Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

AED อุปกรณ์ช่วยชีวิต

Posted By Plook Creator | 13 พ.ย. 60
7,969 Views

  Favorite

หากสังเกตตามพื้นที่สาธารณะในต่างประเทศ คุณอาจเห็นตู้กระจกเล็ก ๆ ติดตั้งกระจายอยู่ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น คุณจะเห็นมันได้ทั่วไป ไม่ว่าจะต่างจังหวัด หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่วนในประเทศไทย บริเวณในอาคารหรือนอกอาคารในกรุงเทพ ก็เริ่มมีติดตั้งอยู่บ้างแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตู้เหล่านี้คือตู้ใส่อุปกรณ์ ​AED (Automated External Defibrillator) เป็นเครื่องมือช่วยชีวิตจากอาการที่เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจฉบับกระเป๋าหิ้วโดยการใช้กระแสไฟฟ้า ความสามารถของมันเต็มรูปแบบจริง ๆ ตั้งแต่ตรวจจับความผิดปกติและเริ่มการรักษาหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากจำเป็น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 90% ขึ้นไป

ภาพ : Shutterstock

 

โรคหัวใจ (Heart Attack) เป็นหนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตประชากรโลกอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะประชากรในซีกโลกตะวันตกและกลุ่มคนวัยทำงานที่ทำงานในเมือง สาเหตุของมันมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ชีวิตของคน งานที่มีความเครียดเพิ่มสูงขึ้น วิถีชีวิตที่เร่งรีบ การโหมงาน ย่อมเป็นสาเหตุของโรคมากมาย ทั้งความเครียด ความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดต่าง ๆ รวมถึงโรคที่สัมพันธ์กับความผันผวนของฮอร์โมนต่าง ๆ ด้วย

 

โรคหัวใจอาจเกิดจากความผิดปกติทางด้านโครงสร้าง กล้ามเนื้อชิ้นต่าง ๆ หรือจังหวะการเต้นที่ผิดปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเส้นใดเส้นหนึ่ง ซึ่งอาการที่พบได้คือ อาจจะอึดอัดบริเวณหน้าอก เจ็บร้าวอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอกลามไปจนถึงไหล่ซ้ายหรือขากรรไกร มีอาการหอบ คลื่นไส้ วิงเวียน เหงื่อออก และอาจหน้าซีด หมดแรง หมดสติได้ และนั่นคือ อาการของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)

ภาพ : Shutterstock

 

หากคุณพบกับคนที่หมดสติ หายใจติดขัด ชีพจรอ่อน สิ่งที่มักถูกสอนมาก็คือ จับชีพจร ตรวจเช็กระบบทางเดินหายใจ และปั๊มหัวใจเพื่อกระตุ้นการเต้น แต่ปัญหาก็คือ การจะจับจังหวะการปั๊มหัวใจไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะการเป่าปาก วิธีนับ จำนวนครั้งที่ต้องทำ ไปจนถึงเมื่อไรถึงควรหยุดทำ แรงในการปั๊ม และตำแหน่งในการกด นั่นทำให้ต้องคิดหนักว่า จริง ๆ แล้วจะมีสักกี่คนที่มั่นใจในการทำ ​CPR จริง ๆ

 

CPR หรือ Cardiopulmonary Resuscitation คือการปั๊มหัวใจด้วยมือ เพื่อเป็นการกระตุ้นหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นเป็นจังหวะอีกครั้ง ทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนไปยังสมองและหัวใจ แต่กระบวนการนี้เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ มันจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ​ นั่นทำให้ AED เป็นคำตอบที่มีประสิทธิภาพกว่า เพราะหากผู้ทำ CPR ขาดประสบการณ์ สถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้ โดย AED ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วง 20 ปีให้หลังมานี้ เพื่อช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เลือดไม่ไปเลี้ยงหัวใจ แต่มันไม่สามารถกระตุ้นให้คนที่หัวใจหยุดเต้นแล้วกลับมาเต้นได้ อย่างไรก็ตาม มันสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากการใช้ CPR เพียงอย่างเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

สำหรับการใช้งาน AED นั้นง่ายกว่ามาก เพราะว่าเป็นอุปกรณ์อัตโนมัติที่ทำได้ทั้งตรวจจับและกระตุ้นในเครื่องเดียว เครื่องกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอัตโนมัตินี้สามารถช่วยชีวิตผู้ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้หลังจากได้รับการฝึกฝนไม่นาน แต่มันก็มีข้อควรระวังเล็กน้อย เช่น ควรใช้กับผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปีซึ่งโตมากพอที่จะได้รับการกระตุ้นในรูปแบบนี้ได้ ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าจะไม่เชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตนี้ แต่หากคุณรู้ว่ามันคืออะไร มีสติในภาวะคับขันและสามารถอ่านคู่มือในยามฉุกเฉินที่ต้องการใช้งานและปฏิบัติตามได้ ย่อมดีกว่าไม่มีอุปกรณ์อะไรเลยจริงไหม

 

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow