Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พฤติกรรมการโกหกของเด็กแต่ละวัย

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 18 ก.ย. 60
7,094 Views

  Favorite

พฤติกรรมการโกหก เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ผู้ปกครองหลายท่านสอบถามครูพิมเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่นำไปสู่ความวิตกกังวล ความเครียด และหลาย ๆ ครั้งก็นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูก

 

แต่ในทางจิตวิทยานั้น การโกหก เป็นเสมือนพัฒนาการอย่างหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย และในแต่ละช่วงวัย ก็มีสาเหตุและวิธีการรับมือที่แตกต่างกันไป ในบทความนี้ ครูพิมจะนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรูปแบบและลักษณะการโกหกของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจเด็ก ๆ ในแต่ละวัยได้มากขึ้นนะคะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

การโกหกของเด็กเล็ก (2-4 ปี)

เนื่องจากพัฒนาการทางภาษาของเด็กในวัยนี้ยังไม่เต็มที่นัก นอกจากนี้ เด็ก ๆ ในวัยนี้ยังมีความสับสนระหว่างความคิดกับความจริง จินตนาการ ความฝัน และความคาดหวัง นอกจากนี้ อารมณ์และความรู้สึกบางอย่างที่รุนแรง ก็ทำให้เด็กในวัยนี้พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงได้ เช่น เมื่อเด็กรู้สึกโกรธอาจบอกว่า เพื่อนแย่งของเล่นไป แม้จะไม่ใช่ความจริงก็ตาม นอกจากนี้เด็กวัยนี้ยังชอบที่จะโกหกด้วยการปฏิเสธความผิดของตัวเองเช่น “ผมไม่ได้ทำ” “หนูไม่ได้กิน”  เหล่านี้เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้ยังเล็กเกินไปที่จะเข้าใจการลงโทษที่เกิดจากการที่พวกเขาโกหก เนื่องจากพวกเขาเองก็ยังไม่ได้เข้าใจมากนักค่ะ ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเรียกว่าการโกหก เพียงแต่ต้องการจะทำเพื่อลดความกดดันในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และบางครั้ง เป็นเพราะว่าเด็กรู้สึกกลัวการซักถามด้วยน้ำเสียงที่เกรี้ยวกราดของเรานั่นเองค่ะ การปฏิเสธหรือการโกหกจึงทำให้เด็ก ๆ วัยนี้รู้สึกว่า ตัวเองน่าจะรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้

 

การโกหกของเด็กวัยอนุบาล (4-7 ปี)

แม้พัฒนาการทางภาษาของเด็กในวัยนี้จะค่อนข้างพัฒนาได้ดีแล้ว แต่เรื่องของการจินตนาการ และการสร้างโลกสมมตินั้น  ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ค่ะ นอกจากนี้ วัยนี้ยังมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ที่สูง ดังนั้น อาจทำให้แสดงออกด้วยการโกหกเรื่องราวต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การโกหกเพื่อป้องกันตัวเองก็ยังคงมีให้เห็นเช่นเดียวกับในช่วงวัยก่อนหน้านี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังก็คือ อย่าให้ความระแวงของเราไปทำลายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ในวัยนี้ แต่เราสามารถที่จะใช้สื่อที่สร้างสรรค์ในการสอนเรื่องการโกหกสำหรับเด็กในวัยนี้ได้ค่ะ

 

การโกหกของเด็กโต (7-10 ปี)

เด็กในวัยนี้ เริ่มที่จะเข้าใจแล้วค่ะว่า อะไรคือการโกหก นอกจากนี้ เด็ก ๆ ในวัยนี้ยังเริ่มเรียนรู้จากสังคมทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน ถึงผลของการโกหก นอกจากนี้เด็กในวัยนี้ยังเริ่มที่จะชอบทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่พวกเขาเริ่มมีพัฒนาการในการโกหกเพื่อให้แนบเนียน ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ชอบที่จะจับโกหกเพื่อน ๆ ด้วยเช่นกัน การโกหกของเด็ก ๆ ในวัยนี้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการเข้าสังคม และผลที่ได้รับจะช่วยสอนให้พวกเขาเข้าใจถึงความถูกผิดของการโกหกนั่นเองค่ะ

 

สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษของเด็ก ๆ ในวัยนี้ก็คือ พฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่เด็ก ๆ จะไม่ได้เพียงเลียนแบบวิธีการ ท่าทาง หรือคำพูดเท่านั้น แต่พวกเขายังเริ่มเข้าใจเจตนาในการโกหกของผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขาเริ่มพัฒนาการโกหกของตัวเองและตีความว่า หากผู้ใหญ่ทำได้ พวกเขาก็สามารถที่จะทำได้เช่นกัน ดังนั้น หากเรามีความจำเป็นที่จะต้องโกหกในบางเรื่อง หรือการโกหกเพื่อมารยาท ก็ควรที่จะให้คำอธิบายให้กับเด็กในทุก ๆ ครั้งด้วยนะคะ

 

การโกหกแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีในมุมมองของสังคม แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การโกหกก็แสดงถึงพัฒนาการบางอย่างของเด็ก การทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของการโกหก สาเหตุที่แท้จริง และวิธีการป้องกันไม่ให้การโกหกนั้นเกิดขึ้นจนเป็นนิสัยหรือสร้างความเดือนร้อนกับผู้อื่น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ทุกท่านควรให้ความสำคัญค่ะ แล้วพบกันในบทความหน้านะคะ 

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow