Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทฟลอน สารลื่นแห่งโลกอุตสาหกรรม

Posted By Plook Creator | 09 ต.ค. 60
12,290 Views

  Favorite

แน่นอนว่าคุณต้องเคยเห็นโฆษณา ไม่ว่าจะผ่านอินเตอร์เน็ต หรือในทีวี ที่มีดาราโฆษณาขายสุดยอดกระทะที่ทอดอะไรก็ได้ไม่ต้องใช้น้ำมัน ทำความสะอาดง่าย ต่อให้ของไหม้ของเหนียวอย่างไรก็ยังไม่ติดกะทะ ไม่ต้องล้าง ไม่ต้องขัด ไม่ต้องถู แค่เช็ดหรือสะกิดเบา ๆ ก็ลื่นหลุดไปจากผิวหน้ากระทะ อะไรคือความลับของผิวสัมผัสกระทะที่ลื่นไหล ไร้รอยสะดุด ทำไมจึงสามารถลื่นได้ขนาดนั้น และทำไมเราจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ลื่นแบบนั้น หรือว่าเราจะถึงยุคที่ไม่ต้องใช้น้ำมันในการปรุงอาหารอีกต่อไป คำตอบอยู่ที่สารที่ใช้ในการผลิตกะทะหรือสารที่เคลือบผิวหน้าที่เรียกว่า เทฟลอน (Teflon)

ภาพ : Shutterstock

 

อันที่จริงเทฟลอนไม่ได้เป็นชื่อสารเคมีที่ตั้งขึ้นมาขายตั้งแต่ต้น เทฟลอนเป็นชื่อแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าที่บริษัทดูปองท์ทำออกมาขายผู้บริโภค แต่ชื่อที่รู้จักกันในแวดวงวิทยาศาสตร์หรือสารที่แท้จริงที่เป็นส่วนประกอบของกระทะประเภทนี้ก็คือ PTFE หรือโพลีเตตระฟลูออโรเอทิลีน (Polytetrafluoroethylene) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ มันถูกค้นพบโดยบังเอิญโดย Dr. Roy Plunkett ในสหรัฐ เมื่อเขาพยายามทำการทดลองเกี่ยวกับสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมทำความเย็น จากความบังเอิญนี้เองเขาได้พบกับสารที่มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ทำปฏิกิริยากับสารใด ๆ และยังมีแรงตึงผิวที่ต่ำมาก มากจนไม่ยึดเกาะกับสารอื่น ทำให้มันเป็นวัสดุหรือสารที่ลื่นที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา และเมื่อโลกอุตสาหรรมรู้จักกับคุณสมบัติของสารชนิดนี้ มันก็เป็นที่ต้องการในทุกวงการทันที แม้แต่มาเฟียชาวอิตาลีที่ได้รับฉายา The Teflon Don ก็เพราะเขามีความสามารถในการหลบหลีกหนีการจับกุมและรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายมาได้หลายปี นั่นทำให้เทฟลอนกลายเป็นชื่อที่สื่อถึงความลื่นยิ่งขึ้นไปอีก

 

เทฟลอนถูกค้นพบและจดทะเบียนครั้งแรกในปี 1945 และจดทะเบียนเพื่อการพาณิชย์ในปี 1946 มันถูกใช้ในหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอวกาศ การสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการทางอุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม ด้วยคุณสมบัติของมันคือ ลื่น ไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารอื่น และกันน้ำ ทำให้มันสามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย และเนื่องจากมันถูกโฆษณาเป็นครั้งแรกในชื่อของเทฟลอน ผู้คนทั่วไปจึงรู้จักสารตัวนี้ในชื่อเทฟลอน สินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักคือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน  เช่น กระทะเคลือบพื้นผิวสำหรับการทอด หม้อที่เคลือบผิวลื่นภายใน หรือตะหลิว แต่อันที่จริงมันยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ต่าง ๆ รอบตัวเรามากมาย ทั้งเสื้อกันฝน รองเท้าบูทกันน้ำ ข้อต่ออวัยวะเทียม บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่หลังคาของท่าอากาศยานนานาชาติที่เมืองเดนเวอร์

 

หลังจากนั้นสารประกอบและสารเคมีอื่น ๆ ในตระกูล PTFE ก็ถูกผลิตและสังเคราะห์ออกมามากมายให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น FEP ETFE และ PFA เป็นต้น เรียกได้ว่าเทฟลอนเองก็มีประโยชน์อย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของมวลมนุษยชาติ ถึงขนาดที่บริษัทดูปองท์ได้รางวัล National Medal of Technology ในปี 1990 จาก จอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เนื่องจากเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในการคิดค้นและพัฒนาทำให้มนุษย์เรามีความก้าวหน้า ยังไม่นับรางวัลอีกมากมายที่  Dr. Roy ได้รับเนื่องจากการค้นพบของเขา

ภาพ : Shutterstock

 

PTFE มีความสามารถในการลื่นไหล ไม่ยึดเกาะไม่ทำปฏิกิริยากับสารใด ๆ แต่มันกลายเป็นสารเคลือบที่อยู่บนพื้นผิวอุปกรณ์หรือสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างไร วิธีการที่มันไปเคลือบอยู่บนวัสดุต่าง ๆ นั้นเป็นความลับทางการค้าของผู้ผลิตแต่ละราย แต่มีหลักการคร่าว ๆ คือ การทำให้พื้นผิวที่ต้องการให้ PTFE ไปเคลือบอยู่นั้นขรุขระ ไม่ว่าจะเป็นการขัดให้เป็นร่องหรือพ่นทรายละเอียดให้มันไม่เรียบ หลังจากนั้นใช้สารรองพื้นชนิดพิเศษซึ่งทำหน้าที่เสมือนกาว และอีกครั้งที่สารตัวนี้ก็เป็นความลับ เมื่อทากาวลงไปบนพื้นผิวแล้ว PTFE ก็จะถูกพ่นลงไป และนำไปอบที่อุณหภูมิสูงถึง 800 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้สารเคลือบ PTFE แข็งตัวอยู่บนพื้นผิว และเราก็จะได้กระทะเคลือบเทฟลอนยี่ห้อต่าง ๆ

 

ข้อสังเกตก็คือ หากว่ากระบวนการผลิตใช้ความร้อนสูงทำให้เทฟลอนเกาะตัวบนพื้นผิวได้ นั่นก็แปลว่าหากเราใช้กระทะไม่ระมัดระวังและทำให้มันได้รับความร้อนสูงเป็นเวลานาน มันก็จะหลุดร่อนออกมาได้เช่นกัน กระทะเปล่า ๆ ที่ได้รับความร้อนจากเตามีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 500 องศาเซลเซียส และทำให้กระทะเทฟลอนของคุณเสียคุณสมบัติของมันไป รวมถึงปล่อยสารพิษกลิ่นเหม็นออกมาด้วย นอกจากนั้นการขูดหรือการขัดกระทะด้วยอุปกรณ์ที่ผิด อาจจะทำให้ PTFE ที่เคลือบไว้บาง ๆ ที่หน้ากระทะหลุดร่อนออกมาได้เช่นกัน แม้ว่าการใช้กระทะเทฟลอนจะปลอดภัย และสารที่หลุดออกมาคงไม่ทำอันตรายอะไรหากทานเข้าไป เพราะมันไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นในร่างกาย แต่กระบวนการผลิตก็ทำให้เกิดสารเคมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและนั่นทำให้บริษัทผู้ผลิตตกเป็นจำเลยของสังคมในขณะนี้

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow