Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกสายตาเอียง

Posted By Plook Parenting | 22 ก.ย. 60
10,721 Views

  Favorite

สายตาเอียง เป็นหนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านสายตาของเด็ก เกิดจากดวงตามีการหักเหแสงแตกต่างไปจากเดิม อาจส่งผลให้เด็กปวดตา ปวดหัว และไปขัดขวางพัฒนาการด้านอื่น ๆ ได้

 

ปัญหาสายตาเอียงในเด็ก เป็นภาวะที่เกิดจากการหักเหของแสงในแต่ละแนวไม่เท่ากัน หรือกระจกตามีความโค้งไม่เท่ากัน ส่งผลให้ภาพที่เด็กเห็นมีองศาที่ไม่ถูกต้อง หรือภาพมัว ไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติของกระจกตาซึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด และจะไม่เป็นมากขึ้นตามอายุ (อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งมีผลทำให้ความเรียบของกระจกตาเปลี่ยนแปลงไป และทำให้มีการหักของแสงในแต่ละแนวแตกต่างกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กในด้านอื่น ๆ ได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการ

     • ตามัว มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน

     • มักเอียงศีรษะไปด้านในด้านหนึ่ง หรือเอียงคอเพื่อช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

     • ในกรณีที่สายตาเอียงมาก เด็กมักจะชอบหันหน้าไปด้านในด้านหนึ่ง เพื่อจะได้เห็นภาพชัดขึ้น

     • ชอบหรี่ตา หรือหยีตา

     • ชอบอ่านหนังสือใกล้ ๆ

     • มีอาการปวดตา ตาล้า

     • ขยี้ตาบ่อย เพราะคิดว่าการขยี้ตาจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น

     • ปวดหัวบริเวณขมับหรือกระบอกตา

 

วิธีทดสอบสายตาเอียง

1. ทดสอบด้วยวงกลมแบบมีลาย

เรียงวงกลมแบบมีเส้นเป็นแนวเดียวกัน จากนั้นมองลายเส้นบนวงกลมทุกวง (ให้เริ่มจากทดสอบตาทีละข้างก่อน จึงทดสอบตาทั้งสองข้างพร้อมกัน) แล้วลองสังเกตดูว่ามองเห็นเส้นสีดำในวงกลมชัดเจนหรือไม่ ถ้าหากภาพเบลอ แสดงว่ามีสายตาเอียง

2. ทดสอบด้วยเส้นแนวแกน

คล้ายกับวิธีการที่ 1 แต่เปลี่ยนจากภาพวงกลมแบบมีเส้น เป็นแนวแกนรูปพัด เด็กที่มีสายตาเอียงจะมองเห็นแกนแต่ละเส้นไม่ชัดเจน

 

วิธีการรักษา

1. ไปพบจักษุแพทย์

หากสงสัยว่าเด็กมีอาการสายตาเอียง เช่น มองภาพไม่ชัดเจน เมื่อยล้าตา หรือปวดศีรษะเรื้อรัง คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัย ไม่ควรพาลูกไปทำแว่นก่อนพบจักษุแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าลูกสายตาเอียงเสมอไป และอาจมีอาการของโรคอื่นร่วมด้วย

2. ตัดแว่น

หากจักษุแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเด็กสายตาเอียง แต่ยังอยู่ในระดับที่แก้ไขได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปตัดแว่น ซึ่งการใส่แว่นจะช่วยให้ลูกมองเห็นชัดเจนขึ้น และยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่เกิดจากการต้องใช้สายตาเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ เป็นเวลานานได้อีกด้วย

3. ไม่นอนดูโทรทัศน์ หรือนอนเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

แสงจากหน้าจอโทรทัศน์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสายตาของเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ชอบนอนดู หรือนอนเล่นอุปกรณ์เหล่านี้ เพราะองศาในการจับหรือการนอนไม่ถูกสุขลักษณะ หากเด็กคุ้นชินกับพฤติกรรมเหล่านี้ สายตาของเด็กจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรม ส่งผลให้ประสาทตาและการจับภาพผิดเพี้ยนไปในที่สุด

 

โดยทั่วไป พัฒนาการด้านสายตาของเด็กจะพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์เมื่อเด็กอายุ 9 ปี คือสามารถมองภาพด้วยตาทั้งสองข้างชัดเจน และแยกความตื้นลึกหนาบางได้ แต่ถ้าเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา อาทิ สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขอย่างถูกวิธี ก่อนที่ปัญหาเล็ก ๆ เหล่านี้จะลุกลามกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อพัฒนาการของลูกน้อย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow