Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมติดคอเด็ก

Posted By Plook Parenting | 28 ส.ค. 60
4,783 Views

  Favorite

การหยิบสิ่งของเข้าปาก นับเป็นอีกขั้นหนึ่งของพัฒนาการเด็ก โดยเด็กจะเรียนรู้วัตถุต่าง ๆ จากการสัมผัสและนำเข้าปาก ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 6 เดือน ถึง 5 ปี เพราะเริ่มคว้าของเข้าปากเองได้

 

หรือในบางกรณีเด็กอยู่ในช่วงฟันขึ้น จึงรู้สึกคันเหงือก และต้องการหาอะไรมากัดเพื่อบรรเทาอาการนั้น หรือบางทีอาจมาจากภาวะทางอารมณ์ที่เด็กจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้ดูดสิ่งของชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เด็กอาจกลืนสิ่งของขนาดเล็กเข้าไปเมื่อใด หรือจากที่ใดก็ได้ แม้คุณพ่อคุณแม่จะพยายามดูแลสอดส่องอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องรู้จักสังเกตอาการของเด็กว่ามีอะไรติดคอเขาหรือไม่ และต้องเตรียมความพร้อม หาวิธีการรับมืออย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปแล้วเกิดอาการติดคอ หรือแม้กระทั่งการมีอาหารติดคอเด็ก

 

อาการ

     • หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด

     • พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก

     • สำลัก หรือไอไม่หยุด

     • มีไข้ ไอเรื้อรัง หายใจเร็วผิดปกติ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการดูแล

1. กรณีเด็กยังไอ หายใจ หรือพูดได้

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกให้แน่ชัดและอย่าเพิ่งทำอะไร เพราะการไอเป็นกลไกการช่วยเหลือตนเองกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าใจภายในลำคอ หากสิ่งของนั้นอยู่ไม่ลึกมาก เมื่อลูกไอสิ่ง ๆ นั้นก็จะหลุดออกมาเอง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตื่นตกใจหรือรีบเข้าไปลูบหลังหรือตบหลังลูก เพราะอาจทำให้สิ่งของที่ติดคอลูกอยู่หล่นลึกลงไปในลำคอได้

 

2. กรณีเด็กพูดไม่ได้ และหายใจลำบาก

กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบช่วยเหลือลูกเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน เพราะของที่ติดคอลูกไปขัดขวางระบบทางเดินหายใจของลูก หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้เด็กขาดอากาศหายใจได้ วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น มีดังนี้

     • ให้เด็กนอนคว่ำ โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว

     • ใช้สันมือตบหลังเด็กเร็ว ๆ 5 ครั้งติดกัน (ความแรงของการตบหลังขึ้นอยู่กับอายุและขนาดตัวเด็ก)

     • ตรวจดูในปากลูก ถ้ามีอะไรอยู่ให้หยิบออก แต่ถ้าไม่เห็น ห้ามล้วงมือเข้าไปโดยเด็ดขาด และทำตามขั้นตอนต่อไป

     • ในกรณีที่ตบหลังเด็กแล้วสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดออกมา ควรพลิกลูกให้นอนหงาย ให้ศีรษะลูกอยู่ต่ำกว่าลำตัว จากนั้นให้กดใต้ลิ้นปี่ติดต่อกันเร็ว ๆ 4 ครั้ง เพื่อให้เกิดแรงดันดันสิ่งแปลกปลอมออกมา สำหรับเด็กโตให้ผู้ใหญ่อ้อมไปด้านหลัง แล้วโอบรอบตัวเด็ก ใช้นิ้วหัวแม่มือกดใต้ลิ้นปี่แรง ๆ 5 ครั้ง ทุก ๆ 3 วินาที

     • ตรวจดูในปากลูกอีกครั้ง ถ้ามีอะไรอยู่ให้หยิบออก แต่ถ้าไม่เห็น ห้ามล้วงมือเข้าไปโดยเด็ดขาด และทำตามขั้นตอนต่อไป

     • หากวิธีการทั้งหมดยังไม่ได้ผล ให้คุณพ่อคุณแม่เป่าลมเข้าไปในปากของเด็กเพื่อช่วยหายใจ และควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

 

 

วิธีการป้องกัน

ให้ของเล่นชิ้นใหญ่ ไม่ให้ของเล่นที่เป็นตัวต่อชิ้นเล็ก ๆ หรืออาหารที่เป็นเม็ดเล็ก ๆ เช่น เมล็ดถั่ว ข้าวโพด

 

 

การเสียชีวิตจากภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม (choking) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลมีความพร้อมในการรับมือและดูแลเบื้องต้น พร้อมทั้งหาวิธีป้องกัน ก็จะช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์อันตรายเด็กก็จะได้รับการดูแลและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow