Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)" ส่วนเล็ก ๆ ที่มีผลต่ออารมณ์และการทำงานของร่างกาย

Posted By sanomaru | 14 พ.ย. 60
136,634 Views

  Favorite

อะดรีนาลินและเอนโดรฟิน เป็นชื่อสารเคมีในร่างกายที่เราคุ้นหู เพราะมันมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ เช่น โกรธ ตื่นเต้น และมันยังส่งผลต่อการทำงานบางอย่างของระบบในร่างกายด้วย ซึ่งในทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ เราเรียกสารเคมีเหล่านี้ว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)

ภาพ : Shutterstock

 

สารสื่อประสาทเป็นสารเคมีที่คอยส่งสัญญาณจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง ส่วนใหญ่อยู่ในสมองและไขสันหลัง มันมีบทบาทในการควบคุมการทำงานของร่างกาย หากพวกมันสูญเสียสมดุลไป จะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่งได้ รวมถึงภาวะความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์อย่างภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล โรคที่เกี่ยวข้องกับการกินอย่างโรคอ้วน แและโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนอย่างโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น

 

การทำงานของสารสื่อประสาท จะเกิดขึ้นบริเวณช่องว่างที่เรียกว่าไซแนปส์ (Synapse) ช่องว่างนี้อยู่ที่ส่วนปลายของแอกซอน (Axon) ซึ่งเป็นเส้นใยประสาทนำสัญญาณออกจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่ง กับเดนไดรต์ (Dendrite) ซึ่งเป็นเส้นใยประสาทนำสัญญาณเข้าสู่เซลล์ประสาทตัวถัดไป ที่ส่วนปลายของแอกซอนจะมีถุงเก็บสารสื่อประสาทอยู่ เมื่อมีการกระตุ้นโดยสัญญาณประสาท ถุงเก็บสารสื่อประสาทนี้จะหลั่งสารสื่อประสาทออกมา พวกมันจะถูกส่งออกไปจากแอกซอนแค่ระยะสั้น ๆ ผ่านการแพร่ไปเกาะเข้ากับตัวรับที่เดนไดรต์ จึงเกิดการส่งผ่านข้อมูลได้

 

 

 

 

สารสื่อประสาทที่นำส่งสัญญาณประสาทแล้ว จะยังคงอยู่บริเวณรอยเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนของเซลล์ประสาทตัวก่อนหน้ากับเดนไดรต์ของเซลล์ประสาทตัวหลังเป็นเวลาสั้น ๆ จากนั้นจะถูกส่งกลับไปยังที่เดิมโดยผ่านกระบวนการนำกลับไปใช้ใหม่ หรือผ่านกระบวนการเมทาบอลิซึมโดยเอนไซม์ หรืออาจติดอยู่กับตัวรับเลยก็ได้ ทั้งนี้สารสื่อประสาทในร่างกายมีหลายชนิด โดยสารสื่อประสาทที่สำคัญ ได้แก่

 

อะซีทิลโคลิน (Acetylcholine, ACH)

อะซีทิลโคลินเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญซึ่งกระจายอยู่ภายในสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทในส่วนของรยางค์ นอกจากนี้ยังพบได้ในเซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายอีกด้วย โดยสังเคราะห์มาจากเซลล์ประสาทและหลั่งจากปลายประสาทของเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทตัวถัดไป สารสื่อประสาทตัวนี้ทำหน้าที่ในระบบประสาทอัตโนวัติ (Autonomic Nervous System, ANS) ส่วนของพาราซิมพาเทติก จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของร่างกายเกือบทั้งหมด เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การนอนหลับ การหายใจ การย่อยอาหาร การขับถ่าย การสืบพันธุ์ และความจำ

 

หากได้รับสารพิษ เช่น botulin carare หรือ hemlock ในปริมาณมาก สารพิษเหล่านี้จะทำการปิดกั้นตัวรับ (receptor) อะซีทิลโคลิน ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว หรือระบบหายใจล้มเหลวได้ การมีระดับอะซีทิลโคลีนที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป นำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น โรคอัลไซเมอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการลดลงอย่างมากของระดับอะซีทิลโคลิน ดังนั้น หากคุณมีอะซีทิลโคลีนอยู่ในระดับต่ำก็สามารถเสริมมันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นหน่วยพื้นฐานของการสร้างอะซีทิลโคลีนอย่างอาหารที่มีไขมันและโคลีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่

 

นอร์อีพิเนฟรินหรือนอร์อะดรีนาลิน (Norepinephrine or Noradrenaline)

นอร์อีพิเนฟรินหรือที่รู้จักกันมากในชื่อของนอร์อะดรีนาลิน เป็นสารสื่อประสาทอีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันอย่างชัดเจนกับระบบประสาทอัตโนวัติ (ANS) มันควบคุมการทำงานของระบบซิมพาเทติกทั้งหมด โดยมีการตอบสนองที่ตรงข้ามกับอะซีทิลโคลิน มันทำงานเมื่อร่างกายอยู่ในสถานการณ์กดดัน ภาวะคับขัน หรือมีอันตราย เช่น การเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต่อกระบวนการสร้างการจดจำ แต่ปริมาณของนอร์อีพิเนฟรินที่มากเกินไปในภาวะปกติก็สามารถทำให้คุณตกอยู่ในความรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไปได้ ขณะที่ความเครียดก็มีผลต่อการกักตุนนอร์อีพิเนฟรินในปริมาณที่ลดลงด้วย ดังนั้น เมื่อมีความเครียดสะสมมาก ๆ คุณอาจจะตอบสนองต่อภาวะคับขันได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากขาดสารสื่อประสาทนอร์อีพิเนฟริน
 

อีพิเนฟรินหรืออะดรีนาลิน (Epinephrine or Adrenaline)

อีพิเนฟรินหรือที่รู้จักกันดีในชื่อของอะดรีนาลิน โดยเป็นทั้งสารสื่อประสาทและฮอร์โมน มีปริมาณมากในเลือด อวัยวะส่วนปลายของร่างกาย และบางส่วนอยู่ในสมอง สารสื่อประสาทชนิดนี้มีความจำเป็นต่อกระบวนการเมทาบอลิซึม ทำหน้าที่ควบคุมและตอบสนองต่อความเครียด อารมณ์ ความรู้สึกกลัว โกรธ วิตกกังวล หากระดับของอีพิเนฟรินผิดปกติไป จะมีผลต่อการนอนหลับ ความกังวล อารมณ์ ความดัน และระดับของภูมิคุ้มกัน

 

กาบา (GABA)

กาบาเป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้งที่ลดการทำงานของเซลล์ประสาท โดยสารสื่อประสาทประเภทนี้จะกระจายอยู่ทั่วไปในสมอง มีหน้าที่ควบคุมการนำกระแสประสาทและกระแสไฟฟ้าในสมอง และคาดว่ามันน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความเครียด เพราะเมื่อระดับของกาบาลดน้อยลงหรือมีการทำงานที่ผิดปกติ เซลล์ประสาทก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อการพักผ่อน ความรู้สึกกังวล ซึมเศร้า นอกจากนี้การขาดกาบาอาจจะทำให้เกิดการชักได้

 

กลูตาเมต (Glutamate)

กลูตาเมตเป็นสารสื่อประสาทประเภทกระตุ้นที่มีปริมาณมาก และถูกใช้โดยเซลล์ประสาทครึ่งหนึ่งในสมอง มันเป็นตัวส่งสัญญาณหลักของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous system, CNS) ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้  ที่มีความสัมพันธ์กับกาบาซึ่งเกี่ยวกับการทำงานของสมองมากที่สุด กลูตาเมตถูกพิจารณาว่าเป็นตัวหลักในการกระตุ้นสัญญาณสมอง ที่น่าสนใจ คือ กลูตาเมตเป็นพิษต่อเซลล์ประสาท จากการถูกกระตุ้นที่นานเกินไปหรือมากเกินไป ดังนั้น การรักษาระดับปริมาณกลูตาเมตและการทำงานที่เป็นปกติจึงมีความสำคัญ กลูตาเมตพบได้ในกรดอะมิโนในอาหารประเภทโปรตีน นอกจากนี้ยังมีอยู่ในรูปของผงชูรสด้วย

 

โดพามีน (Dopamine)

โดพามีนเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยในการควบคุมสมองส่วน Reward และ Pleasure Center และเกี่ยวข้องกับระบบซิมพาเทติก โดพามีนมีบทบาทต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ การนอนหลับ การจดจำ ทักษะต่าง ๆ ระบบภูมิคุ้มกัน ความตั้งใจในการทำงาน รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและอารมณ์ โดยโดพามีนส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้ที่สมองและไขสันหลัง หากระดับปริมาณของโดพามีนมีมากหรือน้อยเกินไป อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดโดพามีน ขณะที่ถ้ามีโดพามีนมากเกินไปจะเกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท

 

เซโรโทนิน (Serotonin)

เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้ง มันได้ชื่อว่าเป็น โมเลกุลแห่งความสุข (Happiness molecule) ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ พบได้มากในสมอง ลำไส้ และเกล็ดเลือด หากระดับปริมาณของเซโรโทนินต่ำสามารถำไปสู่อาการซึมเศร้า แนวโน้มการฆ่าตัวตาย การนอนหลับยาก ไมเกรนได้ ทั้งนี้ ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์เซโรโทนินได้จากทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็น โดยพบในอาหาร เช่น นมอุ่น ๆ และไก่งวง

 

เอนโดฟิน (Endophin)

เอนโดฟินเป็นสารสื่อประสาทที่มีโครงสร้างและหน้าที่คล้ายกับโอปิออยด์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสมอง ระบบประสาทส่วนปลายของร่างกาย และระบบทางเดินอาหาร มันเป็นยาระงับความปวดตามธรรมชาติ เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาความเครียด สร้างความรู้สึกเพลิดเพลิน เป็นสุข แต่ละคนจะมีการหลั่่งเอนโดรฟินในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยที่ช่วยให้ร่างกายของเราหลั่งเอนโดรฟินออกมามากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานช็อกโกแลตหรือพริก การสัมผัสแสงแดด

 

สารสื่อประสาทมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายและการจัดการอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อสารสื่อประสาทเหล่านี้ขาดความสมดุล โดยมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ ก็เป็นสาเหตุของปัญหาทางอารมณ์ ความจำ การติดยาเสพติด การนอนหลับ และการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งนี้การที่สารสื่อประสาทขาดความสมดุลมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเครียดสะสม การอดอาหาร มลพิษในสิ่งแวดล้อม การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้นิโคติน คาเฟอีน และยาต่าง ๆ  ซึ่งเราสามารถรักษาความสมดุลของสารสื่อประสาทได้โดยการรับประทานอาหารบางอย่างเสริม เช่น ขมิ้นชัน แปะก๊วย ช่วยเพิ่มระดับของโดพามีน วิตามินบีและธาตุแมกนีเซียมช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนิน การดื่มชาเขียวช่วยเพิ่มระดับของอะซีทิลโคลีน หรือการรับประทานกล้วย บล็อกโคลี ผักโขม และข้าวโอ๊ต ช่วยเพิ่มระดับของกาบา นอกจากนี้การพยายามลดความเครียดก็มีส่วนช่วยปรับปริมาณของสารสื่อประสาทให้อยู่ในระดับปกติได้ด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow