Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คันต้องเกา

Posted By Plook Creator | 13 ก.ค. 60
9,200 Views

  Favorite

คุณกำลังหอบของพะรุงพะรังเข้าไปในลิฟต์ที่มีคนอัดแน่น ในตอนที่ลิฟต์ค่อย ๆ เคลื่อนตัวจากชั้นใต้ดินไปยังชั้น 30 ซึ่งเป็นที่ทำงานของคุณอย่างช้า ๆ คุณเริ่มมีอาการยุบยิบที่หลังคอ  มือไม่ว่าง และคนก็เบียด จะวางของก่อนก็ไม่ได้ หันซ้าย หันขวา หาคนช่วยก็ไม่รู้จัก และคงไม่ทำพฤติกรรมเหมือนหมีใหญ่ในป่าที่เอาตัวไปถูไถกับต้นไม้หรือขอนไม้ เพื่อช่วยบรรเทา อาการยุบยิบที่ว่าคือ อาการคัน (Itchy)

 

อาการคันเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกที่รับรู้ได้จากประสาทสัมผัส ซึ่งเซลล์รับความรู้สึกบริเวณผิวหนังของเรารับรู้ได้ เซลล์ประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังของเราสามารถรับรู้ความรู้สึกได้หลากหลาย ร้อนและเย็น แรงกดและสั่นสะเทือน และความเจ็บปวด เป็นต้น และแม้ว่านักวิทยาศาสตร์เองจะยังไม่เข้าใจการทำงานและการกระตุ้นของเซลล์ประสาทที่ส่งสัญญาณให้เกิดอาการคันและการเกามากนัก แต่เรารู้ว่ามันมีปัจจัยบางกลุ่มที่ส่งผลโดยตรงต่ออาการคัน

ภาพ : Shutterstock

 

อาการคันเกิดที่ผิวหนังทั่วร่างกาย อาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคลและบริเวณต่าง ๆ ของผิวหนัง แต่ละส่วนของร่างกายมีเซลล์ประสาทและความไวต่ออาการคันต่างกัน เวลาและอุณหภูมิก็ส่งผลต่ออาการคัน การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ทำให้อัตราการเกิดอาการคันมีมากกว่า แต่สาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการคันมีหลายกลุ่ม มันอาจจะเป็นอาการสืบเนื่องจากอาการแพ้รูปแบบต่าง ๆ หรืออาจจะเป็นเพราะความแห้งบริเวณผิวหนัง หรืออาจจะเป็นกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาท หรืออาจจะไม่มีสาเหตุ เช่น เมื่อพูดถึงอาการคันก็อาจจะรู้สึกคันจนอยากเกาไปด้วยแล้วก็ได้

 

ตัวอย่างของอาการคันจนต้องเกาซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักคือ อาการคันบริเวณที่ยุงกัด การศึกษาพบว่าเรารู้สึกคันเนื่องจากน้ำลายของยุงซึ่งทิ้งเอาไว้บริเวณผิวหนังเมื่อมันดูดเลือดของเราเสร็จแล้ว น้ำลายของมันมีสารประกอบที่เรียกว่า Anticoagulant ซึ่งช่วยให้เลือดไม่แข็งตัวแล้วมาอุดรูที่มันเจาะเอาไว้ ทำให้มันสามารถดูดเลือดของเราได้สักพักหนึ่ง สารตัวนี้กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้มันกระตุ้นให้มีการปล่อย Histamine ออกมาและทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว เพิ่มการหมุนเวียนของเลือด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายเข้ามาทำงานในบริเวณที่ถูกกัดได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ Histamine ยังกระตุ้นความรู้สึกคันจนต้องเกาด้วย

 

แม้ว่าเราจะรู้จักและเข้าใจการทำงานของอาการคันที่เกิดจากยุงในที่สุด แต่การส่งสัญญาณประสาทเกี่ยวกับอาการคันนั้นยังไม่แน่ชัด นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาอาการคันที่เกิดขึ้นกับหนูทดลอง พวกเขาพบว่าเซลล์ประสาทที่ส่งสัญญาณอาการคันนั้นเป็นส่วนย่อยของเซลล์ประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวด สัญญาณถูกส่งผ่านโครงข่ายประสาทบริเวณไขสันหลังไปยังสมอง ทำให้เกิดความรู้สึกคันและอยากเกา การเกาเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง การเกาทำให้เกิดความรู้สึกใหม่แทนที่ คือ เจ็บ แสบ  ทำให้ร่างกายเรามีความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นและไม่คันอีกต่อไป

 

การบรรเทาอาการคันสามารถทำได้โดยการกระตุ้นให้เกิดการเจ็บปวดอย่างเบา ขณะที่การเกาหนัก ๆ ก็ทำให้เกิดแผลสดได้เช่นกัน แต่ความรู้สึกที่ได้รับ คือความรู้สึกดี ความพึงใจที่ได้รับการปลดปล่อย บรรเทาความรู้สึกคันให้ลดลงได้ด้วยความเจ็บปวด การตบหรือตีเบา ๆ บริเวณที่คันจึงเป็นการช่วยบรรเทาอาการคันได้เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการเกาเมื่อรู้สึกคันทำให้หายคันได้ เพราะไปขัดขวางไม่ให้เซลล์ประสาทส่งความรู้สึกคันไปยังสมอง แต่ให้ผลเฉพาะตอนที่คันอยู่เท่านั้น ในบางกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิต  ซึ่งคิดและเชื่อว่ามีแมลงขนาดเล็กอย่างเหลือบ ริ้น ไร ตอมไต่ผิวหนังร่างกายอยู่ตลอดเวลา (Delusory Parasitosis) และทำให้เกิดอาการคันและจำเป็นต้องเกา เกาอย่างไม่สิ้นสุด เกาจนเลือดตกยางออก

 

แล้วเราจำเป็นต้องคันจริงหรือ ถ้ามันไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายเราจริง ๆ เพราะหากคุณเกาแล้วทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ แม้จะเบาบาง เราจะทำร้ายตัวเองทำไมหากการเกาและอาการคันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเราวิวัฒนาการการรับรู้และประสาทสัมผัสเรื่องการถูกสัมผัสและการบาดเจ็บขึ้นมา เพื่อให้รู้ตัวและตอบรับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญจากปัจจัยแวดล้อมรอบตัว อาการคันนี้อาจจะเป็นการป้องกันตัวจากสิ่งที่กำลังบุกรุกร่างกายของเราผ่านผิวหนังหรือจุดที่บอบบางบางส่วน หากคุณไม่รู้สึกคันหรือไม่เกาบริเวณที่กำลังถูกแมลงกัด คุณก็ไม่ได้ปัดมันออกไปให้พ้นตัว และสุดท้ายก็อาจจะเกิดการบาดเจ็บมากกว่าการเกาอย่างรุนแรง และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่เราไม่รู้สึกคันภายในร่างกาย

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow