Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตาบอดสี (Color Blindness) และการทดสอบตาบอดสี

Posted By sanomaru | 10 พ.ย. 60
29,884 Views

  Favorite

ดวงตาช่วยให้เรามองเห็น ขณะที่สมองทำหน้าที่แปรสิ่งที่เห็นให้เป็นข้อมูล โดยข้อมูลที่ได้อาจเป็นรูปร่าง ลักษณะพื้นผิว ขนาด รวมถึงสีของสิ่งที่เห็น ซึ่งส่วนประกอบของตาที่ช่วยให้เรามองเห็นสีสันของสิ่งต่าง ๆ ก็คือ เซลล์ 2 ชนิดที่อยู่บริเวณหลังจอประสาทตา (Retina) ได้แก่

 

1) เซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) เซลล์ประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 120 ล้านเซลล์หลังจอประสาทตาแต่ละข้าง ตอบสนองต่อแสงสลัวได้ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับการมองเห็นในเวลากลางคืน สีที่เห็นจากเซลล์รูปแท่งจะเห็นเพียงสีดำ ขาว และเทา

2) เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) เซลล์ประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 6 ล้านเซลล์หลังจอประสาทตาแต่ละข้าง ตอบสนองต่อแสงสว่างได้ดี เช่น แสงแดดในเวลากลางวัน โดยสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกตามสีที่เซลล์รูปกรวยแต่ละชนิดตอบสนอง คือ เซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีแดง เซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีเขียว และเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีน้ำเงิน

 

ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มนุษย์นั้นมีความพิเศษเนื่องจากมีเซลล์รูปกรวยถึง 3 ชนิด ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น ๆ รวมถึงสุนัข มีเซลล์รูปกรวยเพียง 2 ชนิดเท่านั้น หมายความว่า สุนัข แมว เสือ มีการมองเห็นสีของสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างจากมนุษย์ ส่วนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ผีเสื้อ อาจจะมีเซลล์รูปกรวยนี้มากกว่า 2 ชนิดก็ได้ และนั่นก็ทำให้พวกมันมองเห็นสีต่าง ๆ ได้หลากหลายเฉด

 

ตาบอดสีคืออะไร

สำหรับภาวะตาบอดสี (Color Vision Deficiency, CVD) คือ ภาวะที่มีการมองเห็นและรับรู้สีแตกต่างไปจากที่คนส่วนใหญ่มองเห็นกัน แต่ในภาวะตาบอดสีที่รุนแรงอาจสูญเสียการมองเห็นสีไปเลยก็ได้ จึงทำให้เห็นสีขาว สีดำ และสีเทาเท่านั้น ผู้ที่มีภาวะนี้เกิดจากการที่เซลล์รูปกรวยมีความผิดปกติ ซึ่งมาจากความบกพร่องของยีนบนโครโมโซม X ที่ควบคุมการสร้างตัวรับสีเขียวและสีแดง

 

ภาวะตาบอดสีมักเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเกิดในผู้ชาย 8% และในผู้หญิง 0.5% ของโลก เนื่องจากการที่มันอยู่บนโครโมโซม X หากมีความผิดปกติ เพศหญิงที่กำหนดด้วยคู่โครโมโซม XX มีโครโมโซม X ถึง 2 ตัว เมื่อตัวใดตัวหนึ่งบกพร่องไป อีกตัวก็ยังสามารถทำงานทดแทนกันได้ ขณะที่เพศชายถูกกำหนดด้วยคู่โครโมโซม XY มีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว เมื่อมันทำงานบกพร่อง โครโมโซม Y จะไม่สามารถทำงานทดแทนได้ จึงแสดงภาวะ โรค หรือสิ่งผิดปกติออกมา

 

กรณีที่แม่มีโครโมโซม X ที่มียีนตาบอดสีอยู่แต่ไม่แสดงออกถึงภาวะดังกล่าว เรียกว่าเป็นพาหะของภาวะตาบอดสี จะสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ โดยโอกาสที่ลูกจะตาบอดสีเป็นดังนี้

ชายตาบอดสี 25%
ชายตาปกติ 25%
หญิงตาปกติ 25%
หญิงตาปกติแต่เป็นพาหะของภาวะตาบอดสี 25%
 

ภาพ : trueplookpanya

 

ประเภทตาบอดสี

1. Anomalous Trichromacy ความบกพร่องประเภทนี้ เกิดจากการที่เซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีใดสีหนึ่งรับรู้สีผิดปกติไป แบ่งเป็น
- Protanomaly เป็นภาวะตาบอดสีที่เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีแดงมีความผิดปกติ ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้สีเขียว ทำให้เห็นสีเขียวแบบไม่สว่างด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีชนิดนี้จึงมีปัญหาในการแยกแยะสีแดง สีเขียว น้ำตาล ส้ม และเหลือง
- Deuteranomaly เป็นภาวะตาบอดสีที่เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีเขียวมีความผิดปกติ ซึ่งจะมีผลต่อการแยกแยะสีเขียวกับสีแดงเล็กน้อย และโดยทั่วไปจะสับสนกับเฉดสีน้ำเงินและม่วงด้วย
- Tritanomaly เป็นภาวะตาบอดสีที่เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีน้ำเงิน  มีปัญหาในการระบุความแตกต่างระหว่างสีน้ำเงิน-เหลือง, ม่วง-แดง, เขียว-น้ำเงิน และจะมองเห็นโลกทั่วไปเป็นสีแดง ชมพู ดำ ขาว เทา เขียวขุ่น

 

2. Dichromacy ความบกพร่องประเภทนี้เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีใดสีหนึ่งหายไป (ไม่มีเซลล์รูปกรวยสีใดสีหนึ่ง) แบ่งเป็น
- Protanopia เป็นภาวะตาบอดสีที่เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีแดงขาดหายไป ทำให้มองเห็นสีแดงเป็นสีดำ, สีเขียวเข้ม ส้มเข้ม และแดงเข้ม เป็นสีน้ำตาลเข้ม, สีแดง ม่วง ชมพูเข้ม เป็นสีน้ำเงิน และสีส้มเป็นสีเขียว

- Deuteranopes เป็นภาวะตาบอดสีที่เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีเขียวขาดหายไป ทำให้มองเห็นสีชมพูและเทา เป็นสีเขียวอมฟ้า, สีเหลืองเป็นสีเขียวโทนสว่าง และสีม่วงเป็นสีฟ้าอ่อน

- Tritanopes เป็นภาวะตาบอดสีที่เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีน้ำเงินขาดหายไป ทำให้เห็นสีเทาเป็นสีฟ้าอ่อน, สีดำเป็นสีม่วงเข้ม, สีแดงเป็นสีส้ม และสีน้ำเงินเป็นสีเขียว

 

3. Monochromacy เป็นภาวะตาบอดสีที่ไม่สามารถเห็นสีใด ๆ ได้เลย นอกจากสีดำ ขาว เทา เนื่องจากเซลล์รูปกรวยขาดหายไปอย่างน้อย 2 ใน 3 ชนิด ซึ่งถือเป็นภาวะตาบอดสีที่รุนแรงที่สุด

 

 

การทดสอบตาบอดสี

ในการทดสอบภาวะตาบอดสี มีวิธีทดสอบได้หลายแบบ แต่แบบที่นิยมกันมากเรียกว่า แผ่นภาพอิชิฮะระ (Ishihara 38 Plates CVD Test) ซึ่งจะมีภาพทั้งหมด 38 แผ่น แต่ละแผ่นจะซ่อนเลขหรือเส้นเอาไว้ภายใต้จุดสีมากมายที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีนี้สามารถทดสอบได้ว่ามีภาวะตาบอดสีแดง-เขียวหรือไม่

ภาพ : www.color-blindness.com

 

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากเช่นกัน คือ การเรียงเฉดสี (Farnsworth-Munsell 100 Hue Color Vision Test) วิธีนี้จะมีแผ่นสีทั้งหมด 4 ชุด ชุดละ 22 แผ่น รวม 88 แผ่น วางเรียงกัน สิ่งที่ผู้ทดสอบต้องทำคือ  การจัดเรียงแผ่นสีเหล่านั้นให้อยู่ในลำดับที่ถูกต้อง

ภาพ : www.color-blindness.com
 

 

สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบตาบอดสีทั้งสองแบบได้ที่นี่
- แผ่นภาพอิชิฮะระ
- การเรียงเฉดสี

 

ภาวะตาบอดสีอาจทำให้มีปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เช่น การอ่านค่ากราฟบางอย่างที่ระบุด้วยสี การสอบใบขับขี่ การเรียนศิลปะ การทำอาหาร รวมถึงข้อจำกัดของอาชีพบางอาชีพ อย่างไรก็ตาม มันเป็นเพียงความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีโดยส่วนใหญ่ก็สามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow