Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"พระเมรุมาศ" ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Posted By Plook Creator | 28 ก.ย. 60
10,426 Views

  Favorite

"พระเมรุมาศ" (พระ-เม-รุ-มาด) เป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชทานเพลิงพระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ (ที่มีอิสริยยศ ทรงฉัตร 7 ชั้นขึ้นไป) เช่น พระราชชนนี พระบรมราชินี แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะเรียกว่า "พระเมรุ" (พระ-เมน) และสามัญชนเรียกว่า "เมรุ" (เมน)

 

สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 แห่งสยามประเทศ ที่ปวงชนชาวไทยทุกคนจะขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณไปตลอดกาล ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2560 ได้มีการสร้างพระเมรุมาศบนพื้นที่กว่า 40 ไร่ของท้องสนามหลวง โดยนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งได้รับแนวคิดการจัดวางยอดมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างอื่นประกอบพระเมรุมาศที่ล้วนสวยงามสมพระเกียรติยิ่ง

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

 

"สนามหลวง" พื้นที่จัดสร้างพระเมรุมาศ

"ท้องสนามหลวง" ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสร้างพระเมรุมาศนั้น ถูกเรียกว่า "ทุ่งพระเมรุ" มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์มาตลอด โดยมีนัยเทียบเคียงกับเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าชื่อทุ่งพระเมรุนั้นไม่เป็นมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "ท้องสนามหลวง" นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ที่มาและคติความเชื่อ

สำหรับการสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้เป็นไปตามคติความเชื่อจากพราหมณ์ที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นเทพที่จุติลงมาจากสวรรค์ เพื่อสั่งสมบารมี ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงเปรียบเสมือนสมมติเทพ ประกอบกับคติความเชื่อเรื่องเรื่องโลกแและจักรวาลในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่กล่าวถึงโลกทั้งสาม ได้แก่ สวรรค์ มนุษย์ และนรก โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และเป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพภูมิต่าง ๆ รวมถึงเหล่าทวยเทพ เทวดา มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑ์คีรี ตั้งอยู่กลางป่าหิมพานต์ ถัดจากเขาพระสุเมรุออกมา เป็นมหานทีสีทันดร และมหาทวีปที่ตั้งประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ บนยอดของเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 ใน 6 ชั้น (1. จตุมหาราชิกา 2. ดาวดึงส์ 3. ยามา 4. ดุสิต 5. นิมมานรดี 6. ปรนิมมิตวสวัตดี) และเมื่อพระมหากษัตริย์ผู้ดุจดั่งสมมติเทพเสด็จสวรรคต ถึงเวลาต้องกลับสู่สวรรค์ จึงมีการจำลองพระเมรุมาศให้เสมือนกับเขาพระเมรุเพื่อทำการส่งเสด็จ

 

พระเมรุมาศ 9 ยอด

พระเมรุมาศที่สร้างขึ้นในครั้งนี้ เป็นพระเมรุมาศ 9 ยอด ตามรูปแบบเฉพาะของพระมหากษัตริย์ โดยมีพื้นที่ฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 59.60 เมตร สูง 50.49 เมตร ประกอบด้วย บุษบกจำนวน 9 องค์ ได้แก่ องค์ประธานหรือบุษบกใหญ่ยอดปราสาท 7 ชั้นเชิงกลอน และรายล้อมด้วยบุษบกขนาดเล็ก จำนวน 8 องค์ คือ ซ่างและหอเปลื้องซึ่งอยู่ที่มุมทั้งสี่ สำหรับบุษบกใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ส่วนบุษบกเล็ก ๆ ที่รายรอบอยู่นั้นเปรียบเสมือนสัตบริภัณฑ์คีรี

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

 

ในแต่ละชั้นของพระเมรุมาศ นอกจากจะมีบุษบกแล้ว ยังประกอบไปด้วยประติมากรรมที่มีความวิจิตรตระการตาที่ซ่อนปริศนาธรรมหรือความหมายในเชิงพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งสรรค์สร้างโดยช่างฝีมือดีจำนวนมากด้วยความตั้งใจ เพื่อส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นครั้งสุดท้าย โดยประติมากรรมในแต่ละชั้น มีดังนี้

 

ลานอุตราวรรต เป็นพื้นรอบฐานของพระเมรุมาศ ประกอบด้วย สระอโนดาตซึ่งเป็นสระน้ำในป่าหิมพานต์ ตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ของพระเมรุมาศ นอกจากนี้ยังมีสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่าง ๆ รายล้อม ส่วนบริเวณทางขึ้นบันไดประดับด้วยสัตว์ในป่าหิมพานต์ 4 ชนิด ความสูง 108 เซนติเมตร ประจำอยู่ในทิศทั้งสี่ ทิศละ 1 คู่ ได้แก่
- ช้าง ประดับอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดประจำทิศเหนือ
- สิงห์ ประดับอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดประจำทิศตะวันออก
- โค ประดับอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดประจำทิศใต้
- ม้า ประดับอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดประจำทิศตะวันตก

 

ชั้นชาลาที่ 1 ประกอบด้วย คชสีห์และราชสีห์ ความสูง 108 เซนติเเมตร ประดับบันไดทั้งสี่ทิศ ทิศละ 1 คู่ ราวบันไดเป็นนาคเศียรเดียว สร้างตามศิลปะรัตนโกสินทร์โดยมีต้นแบบมาจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช รอบ ๆ เป็นประติมากรรมเทวดานั่งเชิญบังแทรก นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลหรือจตุมหาราชทั้งสี่ ซึ่งเป็นเทวดาที่คอยปกปักรักษาโลกมนุษย์ในแต่ละทิศ โดยมีความสูง 200 เซนติเมตร ได้แก่
- ท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร ยักษ์ผู้เป็นใหญ่ทางทิศเหนือ และคอยคุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
- ท้าวธตรฐ เทพเจ้าแห่งคนธรรพ์ผู้เป็นใหญ่ด้านทิศตะวันออก มือซ้ายถือพิณซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำองค์ มีเหล่าคนธรรพ์ซึ่งเป็นเทวดาจำพวกหนึ่งเป็นบริวาร
- วิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ทางทิศใต้ มีเทพกุมภัณฑ์เป็นบริวาร ปกครองเหล่าครุฑและนก
- ท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันตก มีฝูงนาคเป็นบริวาร

 

ชั้นชาลาที่ 2 ประกอบด้วย ครุฑซึ่งมีความสูงประมาณ 200 เซนติเมตร ประดับบันไดทั้งสี่ทิศ ทิศละ 1 คู่ ในลักษณะยืนพนมมือ เปรียบเสมือนกำลังถวายสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ราวบันไดเป็นนาค 3 เศียร อิงแบบจากประติมากรรมนาคที่เตาวัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี ส่วนฐานของชั้นชาลานี้ประดับด้วยเทพชุมนุม 108 องค์ บริเวณมุมทั้งสี่ของชั้นชาลาที่ 2 มีบุษบกขนาดเล็กประจำอยู่มุมละ 1 องค์ เรียกว่า หอเปลื้อง ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่ พระโกศจันทน์ และอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี เช่น ดอกไม้จันทน์ ขันน้ำ

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

 

ชั้นชาลาที่ 3 ประกอบด้วย เทวดานั่งเชิญพุ่มและเทวดายืนเชิญฉัตร 7 ชั้น รวม 8 องค์ สูงประมาณ 185 เซนติเมตร เป็นประติมากรรมที่มีความเหมือนจริงโดยมีลวดลายประดับในแบบศิลปทวารวดี ศรีวิชัย อยุธยา และรัตโนสินทร์ ส่วนราวบันไดเป็นนาค 5 เศียร ซึ่งมีต้นแบบมาจากราวบันไดวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในชั้นนี้ยังเป็นที่ตั้งของบุษบกขนาดเล็กที่เรียกว่า ซ่าง ที่ประจำอยู่ทั้ง 4 มุมของพระเมรุมาศ สำหรับเป็นที่นั่งของสงฆ์ขณะสวดพระอภิธรรมประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ (ซ่าง 1 องค์สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับหรือ 16 รูป) มีเทพพนม 28 องค์และครุฑยุดนาค 28 องค์ประดับฐานรับบุษบก บันไดทางขึ้นซ่างเป็นนาคเศียรเดียวที่ถูกมกร (สัตว์ในหิมพานต์ซึ่งเป็นส่วนผสมของสัตว์ 5 ชนิด ได้แก่ ช้าง จระเข้ กวาง สิงห์ งูหรือมังกร ) กลืนกิน มีนัยว่าชีวิตนั้นถูกเวลากลืนกินทุกขณะ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสี่มหาเทพที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่ละองค์สูงประมาณ 257 เซนติเมตร ประกอบด้วย
- พระอินทร์ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวัชระหรือสายฟ้าเป็นศาสตราวุธคู่กาย คอยดูแลทุกข์สุขของมนุษย์
- พระพรหม เป็นพระผู้สร้าง มีพระพักตร์ 4 พักตร์หันไปในทิศทั้งสี่ ซึ่งทำให้พระองค์สามารถมองเห็นและดูแลได้ทั้งโลกมนุษย์และสวรรค์
- พระอิศวร เทพแห่งการทำลาย พระองค์จะขจัดสิ่งเลวร้ายและประทานพรให้กับผู้ประพฤติดีมีศีลธรรม
- พระนารายณ์ เทพผู้ขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้าย และช่วยให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

 

ชั้นชาลาที่ 4 เป็นที่ตั้งของบุษบกองค์ประธาน ซึ่งประกอบด้วยพระจิตกาธาน (เชิงตะกอนหรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ) ประดิษฐานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ราวบันไดเป็นนาค 7 เศียร โดยมีต้นแบบมาจากปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนาศาสดาราม ด้านข้างมีประติมากรรมคุณทองแดงในอิริยาบถนั่งสี่ขา ด้านหน้าบริเวณบันไดขึ้นลงประดับด้วยฉากบังเพลิงสีชมพูอมทองอมขาว เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพและกำบังลม ภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศ รับผิดชอบโดยนายมณเฑียร ชูเสือหึง รักษาการจิตรกรรมชำนาญการ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ตามเรื่องราวนารายณ์อวตารฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ส่วนด้านล่างของฉากบังเพลิงแต่ละฉากเป็นภาพโครงการในพระราชดำริ
- ทิศเหนือ เป็นจิตรกรรมภาพนารายณ์อวตาร ปางที่ 1 มัสยาอวตาร เป็นปลากรายทอง ปางที่ 2  กูรมาวตาร เป็นเต่า ส่วนด้านล่างเป็นภาพโครงการพระราชดำริหมวดน้ำ 4 โครงการ
- ทิศตะวันออก  เป็นจิตรกรรมภาพนารายณ์อวตาร ปางที่ 3 วราหาวตาร เป็นหมูป่า ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ครึ่งคน ส่วนด้านล่างเป็นภาพโครงการพระราชดำริหมวดดิน 4 โครงการ
- ทิศใต้ เป็นจิตรกรรมภาพนารายณ์อวตาร ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร เป็นพราหมณ์ปรศุราม มีขวานเป็นอาวุธ ปางที่ 7 รามาวตาร เป็นพระรามในรามเกียรติ์ ส่วนด้านล่างเป็นภาพโครงการพระราชดำริหมวดไฟ (โครงการที่เกี่ยวกับพลังงาน) 4 โครงการ
- ทิศตะวันตก เป็นจิตรกรรมภาพนารายณ์อวตาร ปางที่ 8 กฤษณาวตาร เป็นพระกฤษณะ ปางที่ 10 กัลกยาวตาร เป็นบุรุษขี่ม้าขาว  ส่วนด้านล่างเป็นภาพโครงการพระราชดำริหมวดลม (โครงการที่เกี่ยวกับลม ฝน) 4 โครงการ
ส่วนด้านหลังฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศเขียนดอกไม้ทิพย์และดอกไม้มงคล เช่น ดอกบัวทอง บัวเงิน มณฑา ดอกกล้วยไม้แคทลียา ควีนสิริกิติ์ ดอกหน้าวัวสีชมพู เรียงร้อยผูกเป็นลวดลายอย่างสวยงาม

 

อาคารประกอบพระเมรุมาศ

อาคารประกอบพระเมรุมาศ เเป็นอาคารน้อยใหญ่ที่เรียงรายอยู่โดยรอบพระเมรุมาศ ซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน ดังนี้
- พระที่นั่งทรงธรรม เป็นเรือนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระเมรุมาศ ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช จำนวน 46 โครงการ โดยสร้างสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ประทับในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และสำหรับคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคณะทูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/


- ศาลาลูกขุุน เป็นเรือนขนาดเล็กรองลงมา ลักษณะเป็นโถงทรงไทยชั้นเดียว แบ่งเป็น 3 แบบด้วยกัน สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธีฯ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 11 หลังด้วยกัน

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/


- ทับเกษตร เป็นอาคารโถงขนาดเล็กหลังคาจั่ว ประดับตกแต่งลวดลายไทย จำนวน 8 หลัง สร้างอยู่ริมรั้วราชวัตรในมุมทั้งสี่ของมณฑลพิธี โดยเป็นจุดกำหนดขอบเขตของมณฑลพิธีเชื่อมกับรั้วราชวัตร สำหรับข้าราชการที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธีฯ

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

 

- ทิม เป็นเรือนพักของสงฆ์ แพทย์หลวง เจ้าพนักงาน และเป็นที่พักเครื่องประโคมปี่พาทย์ประกอบในพระราชพิธีฯ มีจำนวน 4-6 หลัง ตั้งอยู่บริเวณทิศทั้งสี่

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/


- ราชวัติ แนวรั้วกั้นกำหนดขอบเขตพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ประดับด้วยฉัตรและธง

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/


- พลับพลายก เป็นโถงที่ตั้งอยู่ในมุมหนึ่งของมณฑลพิธี สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ

ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

 

พื้นที่บริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศ

เพื่อเป็นการแสดงถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่สร้างคุณูปการต่อประเทศ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คณะผู้จัดสร้างพระเมรุมาศจึงตั้งใจเนรมิตพื้นที่หน้าพระเมรุมาศ ให้เป็นแปลงนาข้าวเลข 9 รวมถึงพืชชนิดอื่น ๆ เช่น หญ้าแฝก มะม่วงมหาชนก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พื้นที่วังสวนจิตรลดาเป็นพื้นที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการวิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้แก่พสกนิกรของพระองค์อย่างได้ผล

 

งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครั้งนี้ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมกับที่พระองค์ทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทยมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน และจะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของเราทุกคนไปตราบสิ้นลมหายใจ ขอพสกนิกรของพระองค์ร่วมกันส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

 

ภาพปก : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, http://www.kingrama9.th/

ภาพ 3D : True4UNews

 

 

แหล่งข้อมูล
ทรูปลูกปัญญา. ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1). สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
thairath. พระเมรุมาศ สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมไทย ตอน 1 | 06-05-60 | ไทยรัฐนิวส์โชว์. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
thairath. พระเมรุมาศ สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมไทย ตอน 2 | 07-05-60 | ไทยรัฐนิวส์โชว์. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. พระเมรุมาศ. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร. คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิภลอดุลยเดช. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
Manager Online. ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
Matichon Online. กรมศิลป์จัดทำภาพ 3 มิติพระเมรุมาศสุดอลังการ เผยภาพจิตรกรรมเขียนแบบศิลปะ ร.9 มีคุณทองแดงนั่ง. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2560
สมเด็จพระเทพฯทอดพระเนตร “บันไดนาค” 26 มิ.ย.นี้
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow