จากสิงคโปร์เขานำเทรนด์ไปก่อนหน้าแล้ว

 
ทำนาสไตล์ญี่ปุ่นกับ ‘ซึโมตุ มิยาโกซิ’ 
คุณซึโมตุ มิยาโกซิ ผู้นำการทำนาสไตล์ญี่ปุ่นบอกว่า “บางครั้งเกษตรกรยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแปลงเพาะปลูกเสมอ อาจนั่งในออฟฟิศ ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์” ซึ่งเป็นจริงทุกอย่างเพราะคนญี่ปุ่นทำนาด้วยเทคโนโลยีทุกขั้นตอนตั้งแต่อนุบาลต้นข้าวก่อนในโรงเรือน ใช้ระบบเกษตรแม่นยำสูง ทุกบ้านที่ทำนาจะมีเทคโนโลยีประจำบ้านคือเครื่องเพาะกล้า รถดำนา รถเกี่ยวนวดข้าว รถแทรกเตอร์ตัดหญ้าแถกร่อง เครื่องพ่น รถเกี่ยวนวดข้าว และคอมพิวเตอร์เพื่อสั่งการ หากทำนาหน้าหนาวเขาก็สามารถปล่อยน้ำอุ่นเข้าไปในแปลงนาได้ มีตู้สีข้าวแบบหยอดเหรียญให้ใช้บริการประจำหมู่บ้านอีกด้วย  

 

Drip Irrigation ระบบน้ำแบบหยด  

เนื่องจากประเทศอิสราเอลเป็นประเทศทะเลทราย ดังนั้นหากจ่ายน้ำแบบฉีดเป็นฝอยเหมือนที่เราใช้กัน ดูจะไม่เหมาะกับสภาพดินเท่าไหร่นัก เขาจึงคิดค้นระบบจ่ายน้ำแบบหยดขึ้นเพื่อทำการเกษตร โดยปล่อยน้ำให้หยดติ๋ง ๆ ซึมเข้าไปในดินเรื่อย ๆ แถมยังหยดไหลเข้าไปตรงเป้าหมายซึ่งก็คือรากของพืช แม่นยำกว่าการฉีดน้ำกระจายไปทั่วที่โดนบ้างไม่โดนบ้าง ลดปัญหาการสิ้นเปลืองน้ำไปได้ถึง 90% 

 
เกษตรแบบแม่นยำ ดินตรงไหนขาดธาตุอะไรรู้หมด   
ความแม่นยำในการทำเกษตรคือ การไม่หว่านปุ๋ย ให้น้ำแบบมั่วซั่ว เพราะการทำเกษตรแม่นยำสูงคือ การเกาให้ถูกที่คัน รู้ว่าดินตรงไหนต้องการแร่ธาตุอะไร และใส่เข้าไปให้พืชแบบพอดี วิธีการคือใช้เครื่องสแกนสภาพดินในไร่ (Soil Mapping) เพื่อเก็บข้อมูลบริเวณต่าง ๆ ว่ามีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันอย่างไร ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บเข้าไปในฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับแผนที่ของฟาร์ม แล้วสามารถดาวน์โหลดไปยังเครื่องหยอดปุ๋ยบนรถไถที่ติด GPS ทำให้สามารถกำหนดได้ว่าจะหยอดปุ๋ยชนิดใดลงบนพื้นที่ไหนได้อย่างพอดี ผลดีคือไม่เกิดการล้นของแร่ธาตุที่อาจทำให้สภาพของดินเสื่อมได้
 
 
 
 
 
 
แหล่งข้อมูล 
เจาะลึก “Smart Farmer” แค่แนวคิดใหม่หรือจะพลิกโฉมการเกษตรไทย โดยดร. ฤทัยชนก จริงจิตร (นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 จาก จาก  http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1074-img.pdf 

สมาร์ทฟาร์ม : เล่าอย่างเกษตรกร. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 จาก https://9raifarm.wordpress.com/
 
ระบบฟาร์มปิดแบบ Evap เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 จากhttp://www.saiseenews.com/
 
มองญี่ปุ่น : บทเรียนรู้ สังคมเกษตร และสังคมชนบท ญี่ปุ่น ภาคแรก (แจ่มๆ!!!). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 จาก https://www.gotoknow.org/posts/431814 

เทคโนโลยีการเกษตรในอิสราเอล. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 จากhttps://waymagazine.org/
 
ไทยแลนด์ 4.0 กับภาคการเกษตร. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 จาก http://www.organicoard3.com/wp-content/uploads/thailand_4.0.pdf
 
โกศล แสงทอง ผู้นำหมู่บ้านป่าเต็ง (หมู่บ้านที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 จาก http://www.fulfillingfatherslegacy.com/person-detail#
 
ภูมิทัศน์พื้นฐาน (Fundamental Landscape). สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 จาก http://agri.kps.ku.ac.th/News/newsagri/NewsPR/2555-03-09-Fundamental%20Landscape.pdf 
 
 
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow