Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ควรเข้าอนุบาลเมื่อไหร่ให้ดีต่อใจของลูก

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 18 ก.ย. 60
8,088 Views

  Favorite

สำหรับพ่อแม่แล้วนั้น ครูพิมเชื่อว่าทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของลูก เป็นสิ่งที่สำคัญเสมอใช่ไหมล่ะคะ และแน่นอนว่า การตัดสินใจส่งลูกเข้าโรงเรียน ก็เช่นกัน

 

การส่งลูกเข้าโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งต่อผู้ปกครองและตัวเด็กเองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักกังวล โดยเฉพาะการตัดสินใจว่า เมื่อไหร่ดี ที่ควรจะส่งลูก ๆ ออกจากรั้วบ้านเข้าสู่รั้วสถานศึกษาที่เป็นสังคมใหม่

 

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา (พ.ค. 60) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุเด็ก เพื่อเข้ารับการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. รวมถึงแนวปฏิบัติในการรับเด็กเข้าศึกษา ปีการศึกษา 2560 โดยสาระสำคัญของประกาศฯ ฉบับนี้ คือ ให้รับเด็กที่มีอายุไม่น้อยกว่า 3 ปีบริบูรณ์ เข้าศึกษาในชั้นอนุบาล 1 ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด สพฐ. ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่กำหนดเรื่องการรับเด็กเข้าเรียนก่อนระดับประถมศึกษา ให้รับเด็กที่อายุไม่น้อยกว่า 4 ขวบ ทำให้ปกตินักเรียนอายุ 3 ขวบจะเข้าเรียนในระดับเตรียมอนุบาล 

 

การเปลี่ยนแปลงนี้บ่งบอกว่า เด็ก ๆ สามารถเข้าเรียนในชั้นอนุบาลได้เร็วขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้น “อายุ” ดูเหมือนจะไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่สำคัญต่อการตัดสินใจสำหรับพ่อแม่ค่ะ ในมุมมองของนักจิตวิทยาพัฒนาการนั้น ครูพิมมองปัจจัยที่สำคัญออกเป็น 3 ด้านด้วยกันค่ะ

 

1. พัฒนาการของเด็ก

โดยปกติแล้ว เด็ก ๆ จะเริ่มสนใจที่จะเข้าสังคมและมีความสามารถในการแยกจากจากพ่อแม่ได้ ในช่วงอายุประมาณ 2.5 ปี ขึ้นไปค่ะ แต่ทั้งนี้ อาจมีความแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน โดยเด็กที่ได้รับโอกาสในการเข้ากลุ่ม หรือทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในช่วงวัยเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ง่ายและเร็วกว่า ดังนั้น ก่อนการเข้าโรงเรียนอย่างเป็นทางการ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้โอกาส และสนับสนุนเด็กในการทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ กับผู้อื่น อาจจะเป็นการเข้ากลุ่มแบบ Playgroup การเล่นกับเพื่อนบ้าน การคลุกคลีกันญาติในวัยเดียวกัน หรือหากเด็กมีแนวโน้มที่จะเข้าสังคมได้ง่ายอยู่แล้ว ก็นับเป็นโชคดีในข้อนี้ค่ะ

 

2. ความสะดวกของผู้ปกครอง

แม้ว่าพัฒนาการของเด็กจะเป็นสิ่งที่ครูพิมให้ความสำคัญมากที่สุด แต่ความสะดวกของผู้ปกครองเอง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ โดยปกติแล้ว ครูพิมจะให้คำแนะนำกับผู้ปกครองส่วนใหญ่ว่า หากเรายังสามารถที่จะจัดสรรเวลาในการดูแลลูกด้วยตัวเองได้ การเข้าเรียนในวัยอนุบาลก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ควรเร่งรีบ เพราะช่วงเวลา 6 ปีแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก นอกจากนี้ หากการเข้าโรงเรียนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เช่น ลูกงอแงเพราะต้องตื่นเช้า พ่อแม่ต้องเร่งรีบในการทำงาน และมีความเหนื่อยหน่ายกับการต้องกลับมาดูแลเรื่องการเรียนของลูก การเร่งเข้าเรียนก็อาจกลายเป็นปัญหาได้ ในทางกลับกัน หากการเข้าเรียนของลูก สามารถทำให้ผู้ปกครองจัดสรรเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ลงตัวมากขึ้น หรือมีความจำเป็นอื่น ๆ ที่จะต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน ก็สามารถที่จะยืดหยุ่นในข้อนี้ได้ โดยดูที่พัฒนาการเบื้องต้นของเด็ก และปัจจัยในข้อสุดท้ายควบคู่กันค่ะ

 

3. ลักษณะของโรงเรียน   

รูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณาควบคู่กันไปกับช่วงเวลาในการส่งลูกเข้าเรียนค่ะ โดยปกติแล้ว รูปแบบของโรงเรียนอาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

          • โรงเรียนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ทางวิชาการ

          • โรงเรียนที่มุ่งเน้นพัฒนาการเด็กตามแนวคิดหรือปรัชญาบางอย่าง

          • โรงเรียนที่เป็นลักษณะของสถานรับเลี้ยงเด็ก

ซึ่งโรงเรียนในรูปแบบแรกนั้น ความพร้อมทางด้านสติปัญญาของเด็ก และความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากโรงเรียนจะมีมาตรฐานทางด้านการศึกษาที่ค่อนข้างสูง และการที่เด็กเข้าเรียนในช่วงที่ยังไม่มีความพร้อม อาจทำให้เกิดปัญหากับตัวเด็กในภายหลังได้ค่ะ ในขณะที่โรงเรียนรูปแบบหลังนั้น อาจมีความยืดหยุ่นมากกว่าในด้านความพร้อมของเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรียนในลักษณะนี้อาจต้องการเวลาและการสนับสนุนบางอย่างจากผู้ปกครอง เนื่องจากรูปแบบของหลักสูตรจะมุ่งเน้นที่ความร่วมมือกันนั่นเองค่ะ ในขณะที่โรงเรียนในลักษณะของการฝากเลี้ยงนั้น จะตอบโจทย์สำหรับผู้ปกครองที่มีความจำเป็น หรือไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกในช่วงกลางวันได้ ซึ่งโรงเรียนในลักษณะนี้ จะรองรับเด็ก ๆ ได้ในทุกช่วงวัยค่ะ 

 

โรงเรียน เป็นเสมือนสังคมจำลองแห่งแรกที่จะให้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน และความรู้สึกของเด็กที่มีต่อโลกใบนี้ ความพร้อมของเด็ก ความเหมาะสมของโรงเรียน และความสะดวกของผู้ปกครอง จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การก้าวสู่โลกใบใหม่ของเด็ก ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ครูพิมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ได้นะคะ แล้วพบกันในบทความหน้าค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow