Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

น้ำแข็งแห้งคืออะไร

Posted By Atiphat | 25 เม.ย. 61
60,029 Views

  Favorite

พูดถึงน้ำแข็ง ก็คงจะนึกถึงน้ำแข็งที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันใช่ไหมครับทุกคน แต่ว่าวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับน้ำแข็งอีกแบบที่เรียกว่าน้ำแข็งแห้งซึ่งก็มีให้พบเห็นในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ  ถ้าพร้อมกันแล้วไปกันเลยครับ

 

น้ำแข็งแห้งคืออะไร

จริง ๆ แล้วน้ำแข็งแห้งไม่ใช่น้ำครับ แต่เป็นก๊าซ อะงงล่ะสิ ความจริงมันก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ครับ แต่เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกทำให้อยู่ในสถานะของแข็ง ซึ่งจะไม่ละลายเมื่อถูกความร้อนแต่จะเกิดการระเหิด หรือเปลี่ยนจากสถานะของแข็งไปเป็นก๊าซโดยตรงได้เลย เราจึงเห็นควันของมันอยู่เสมอนั่นไงครับ

ภาพ : Shutterstock

คุณสมบัติของน้ำแข็งแห้ง

องค์ประกอบ:
คาร์บอนและออกซิเจน โดยใน 1 โมเลกุล ประกอบไปด้วย คาร์บอน (C) 1 อะตอม สร้างพันธะกับออกซิเจน (O) 2 อะตอม)

คุณสมบัติทั่วไป:
เป็นก้อนแข็ง ๆ สีขาว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ติดไฟ เมื่อละลายน้ำแล้วจะทำให้ค่า pH ของสารละลายลดลง และเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) แต่มันก็จะละลายน้ำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยกเว้นแต่ว่าจะมีตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาครับ

อุณหภูมิ:
โดยทั่วไปคาร์บอนไดออกไซด์จะแข็งตัวเป็นน้ำแข็งแห้งได้นั้นจะต้องเย็นราว ๆ -78oC ก็เพียงพอครับ

โครงสร้าง:
น้ำแข็งแห้งก้อนหนึ่งประกอบไปด้วย CO2 หลายโมเลกุลมาเกาะกันเป็นโครงร่าง แต่ละโมเลกุลมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลแบบลอนดอน O=C=O ก็จะเกาะต่อ ๆ กันไปเป็นโครงสร้างชั้น ๆ นั่นเอง 

 

แล้วควันสีขาว ๆ ของน้ำแข็งแห้งคืออะไร

หากเรานำน้ำแข็งแห้งมาเจอกับน้ำ จะมีควันสีขาว ๆ ออกมา จริง ๆ แล้วควันเหล่านั้นไม่ใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะปกติแล้วก๊าซชนิดนี้ไม่มีสี เราจึงมองไม่เห็น แต่ที่เราเห็น เป็นควันจากไอของน้ำหรือความชื้นในอากาศที่ถูกก๊าซทำให้เกิดการควบแน่นนั่นเอง

 

ขั้นตอนการผลิต

1. นำ CO2 มาผ่านความดันสูง ๆ เพื่อให้เกิดเป็น CO2 เหลว
2. หลังจากเราได้ CO2 เหลวแล้ว ก็จะทำการลดความดันทำให้กลายเป็นเกล็ด จากนั้นก็จะถูกอัดด้วยแรงดันไฮดรอลิกให้เป็นก้อน เม็ด หรือแผ่น
3. เมื่ออัดเป็นรูปร่างที่ต้องการจนได้ที่แล้ว ก็จะได้น้ำแข็งแห้งที่มีความหนาแน่นถึง 1.56 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร

 

น้ำแข็งแห้งถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่ใช้รักษาความเย็นของอาหาร เช่น ไอศกรีม อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ในห้องแล็บเพื่อสกัดสารเคมี ณ จุดหลอมเหลวหรือจุดเยือกแข็งที่ต้องการ หรือทางการแพทย์ก็มีการใช้เพื่อทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์ ใช้ในการรักษาอุณหภูมิของเนื้อเยื่อหรือสิ่งส่งตรวจทางห้องแล็บ รวมถึงยาและวัคซีนต่างๆ  เป็นต้น รวม ๆแล้วมีประโยชน์มากมายที่ยังกล่าวไม่หมด เอาเป็นว่าเวลาเราจะใช้งานหรือสัมผัสแนะนำว่าให้สวมใส่ถุงมือด้วย เพราะว่า มันเย็นสุด ๆ อาจจะเป็นอันตรายต่อผิวหนังของเราได้เลยละ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Atiphat
  • 2 Followers
  • Follow