Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก

Posted By sanomaru | 09 ส.ค. 60
8,727 Views

  Favorite

เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป และร่างกายได้ดูดซึมสารอาหารไปใช้แล้ว ส่วนที่เป็นของเสียจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านลำไส้ใหญ่ แต่หากของเสียเหล่านั้นไม่ถูกขับออกไป ก็อาจจะเป็นที่มาของอาการท้องผูก ซึ่งเป็นปัญหาคาใจของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ระบบต่าง ๆ เริ่มทำงานได้ช้าลง

 

ก่อนจะรู้จักกับสาเหตุของอาการท้องผูก เรามารู้จักกับกระบวนการย่อยอาหารอย่างคร่าว ๆ กันก่อน เพราะเป็นที่มาของของเสียที่จะถูกขับออกจากร่างกายในภายหลัง

กระบวนการย่อยอาหาร

1. ปาก กระบวนการย่อยอาหารเริ่มตั้งแต่ปาก เป็นลักษณะของการย่อยเชิงกล คือบดเคี้ยวอาหารให้แตกออกจากกันเป็นชิ้นเล็ก ๆ
2. กระเพาะอาหาร เมื่ออาหารมาถึงตรงจุดนี้ จะมีเอนไซม์ที่มีสภาะเป็นกรดช่วยย่อยอาหารบางประเภท
3. ลำไส้เล็ก ที่ลำไส้เล็กจะมีเอนไซม์สำหรับย่อยอาหารประเภทคาร์โบไอเดรต โปรตีน ไขมัน รวมถึงเป็นจุดที่มีการดูดซึมสารอาหารด้วย
4. ลำไส้ใหญ่ มีการดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ก่อนจะนำของเสียออกไปโดยการบีบและคลาย เพื่อให้ของเสียเกิดการเคลื่อนที่ออกจากร่างกายได้
5. ทวารหนัก เป็นจุดที่ของเสียจะขับออกจากร่างกาย

 

สาเหตุของอาการท้องผูก

การบ่งชี้ว่าเราเป็นโรคท้องผูกหรือไม่ สังเกตได้จากการขับถ่ายที่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระมีลักษณะแข็ง แห้ง และขับถ่ายออกได้ยาก ซึ่งสาเหตุของอาการดังกล่าวเป็นไปได้หลายประการ

 

1. ลำไส้ใหญ่มีการดูดน้ำกลับ
น้ำเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการย่อยอาหารก็ว่าได้ เพราะมันจะช่วยให้อาหารที่เรารับประทานเข้าไป สามารถเคลื่อนตัวลงไปยังกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ได้สะดวกขึ้น แต่หากร่างกายของเราเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมากเกินไปหรือจากอากาศที่ร้อนจัด แล้วดื่มน้ำไม่เพียงพอ รวมถึงการกลั้นอุจจาระ ก็จะทำให้ลำไส้ใหญ่มีการดูดน้ำจากของเสียกลับเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้อุจจาระแข็งและเคลื่อนที่ออกมาได้ยาก แต่นอกจากนี้การที่อาหารเดินทางผ่านลำไส้เล็กช้ามาก ๆ น้ำจำนวนหนึ่งก็จะถูกลำไส้เล็กดูดกลับ ทำให้กากอาหารแข็ง และนำไปสู่ภาวะท้องผูกได้เช่นกัน

 

เราสามารถป้องกันการดูดน้ำกลับได้โดยการสังเกตปริมาณการดื่มน้ำของตนเอง แล้วพยายามดื่มน้ำให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ รวมทั้งต้องดื่มน้ำมากขึ้นหากวันไหนมีการออกกำลังกายหรืออากาศร้อนจัด นอกเหนือจากน้ำเปล่าแล้วเราสามารถดื่มเครื่องดื่มประเภทน้ำผักผลไม้ได้ด้วย แต่การดื่มมากเกินไปก็ไม่ได้ดีต่อการรักษาอาการท้องผูกเท่าไรนัก ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะอื่นตามมา เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ส่วนเครื่องดื่มประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงคือ แอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ร่างกายขับปัสสาวะมากขึ้น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ก็เช่นกัน แต่อย่างหลังนี้หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม ก็ไม่ใช่สาเหตุของการสูญเสียน้ำแต่อย่างใด

 

 

2. ความเร็วในการเคลื่อนที่ของของเสียลดลง
โดยปกติแล้วกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่จะมีการบีบและคลายตัวเพื่อให้ของเสียเคลื่อนออกจากร่างกาย แต่หากการบีบและคลายตัวนี้ช้าลงมาก ก็อาจจะนำไปสู่อาการท้องผูกได้ ซึ่งการบีบและคลายตัวของลำไส้ใหญ่ที่ช้าลง อาจมาจากขาดการออกกำลังกาย หรือรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อยเกินไป ทำให้มีกากใยน้อยเกินไป

 

แม้ว่าร่างกายของเราจะไม่สามารถย่อยไฟเบอร์ได้ แต่การกินให้เพียงพอก็มีความสำคัญมากต่อลำไส้ เพราะว่าไฟเบอร์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มขนาดของอุจจาระและทำให้มันนุ่มลงได้ ซึ่งขนาดที่ใหญ่ขึ้น และความอ่อนนุ่มของมัน จะช่วยให้อุจจาระเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น จึงสามารถขับถ่ายได้อย่างเป็นปกติ

 

The American Dietetic Association แนะนำว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 19-50 ปี ควรรับประทานไฟเบอร์อย่างน้อย 25 กรัมต่อวัน และผู้ชาย 38 กรัมต่อวัน ส่วนผู้หญิงที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ควรทานไฟเบอร์อย่างน้อย 21 กรัมต่อวัน ขณะที่ผู้ชายควรทาน 30 กรัมต่อวัน โดยไฟเบอร์ที่รับประทานเข้าไปนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
     - ไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ พบได้ในรำข้าวสาลี ผัก และธัญพืช ช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่ขึ้น และทำงานเป็นเหมือนแปรงที่คอยกวาดลำไส้ใหญ่ให้สะอาด
     - ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ พบในรำข้าวโอ๊ต ถั่ว เมล็ดพืช รวมทั้งผลไม้และผักบางชนิด ช่วยดูดซับน้ำและทำตัวคล้ายกับเจล ดังนั้น อุจจาระจึงอ่อนนุ่มและไหลผ่านออกไปจากลำไส้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น

 
 

 

จากบทวิเคราะห์เมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงให้เห็นว่า 77% ของผู้ที่เป็นโรคท้องผูกเรื้อรังพบว่า จำนวนหนึ่งบรรเทาอาการลงได้ด้วยการกินไฟเบอร์ ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาวิจัยที่ 2 ก็พบว่า การกินไฟเบอร์เพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบาย จึงบรรเทาอาการท้องผูกในเด็กได้ด้วย อย่างไรก็ตามการกินไฟเบอร์มากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี จากงานวิจัยหนึ่งที่ใช้เวลา 6 เดือนทำการศึกษาวิจัยในผู้ที่มีอาการท้องผูกจำนวน 63 คน พบว่า ไม่ว่าจะรับประทานไฟเบอร์เพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตาม อาการท้องผูกของพวกเขากลับหนักขึ้น ดังนั้น ก่อนจะแก้อาการท้องผูกด้วยการรับประทานไฟเบอร์ จึงควรตรวจสอบพฤติกรรมประจำวันของตนเอง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุเสียก่อน เพราะบางครั้งการที่ท้องผูกก็ไม่ได้หมายความว่าเรารับประทานไฟเบอร์น้อยเกินไป แต่อาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้

 

3. สำไส้เล็กไวต่อความรู้สึก
สำหรับบางคน สำไส้เล็กอาจจะมีความไวต่อความรู้สึกในการเคลื่อนไหวมากเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้คนคนนั้นเกิดความรู้สึกปวดหรือเจ็บท้องมากกว่าคนอื่น ๆ เมื่อลำไส้ทำงานหรือยืดตัวเพื่อให้อาหารเคลื่อนที่ และความเจ็บปวดนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเร็วในการเคลื่อนที่ การย่อย เป็นต้น

 

4. ปัญหาจากการสื่อสารระหว่างสมองกับลำไส้
ในบางครั้งสมองและสำไส้อาจมีการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด และมันสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเร็วในการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็กหรือของเสียในลำไส้ใหญ่ จนเกิดอาการท้องผูกก็เป็นได้

ภาพ : Shutterstock

 

หากมีอาการท้องผูกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว เราสามารถแก้ได้ด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ เช่น ดื่มน้ำให้มากขึ้น ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ แต่หากอาการท้องผูกเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยาบางประเภท มีอาการลำไส้ทำงานแปรปรวน หรือมีอาการป่วยบางอย่าง ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้รับประทานยาระบายหรือให้ยาเหน็บทวารตามแต่ความเหมาะสม

 

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow