Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบนิเวศน้ำพุร้อน

Posted By Plook Creator | 09 พ.ย. 60
11,386 Views

  Favorite

ระบบนิเวศ (Ecosystem) คือความสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระบบหนึ่ง ๆ โดยไม่ได้จำกัดจำนวนหรือชนิดของสิ่งมีชีวิต บางระบบอาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายทั้งสัตว์และพืช น้อยใหญ่อาศัยร่วมกันอยู่ โดยความสัมพันธ์นี้อาจจะเป็นลักษณะเกื้อกูลกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน บ้างก็เสียประโยชน์ ถูกล่าเป็นอาหาร เป็นต้น

 

โดยปกติแล้วเราก็มักจะพิจารณาระบบที่พบเห็นได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน อย่างบ่อน้ำเล็ก ๆ ทะเลสาป หรือผืนป่า ที่มีการจำแนกสิ่งมีชีวิตในระบบที่ชัดเจน เช่น พืชเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ขนาดเล็ก สัตว์ขนาดเล็กเป็นแหล่งอาหารแก่สัตว์ที่ใหญ่กว่า ไปจนถึงจุลินทรีย์และเชื้อราต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายซากพืชและสัตว์ และคืนสารอาหารให้กลับคืนสู่ดิน ส่งผลให้พืชงอกงามตามลำดับและหมุนวนไป อย่างไรก็ตามบางระบบซึ่งไม่น่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ หรือมีสิ่งมีชีวิตอยู่จำนวนน้อย ก็มีระบบเป็นของตัวเองเช่นกัน


สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก พืชหรือสัตว์ ต่างก็ไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้เพียงลำพัง ทุกชีวิตต่างต้องเกื้อกูลอาศัยกัน โดยทางตรงหรือทางอ้อม และอันที่จริงเราก็ไม่สามารถกำหนดขอบเขตของระบบนิเวศได้ว่า มันเริ่มและสิ้นสุดที่ตรงไหน เพราะระบบนิเวศเองต่างก็สัมพันธ์และทับซ้อนกันในหลาย ๆด้าน แต่แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างกัน บ้างเป็นป่า บ้างเป็นทะเลทราย หรืออาจจะเป็นมหาสมุทรลึก สิ่งที่เหมือนกันคือ ต้องมีผู้ผลิต ( Producer) ผู้บริโภค (Consumer) และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ยังไม่นับส่วนที่ไม่มีชีวิตอื่น ๆ อย่างแสง ลม ดิน อากาศ และน้ำ

 

ผู้ผลิตส่วนใหญ่แล้วก็คือ พืช ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เก็บเกี่ยวเอาพลังงานแสงมารวมเข้ากับแร่ธาตุและน้ำ ผลิตออกมาเป็นผลผลิตซึ่งเป็นอาหารให้กับผู้บริโภค นั่นคือการทำงานของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงนั่นเอง หากขาดผู้ผลิตก็จะไม่มีแหล่งอาหารหลักให้กับผู้บริโภคหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในระบบ ผู้บริโภคลำดับที่หนึ่งหรือสัตว์กินพืช (Herbivore) เก็บเกี่ยวเอาพลังงานที่อยู่ในตัวของผู้ผลิต ทั้งผล ต้น หรือใบ มาเป็นอาหาร ผู้บริโภคลำดับที่สองเป็นสัตว์กินเนื้อ (Carnivore) ซึ่งกินสัตว์ด้วยกันเป็นอาหาร ส่วนใหญ่แล้วจะกินสัตว์กินพืชอีกทอดหนึ่ง ซึ่งพลังงานที่ถูกแปรรูปมาจากแสงอาทิตย์ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงก็จะส่งต่อไปยังสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อ ตามลำดับ

 

ผู้บริโภคกินทั้งพืชและสัตว์เรียกว่า Omnivore เช่น หมี ซึ่งกินทั้งสัตว์ขนาดเล็กและพืช และแน่นอนว่าคนก็เช่นกัน ท้ายที่สุดคือ ผู้ย่อยสลายซึ่งเป็นผู้แปรเปลี่ยนสรรพสิ่ง ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้กลับไปเป็นหน่วยย่อยพื้นฐานที่สุดของระบบคือ แร่ธาตุต่าง ๆ ในดินซึ่งจะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์ด้วยแสง เพื่อสร้างเป็นอาหารของระบบต่อไปนั่นเอง


ระบบนิเวศหนึ่งที่พิเศษกว่าใครคือ การที่มันมีปัจจัยแวดล้อมที่ดูไม่น่าเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ อันที่จริงมนุษย์เราเอาตัวเราเป็นบรรทัดฐานว่าเราไม่สามารถอาศัยอยู่ในระบบนั้นได้ และเราก็ไม่เห็นสัตว์อาศัยอยู่ในระบบนั้น นั่นคือ น้ำพุร้อน ซึ่งมันเป็นน้ำที่อยู่ใต้ดินและได้รับพลังงานความร้อนจากใต้เปลือกโลก ทำให้มันถูกดันขึ้นมายังบนผิวโลกพร้อม ๆ กับแร่ธาตุต่าง ๆ กลายเป็นน้ำพุร้อน

 

ในปัจจุบันเราพบว่า มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่สามารถอาศัยและเติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ และการดำรงชีวิตของมันได้ไม่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระบบนิเวศอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้น้ำพุร้อนที่อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตนแห่งสหรัฐอเมริกามีสีแปลกตา เช่น สีแดง เหลือง น้ำตาลแดง เขียว หรือเขียวอมน้ำเงิน ในเบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นสีของแร่ต่าง ๆ เช่น เหล็กและทองแดงปะปนอยู่ในชั้นหินและดิน แต่ในปี 1889 นักธรณีวิทยา Walter H Weed พบว่า สีสันที่สวยงามนั้นมาจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำพุร้อนด้วย และแม้ว่าเราจะไม่สามารถแยกแยะสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ด้วยตาเปล่าได้แต่เราเห็นพวกมันโดยรวมอาศัยอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิสูงเกือบถึงจุดเดือด

ภาพ : Shutterstock

 

สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีความสามารถในการอาศัยอยู่ในน้ำร้อน แต่ยังสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วถึง 2 เท่าภายในเวลา 2 ชั่วโมงเท่านั้น สิ่งมีชีวิตจิ๋วเหล่านี้เรียกว่า Thermophiles โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นแบคทีเรียและสาหร่าย ซึ่งสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 115 และ 60 องศาเซลเซียส ตามลำดับ

 

นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า สิ่งมีชีวิตที่ทนความร้อนได้เหล่านี้มีญาติ ๆ ของมันที่อาศัยอยู่ใกล้กับปล่องภูเขาไฟที่ปะทุอยู่ใต้มหาสมุทรเช่นกัน พวกมันสามารถอาศัยล้อมรอบปล่องน้ำพุร้อนใต้ทะเล แม้แต่ทะเลทราย หรือแหล่งน้ำร้อนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างแหล่งน้ำร้อนที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วย นอกจากนี้พวกเขายังพบว่า มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดอย่างหนอนทะเล กุ้ง หรือปูขนาดเล็กบางชนิด สามารถปรับตัวให้อยู่ในที่ที่มีความร้อนสูงกว่าปกติได้โดยการพึ่งพิงแบคทีเรียและสาหร่ายพิเศษที่ทนความร้อนได้สูงด้วย โดยมันสามารถอยู่ในน้ำที่มีความร้อนสูงกว่า 50 องศาเซลเซียสได้ และการพึ่งพาแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในระบบนิเวศขนาดเล็กที่อื่นในอุณหภูมิปกติ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow