Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฟ้าผ่าไม่ได้ทำให้เครื่องบินตก

Posted By Plook Creator | 12 พ.ย. 60
16,453 Views

  Favorite

เป็นธรรมดาที่หลาย ๆ คนจะกลัวสิ่งที่ผิดปกติไม่ได้เจอกันเป็นประจำทุกวัน และยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว เสียงดัง และแสบตาอย่างฟ้าร้องและฟ้าผ่า คุณคงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร ดังแค่ไหน สว่างจ้าเท่าไร และนั่นคือสิ่งที่คนเป็นโรคกลัวฟ้าร้องฟ้าผ่า (Astraphobia) ต้องเผชิญ

 

มันเหมือนเสียงกระชากวิญญาณที่คอยจะมาหลอกหลอนทุกครั้งที่เมฆดำตั้งเค้า ฤดูฝนฟ้าคะนองเป็นช่วงเวลาที่ทำให้พวกเขาเหมือนตกนรกทั้งเป็น นอนอุดหูคลุมโปงสามชั้นก็เอาไม่อยู่ แต่จะทำอย่างไรหากคุณกลัวฟ้าร้องฟ้าผ่าแล้วต้องไปอยู่บนฟ้า ขนาดอยู่บนพื้นดินยังกลัวแทบตาย แล้วบนฟ้าจะไหวไหม การเดินทางทางอากาศจะเป็นคำตอบสุดท้ายของคุณไหม หากต้องไปต่างประเทศ เพราะนั่นหมายความว่าคุณจะได้อยู่ใกล้ชิดกับท้องฟ้า ก้อนเมฆ และสายฟ้ามากกว่าเดิม

ภาพ : Shutterstock


เหตุผลที่ทำให้คนที่กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่าไม่ต้องกังวลเมื่อขึ้นเครื่องบิน ตอบสั้น ๆ คือ เพราะวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์ทั้งหลายที่ทำให้มีเครื่องบินอย่างในทุกวันนี้ ได้ทำการคิดคำนวณและวางแผนเพื่อรับมือกับฟ้าร้องฟ้าผ่ามาอย่างดีแล้ว และจากสถิติเครื่องบินโดนฟ้าผ่าเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น มันไม่จำเป็นต้องคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ว่ามีโอกาสแค่ไหนที่เครื่องบินที่คุณขึ้นไปจะโดนฟ้าผ่า เพราะมันน้อยนิดมาก และฟ้าผ่าก็ไม่ทำให้เครื่องบินตกด้วย

 

หากคุณคิดจะเดินทางด้วยเครื่องบินรุ่นเดียวกับสองพี่น้องตระกูลไรต์คุณก็ควรจะกังวลถึงการโดนฟ้าผ่า ไหม้ และตก แต่ยุคสมัยนี้ ฟ้าผ่าไม่สามารถทำอะไรเครื่องบินได้อีกต่อไป แม้ว่าคุณอาจจะกังวลว่าสายฟ้าอาจจะทำให้เครื่องยนต์ที่ทำงานด้วยไฟฟ้าและมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวนได้ หรือแม้แต่จุดประกายไฟให้กับถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไวไฟกว่าน้ำมันรถยนต์ก็ตาม การรายงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารที่มีฟ้าผ่าเป็นปัจจัย ครั้งสุดท้ายก็คือกว่า 50 ปีที่แล้ว เมื่อปี 1963 ซึ่งฟ้าผ่าส่วนบรรจุน้ำมันของเครื่องบินจนทำให้เกิดการระเบิดและคร่าชีวิตผู้โดยสารบนเครื่องทั้งหมด 81 ราย

 

สิ่งที่ทำให้เครื่องบินในปัจจุบันปลอดภัยจากฟ้าผ่าคือ วัสดุโครงสร้างของเครื่องบินในปัจจุบันที่มีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าโครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นโลหะ อย่างอะลูมิเนียม หรือแม้ว่าจะไม่ใช่โลหะทั้งหมด แต่ก็มีกรอบหรือส่วนประกอบของโลหะ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าโลหะนั้นนำไฟฟ้า และแม้ว่ามันจะนำไฟฟ้าแต่การนำไฟฟ้าของมันนี่เองที่ทำให้มันปลอดภัย เพราะว่าไฟฟ้าที่ส่งต่อมาจากจุดที่ถูกฟ้าผ่าจะเดินทางกระจายตัวอย่างรวดเร็วไปยังพื้นผิวโดยรอบด้านนอกของเครื่องบิน ซึ่งเรียกว่า Skin Effect และเป็นปรากฏการณ์เดียวกันที่เกิดกับรถยนต์ที่ถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าไม่ได้ผ่านเข้าไปในตัวเครื่องบินซึ่งเป็นส่วนที่มีห้องโดยสารของผู้โดยสารหรือส่วนห้องควบคุมของนักบินแต่อย่างใด แม้ว่าผู้โดยสารอาจจะรู้สึกถึงสายฟ้าที่ฟาดมาที่ตัวเครื่องแต่มันก็ไม่ได้ทำอันตรายกับใคร ปรากฏการณ์นี้ทำให้คุณสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยแม้จะอยู่ในกล่องซึ่งทำจากอะลูมิเนียมหนา 3-4 มิลลิเมตร เพราะกระแสไฟฟ้าที่ผ่าลงมาจะกระจายไปรอบพื้นที่ผิวของกล่อง และส่งต่อไปบริเวณรอบ ๆ โดยไม่เข้าไปทำอันตรายกับคุณซึ่งอยู่ภายในกล่อง


ทุกวันนี้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องบินได้รับการออกแบบและทดสอบมาอย่างดี เพื่อให้สามารถทนทานต่อการถูกฟ้าผ่าได้ ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมันของเครื่องซึ่งทนทานต่อการถูกฟ้าผ่าโดยตรง มันจะไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกต่อไป หรือแม้แต่รูบริเวณตัวเครื่องซึ่งอาจจะเกิดจากฟ้าผ่าก็จะต้องไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้สูญเสียการควบคุมเครื่องบิน ระบบไฟฟ้าในเครื่องที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการที่ฟ้าผ่าแล้วเกิดรูเปิด ได้รับการต่อสายดินเข้ากับโลหะพื้นผิวนอกเครื่องบิน เพื่อกำจัดกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ระบบอาจจะได้รับจากฟ้าผ่า มีการติดตั้งสายล่อฟ้าไว้ในบริเวณจุดสำคัญและอ่อนไหวต่อการถูกทำลาย เช่น เรดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่ากระทบกับระบบเรดาห์โดยตรง และนอกเหนือจากนั้นนักบินเองก็เรียนรู้ที่จะหลบหลีกบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง นั่นไม่ใช่เพราะว่าสายฟ้าจะเป็นปัญหาทั้งหมด แต่ยังมีเรื่องกระแสลมแปรปรวน ทัศนวิสัยที่ย่ำแย่หรือแม้แต่หลุมอากาศเองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายได้มากกว่าสายฟ้าและการถูกฟ้าผ่าด้วยซ้ำ

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow