Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ก้อนไขมันยักษ์ ปัญหาจากความมักง่ายที่กลับมาทำร้ายเรา

Posted By EarthMe | 28 ก.ย. 60
11,079 Views

  Favorite

ก้อนไขมันคือสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ท่อระบายน้ำทิ้งในหลายประเทศอุดตัน ซึ่งสามารถพบพวกมันแข็งตัวติดกับผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอนามัย ทิชชูเปียก และถุงยางในท่อน้ำทิ้ง และบางคนอาจจะได้ผ่านตากับข่าวการพบก้อนไขมันขนาดมหึมาใต้ถนนที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมันมีน้ำหนักถึง  140 ตัน และยาวถึง 250 เมตร ขนาดของมันใหญ่กว่าก้อนไขมันแชมป์เก่าที่พบในอังกฤษเมื่อปี 2013 ซึ่งมีขนาดใหญ่จนเท่ากับรถบัสคันนึง แต่นั่นยังไม่ใหญ่พอ เพราะว่าก้อนไขมันที่พบล่าสุดนี้ใหญ่กว่านั้นถึง 10 เท่าตัวเลยทีเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

"ไขมันไหลลงท่อระบายน้ำได้ง่ายพอสมควร และเมื่อสัมผัสกับน้ำในท่อระบายน้ำ บรรดาไขมันเหล่านี้ก็จะแข็งตัวเป็นก้อนไขมันที่ปิดกั้นท่อ" เดฟ เดนนิส ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการท่อระบายน้ำของ Thames Water Company กล่าว น้ำเสียในเขตเมืองมักจะมีปริมาณแคลเซียมสูง เนื่องจากต้องไหลผ่านคอนกรีตที่เต็มไปด้วยแคลเซียม เมื่อน้ำเสียผสมกับไขมันจากการทำอาหารในท่อระบายน้ำ มันจะทำให้ไขมันจับกันเป็นก้อนผ่านกระบวนการ Saponification ซึ่งในกระบวนการนี้ เมื่อไตรกลีเซอไรด์ในไขมัน ทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) ซึ่งเป็นด่าง น้ำไขมันจะเปลี่ยนเป็นสบู่และกลีเซอรอล เรียกว่า ไฮโดรไลซิสอัลคาไลน์ของเอสเทอร์ หากเอสเทอร์จำนวนมากถูกทำให้ร้อนโดยโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้นจะทำให้เกิด Carboxylic acid salt ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสบู่ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าก้อนไขมันเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการทางเคมีเช่นเดียวกับสบู่ที่เราใช้กัน

 

สมการเคมีของโซเดียมไฮดรอกไซด์และโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (ตามลำดับ) ซึ่งมีสภาพเป็นด่าง

ภาพ : trueplookpanya

 

ภาพ : trueplookpanya

 

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ดูจะไม่ง่ายเลยสักนิดเดียว โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นในลอนดอน เมืองที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูง แต่ท่อระบายน้ำกลับเป็นแบบโบราณ ดร. ทอม เคอร์แรน อาจารย์จากภาควิชาระบบชีวะและวิศวกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยดับลินคอลเลจ ซึ่งได้ศึกษาปัญหานี้และกล่าวว่า "ปัญหาอื่นนอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนประชากรและความรับผิดชอบต่อสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันอย่างท่อระบายน้ำ คือปัญหาของภาคธุรกิจและการวางท่อ ลอนดอนเป็นประเทศที่มีร้านอาหาร โรงแรม ผับ และร้านขายของมากมาย ดังนั้น แหล่งที่มาของขยะจึงมีอยู่อย่างหลากหลายตามไปด้วย"

 

เพื่อแก้ไขก้อนไขมันเจ้าปัญหานี้ จำเป็นต้องใช้คนถึง 8 คนเข้ามาดูแล โดยพวกเขามาพร้อมกับชุดป้องกันแบบพิเศษ พลั่ว และน้ำแรงดันสูงในการจัดการกับปริมาณขยะมหาศาล แน่นอนว่าพวกเขาต้องเจอกับทั้งเชื้อแบคทีเรียและแก๊สพิษจากขยะมากมายในท่อ ขยะที่ขุดออกมาจะถูกดูดเข้าไปในเรือบรรทุกน้ำมันและนำไปทิ้งที่โรงงานรีไซเคิลในเมือง Stratford พวกเขาต้องใช้เวลาทุกวันตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ในการจัดการดูแลปัญหานี้และขณะนี้พวกเขาก็ยังไม่ได้หยุดมือ

 

James Seers นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ Brunel University ได้ออกแบบสิ่งที่จะช่วยให้เรื่องนี้ง่ายขั้น มันเป็นอะไรที่เรียบง่ายแต่ได้ผล นั่นคือชุดตัวกรองใน U-bend (ท่อรูปตัวยู) หรือ P-trap (ท่อดับกลิ่นของน้ำเสีย) ใต้อ่างล้างจาน เขาเสนอให้มีการปรับ U-bending ใหม่ภายใต้อ่างล้างจาน เพื่อป้องกันไม่ให้มีไขมันเล็ดลอดออกมา ในการออกแบบของเขา น้ำมันหรือไขมันที่มาจากระทะสกปรกจะผ่านอ่างและถูกกรองออก ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่จะไหลออกจากบ้านและผสมกับน้ำแล้วไปแยกออกภายหลัง โดยการออกแบบใหม่นี้จะทำให้ไขมันถูกกักเก็บไว้ในภาชนะที่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างง่ายดายและปลอดภัยในภายหลัง

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพฤติกรรมของผู้ใช้ ทางออกที่หนึ่งก็คือ แก้ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคนั่นเอง ประชาชนจำเป็นต้องตระหนักว่าทิชชูเปียกควรทิ้งในถังขยะไม่ใช่ในห้องน้ำ เพราะถึงมันจะเป็นกระดาษบาง ๆ แต่มันกลับย่อยสลายได้ช้ามาก ทางออกที่สองคือ ขอความร่วมมือจากบรรดาร้านค้าต่าง ๆ เพราะร้านอาหารควรเทของเสียจากการทอดในถังดักไขมัน ซึ่งน้ำและไขมันสามารถแยกออกจากกัน ก่อนจะปล่อยให้ไขมันแข็งตัวและนำไปกำจัดทิ้งได้โดยง่าย

 

มองปัญหาของทางต่างประเทศแล้วก็หันมามองที่ประเทศของเรา หรือนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีน้ำรอการระบายมากมายในเขตตัวเมืองก็ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้จะน้อยลงเมื่อเราร่วมใจ คำนึงถึง และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมให้มากขึ้น

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • EarthMe
  • 1 Followers
  • Follow