Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชนิดและสาเหตุของโรคเบาหวาน

Posted By Plookpedia | 04 เม.ย. 60
3,966 Views

  Favorite

ชนิดและสาเหตุของโรคเบาหวาน   

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกันแม้เป็นโรคเบาหวานชนิดเดียวกันก็ตาม สาเหตุเนื่องจาก การตอบสนองของร่างกายต่อปัจจัยที่มีผลกระทบในแต่ละคนไม่เท่ากัน ความรุนแรงของโรคเบาหวานไม่เหมือนกัน และระยะเวลา ที่เป็นโรคเบาหวานไม่เท่ากัน 

 

 

ชนิดของโรคเบาหวาน หากตามเกณฑ์ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association : ADA) พ.ศ. ๒๕๔๐ และองค์การอนามัยโลก จำแนกโรคเบาหวานออกเป็น ๔ ชนิด ตามสาเหตุการเกิด ดังนี้

๑. โรคเบาหวานชนิดที่ ๑ (diabetes mellitus type 1)
๒. โรคเบาหวานชนิดที่ ๒ (diabetes mellitus type 2)
๓. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (diabetes mellitus caused by specific condition)
๔. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus)

โรคเบาหวานชนิดที่ ๑ 

เป็นเบาหวานที่เกิดจากบีตาเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลายจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงขาดอินซูลินที่จะควบคุมระดับน้ำตาล การทำลายบีตาเซลล์ของตับอ่อนจำนวนมาก เป็นผลจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ สร้างภูมิที่ทำลายบีตาเซลล์ของตนเอง (autoimmune process) ส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ทราบสาเหตุ และพบว่ามีสายพันธุกรรมที่เป็นความเสี่ยง ของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ ทำให้เกิดโรค โดยอาจมีหรือไม่มีปัจจัยซ้ำเติมอื่นจากภายนอก ซึ่งสายพันธุกรรม ที่เป็นความเสี่ยงในแต่ละชนชาติจะไม่เหมือนกัน โรคเบาหวานชนิดที่ ๑ มักพบในเด็กและผู้ที่มีอายุน้อย มีอาการชัดเจนและรวดเร็ว เนื่องจากมีภาวะขาดอินซูลิน จึงจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเลือดเป็นกรด (diabetic ketoacidosis : DKA)

 

 

แพทย์สอบถามอาการ

 

โรคเบาหวานชนิดที่ ๒ 

เป็นเบาหวานที่เกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน โดยมีทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยจากภายนอก ทั้งนี้สายพันธุกรรมที่เป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ แตกต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ โดยมีปัจจัยซ้ำเติมอื่นจากภายนอก เป็นส่วนประกอบสำคัญ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ คือ ภาวะดื้ออินซูลิน และมีความผิดปกติในการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน ในระยะแรก ตับอ่อนต้องผลิต และหลั่งอินซูลินมากขึ้น เพื่อเอาชนะภาวะดื้ออินซูลิน หากไม่มีการแก้ไข ในระยะยาว สมรรถภาพของตับอ่อนจะเริ่มลดลงจนเกิดภาวะพร่องอินซูลิน และเป็นโรคเบาหวานในที่สุด
เมื่อเกิดโรคเบาหวานแล้ว สมรรถภาพของตับอ่อนจะลดลงเป็นลำดับตามระยะเวลาที่เป็นโรค และผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ท้ายที่สุดเกิดภาวะขาดอินซูลิน การที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทำให้ตับอ่อนเสื่อมสมรรถภาพเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ที่มีภาวะพร่องอินซูลินหรือภาวะขาดอินซูลิน จึงจำเป็นต้องได้รับยาฉีดอินซูลินเสริม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับปัจจัยซ้ำเติมจากภายนอกที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ พฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง รับประทานอาหารมากเกินความต้องการ อาหารที่รับประทานไม่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม นั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ผ่อนแรงหลากหลาย และภาวะเร่งรีบ ของชีวิตคนในเมือง รวมทั้งภาวะเครียด

โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ

เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทราบรูปแบบชัดเจน และเกิดจากโรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มีธาตุเหล็กสะสมที่ตับอ่อนจำนวนมาก หรือถูกตัดตับอ่อน นอกจากสองสาเหตุดังกล่าวแล้ว ยังมีความผิดปกติ ของระบบฮอร์โมนที่ผลิตมากเกินควร เช่น ผลิตฮอร์โมนการเจริญเติบโตมากเกินไป ผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกิน เกิดจากยา หรือสารเคมี และอื่นๆ

 

แพทย์ตรวจหญิงมีครรภ์

 

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

หมายถึง โรคเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยในขณะตั้งครรภ์ มักเกิดในหญิงมีครรภ์ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ร่วมกับผลของฮอร์โมนจากรก และฮอร์โมนเพศ ที่เพิ่มสูงมากขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ระดับน้ำตาลในเลือดกลับเป็นปกติหลังคลอดบุตร ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคตสูงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี โรคเบาหวานชนิดที่ ๒ เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อยมากที่สุดในคนทั่วโลก ชาวตะวันตกที่เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ ๙๐ เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ สำหรับคนไทยที่เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ ๙๕ เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow